ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท.- แม้ว่ารัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาจะกระจายและขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกระบบ แต่คนกลุ่มใหญ่บางส่วนต้องการพัฒนาและเรียนรู้เพิ่มเติม รวมไปถึงการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้แก่สังคมก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น สถานศึกษา กศน. ตำบล ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจึงเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามีมาบทบาทในส่วนนี้
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้ดำเนินโครงการการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เน้นวิทยาศาสตร์ (แหล่งเรียนรู้ราคาถูกร่วมกับ กศน.) เพื่อกระตุ้น พัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนไทยตระหนักและเห็นคุณค่าของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
นอกจากนั้นยังมุ่งเพิ่มพูนทักษะและเปิดโลกทัศน์ของผู้เรียน สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ นอกชั้นเรียน รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนนำประสบการณ์จากการศึกษาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและจากสถานที่จริงนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และการเรียนในรายวิชาต่าง ๆ ขั้นสูง
โครงการนี้จะนำร่องพัฒนาแหล่งเรียนรู้ร่วมกับ กศน. ตำบล จำนวน 4 แหล่งเรียนรู้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช สุโขทัยและฉะเชิงเทรา ได้แก่ กศน. ต.ไสหร้า อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช, กศน. ต.ตาโกตาพิ อ. ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์, กศน. ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และ กศน. ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย
ก่อนหน้านี้ สสวท. ได้เดินทางไปศึกษาและสำรวจแหล่งเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่นกับโรงเรียน และล่าสุดได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการครูในสังกัด กศน. ระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ตามโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 – 18 ส.ค.54 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอแยลเบ็ญจา สุขุมวิทซอย 5 กรุงเทพฯ
กิจกรรมการอบรมประกอบด้วย การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สู่การสร้างอาชีพในชุมชน กิจกรรมออกแบบเทคโนโลยี และอบรมการซ่อมสร้างประกอบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมุ่งให้คุณครูที่ได้เข้ารับการอบรมนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลต่ออย่างเป็นรูปธรรม มีการเลือกใช้สื่อการสอนที่หาได้ง่ายในชุมชน มีเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนและชุมชน เป็นต้น และเป็นที่น่ายินดีว่า คุณครูต่างก็ได้ตั้งใจเก็บเกี่ยวเนื้อหาจากการอบรมเพื่อนำไปใช้ที่ศูนย์ กศน. ของตนเอง
นายอัครพงษ์ มะเรืองศรี ศูนย์ กศน.อำเภอประโคนชัย จ. บุรีรัมย์ กล่าวว่า ปัญหาที่พบในการสอนวิทยาศาสตร์เกิดจากการขาดสื่อและอุปกรณ์ในการสอน เทคนิคเนื้อหาวิธีการที่ได้จากการอบรม สามารถนำไปประยุกต์และบูรณาการในการเรียนการสอนได้เยอะ ต่อไปจะนำไปเสนอโครงการจัดอบรมให้แก่ครู นักศึกษา และผู้สนใจ ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์
เช่นเดียวกับ นางวิราญา พรหมหนองเลา จากศูนย์ กศน.อำเภอประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเล่าว่า ศูนย์ ฯ ยังขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งความรู้เฉพาะด้านของครู กศน. ครูหนึ่งคน ต้องรับผิดชอบทุกสาระวิชา ดังนั้น ครู กศน. จึงต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมหรือศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การอบรมครั้งนี้สามารถนำไปแก้ปัญหาพื้นฐานในการสอนได้เป็นอย่างดี ทุกกิจกรรมเป็นการให้ความรู้ควบคู่กับการนำไปใช้ได้จริง กลับไปจะวางแผนไปใช้ในการเรียนการสอนในตำบลของตัวเอง อำเภอ และจังหวัด
นายนิพันธ์ ยอดนิล ศูนย์ กศน. อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เล่าว่า ที่ศูนย์ของตนนั้นสื่อและวัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อผู้เรียน สื่อไม่ทันสมัย การอบรมครั้งนี้เน้นการปฏิบัติมากกว่าบรรยาย มีการฝึกทำงานเป็นกลุ่ม ทำให้มีส่วนร่วมทุกคน ได้ความรู้ในเรื่องของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สื่อที่หลากหลายและน่าสนใจ และสามารถนำความรู้ไปใช้ต่อ อนาคตอยากให้ สสวท. ส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สนับสนุนสื่อ อุปกรณ์การสอน และงบประมาณในการจัดกิจกรรม
นายธรรมรัตน์ นาควรรณ ศูนย์ กศน. อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช บอกว่า ประทับใจที่ได้รับการถ่ายทอดจากวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยจะนำความรู้กลับไปจัดทำแผนการเรียนรู้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้อยากให้ สสวท. ช่วยสนับสนุนสื่อ อุปกรณ์ และงบประมาณสำหรับจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ กศน. ตำบล เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี
นางพัชรพร ชัยวรรณ์ ศูนย์ กศน. อ.เมือง จ.สุโขทัย เล่าว่า ประทับใจวิทยากรและพี่เลี้ยง ที่ถ่ายทอดได้ชัดเจน มีความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับวิชาที่ครู กศน. ตำบลได้เห็นจุดเด่นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เหมาะสมกับชุมชนจริงๆ และอยากให้ สสวท. จัดอบรมพัฒนาครู กศน. แบบนี้อีก เพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนของ กศน. ตำบลนำร่อง
“ในการอบรมครั้งนี้ได้ทั้งกระบวนการคิด การทดลอง การปฏิบัติ นำไปขยายผลต่อผู้เรียนตามความเหมาะสมของชุมชน ที่ผ่านมานั้นครูยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และขาดสื่อการเรียนการสอน หลังจากได้รับการฝึกอบรมครั้งนี้ทำให้ครูมีแนวทางในการจัดหาสื่อและทำสื่อการเรียนการสอนที่หาได้จากชุมชน โดยจะนำความรู้ที่ได้ไปจัดการเรียนการสอนใน กศน. ตำบลและจะขยายผลให้แก่คณะครูท่านอื่นๆ ทางด้านเทคนิคและรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน”
ภายหลังจากการอบรมเสร็จสิ้นแล้ว สสวท. ได้มอบสื่อวัสดุอุปกรณ์สำหรับนำไปใช้ภายในศูนย์ หลังจากนั้นจะมีการประสานเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของศูนย์ กศน. ตำบลนำร่องทั้ง 4 แห่งต่อไป