“ดูปองท์” เปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกในอาเซียนที่ตึกจามจุรีสแควร์ ให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความคิดและแก้โจทย์ลูกค้าด้วยวิทยาศาสตร์ จัดแสดงนวัตกรรมล้ำๆ อาทิ ฟิล์มเพื่อความแข็งแรงของกระจกและ พอลิเมอร์ผลิตท่อส่งน้ำมันทดแทนท่อเหล็ก พร้อมโชว์ระบบสื่อสารแบบเรียลไทม์กับแล็บอินเดียเสนองานวิจัยตัดต่อพันธุกรรมยีสต์เพิ่มโอเมก้า-3 ให้ปลาแซลมอน
บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดศูนย์นวัตกรรมดูปองท์ประเทศไทย (DuPont Thailand Innovation Center) ณ ชั้น 12 อาคารจัตุรัสจามจุรี โดย น.สพ.สมชาย เลาห์วีระพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) กล่าวระหว่างแถลงข่าวเปิดเผยศูนย์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ส.ค.54 ว่า ศูนย์ดังกล่าวไม่ใช่ศูนย์แสดงสินค้าแต่เป็นศูนย์กลางสำหรับพบปะและแลกเปลี่ยนมุมมองกับลูกค้าและพันธมิตร ซึ่งไม่เปิดให้เข้าชมได้ทั่วไปและต้องนัดหมายเพื่อเข้าชม
ทั้งนี้ ดูปองท์เปิดศูนย์นวัตกรรมดังกล่าวขึ้นเป็นแห่งแรในระดับภูมิภาคเอเชีย และเป็นแห่งที่ 3 ในระดับเอเชียแปซิฟิก โดย 2 แห่งแรกเปิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย.54ที่เกาหลีใต้และไต้หวัน โดยศูนย์นวัตกรรมที่เกาหลีใต้มุ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ และศูนย์นวัตกรรมที่ไต้หวันมุ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสื่อสาร ส่วนศูนย์นวัตกรรมที่เมืองไทย น.สพ.สมชายกล่าวว่า มุ่งตอบโจทย์ใน 3 อุตสาหกรรมคือ เกษตร อาหารและพลังงาน
ทางด้าน น.ส.สุนทรี ธาราธิคุณ ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมดูปองท์ประเทศไทย แนะนำนวัตกรรมที่จัดแสดงภายในแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ หนึ่งในจำนวนนั้นคือฟิล์มลามิเนต ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กระจก โดยใช้แทรกกลางระหว่างกระจก 2 แผ่น เพื่อช่วยป้องกันการแตกกระจายเมื่อได้รับแรงกระแทก แต่จะยึดกระจกให้ล้มพร้อมกันไปทั้งแผ่น ทำให้ไม่เป็นอันตรายหรือกลายเป็นเศษกระจกทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ และยังฟิล์มภาพลงบนฟิล์มดังกล่าวได้ ซึ่งภายในศูนย์ได้สาธิตให้เห็นด้วยการพิมพ์ภาพอุทยาน แกรนด์ แคนยอน (Grand Canyon) สหรัฐฯ ลงบนแผ่นฟิล์ม และจำลองสะพานชมทิวทัศน์จากกระจกที่ติดฟิล์มดังกล่าว
ภายในศูนย์นวัตกรรมยังได้นำเสนอนวัตกรรมของดูปองท์อื่นๆ อีก อาทิ ท่อพอลิเมอร์ที่ใช้แทนท่อเหล็กในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและการส่งน้ำมัน ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดในการขนส่งและติดตั้ง เนื่องจากการขนส่งท่อเหล็กสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันนั้นต้องตัดท่อให้มีขนาดพอดีกับรถบรรทุก และต้องเชื่อมรอยต่อระหว่างท่อซึ่งหลังจากนั้นต้องตรวจสอบรอยแตกร้าวระหว่างรอยเชื่อมด้วยรังสีเอกซ์ด้วย
นอกจากนี้เมื่อใช้ไปนาน 10-20 ปีแล้วท่อเหล็กสำหรับส่งน้ำมันจะสึกกร่อน แต่สำหรับท่อพอลิเมอร์จะใช้วิธีขดระหว่างขนส่ง ซึ่งช่วยลดจำนวนรอยต่อลงได้ และในการเชื่อมต่อท่อพอมิเมอร์จะจ่ายกระแสไฟฟ้าแก่ขดลวดทองแดงระหว่างรอยต่อเพื่อให้เกิดความร้อนและทำให้พอลิเมอร์ระหว่างรอยต่อละลายแล้วประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งท่อส่งน้ำมันจากพอลิเมอร์นี้มีใช้แล้วที่แคนาดาและตะวันออกกลาง
พร้อมกันนี้ดูปองท์ยังได้สาธิตการเชื่อมต่อการประชุมทางไกลระหว่างศูนย์นวัตกรรมกับศูนย์องค์ความรู้ดูปองท์ (DuPont) ในเมืองไฮเดอราบาด อินเดีย โดยนักวิจัยจากอินเดียได้ยกตัวอย่างงานวิจัยพัฒนายีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณกรดไขมันโอเมกา-3 ในปลาแซลมอนเลี้ยง ซึ่งปกติต้องใช้ไขมันปลาจากปลาธรรมชาติสายพันธุ์อื่นๆ อาทิ ปลาแฮร์ริ่ง ปลาแอนโชวี ปลาคาเปลิน เป็นต้น เลี้ยงปลาแซลมอนเพื่อให้ผลิตไขมันโอเมกา-3 โดยใช้ปลาสายพันธุ์มากถึง 3-4 กิโลกรัมเพื่อให้ได้น้ำมันเพียงพอสำหรับเลี้ยงปลาแซลมอน 1 กิโลกรัม แต่เมื่อเลี้ยงด้วยยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวช่วยลดการใช้ปลาชนิดอื่น เหลือ 1 กิโลกรัมต่อการเลี้ยงแซลมอน 1 กิโลกรัม