xs
xsm
sm
md
lg

หยุดขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย ปกป้องชีวิตคนไทยตายผ่อนส่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การสั่งห้ามนำเข้าพืชผักผลไม้จากไทยของกลุ่มประเทศยุโรปและอื่นๆ เพราะสารพิษตกค้างเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน แต่รัฐบาลไทยที่ชูนโยบาย “ครัวของโลก” กลับมิได้ตระหนักถึงภยันตรายที่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายกรมวิชาการเกษตรกำลังจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายก่อมะเร็งรุนแรงโดยไม่โปร่งใส ทั้งที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกห้ามใช้แล้ว

กระแสข่าวการสั่งห้ามนำเข้าพืชผักผลไม้จากไทยเพราะสารเคมีตกค้างเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงปีที่ผ่านมาที่กลุ่มประเทศอียู สั่งห้ามนำเข้ากระทั่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างมาก แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสารเคมีเกษตรโดยตรงโดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการเร่งรัดขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 3 ชนิดที่มีสารก่อมะเร็งรุนแรงโดยไม่ผ่านกระบวนการ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการอนุญาต

เวลานี้ ขั้นตอนการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนหรืออนุญาตให้นำสารเคมีอันตรายมาใช้ได้เดินมาถึงขึ้นตอนสุดท้ายคือ การประเมินผลขั้นสุดท้ายแล้ว ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดได้ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการหยุดยั้งการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายมาเป็นระยะๆ โดยล่าสุดได้ยื่นหนังสือต่อนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 เพื่อขอให้ระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีฯ ดังกล่าว

จับตาสถานการณ์อันตราย

ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งรับผิดชอบการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกำลังจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรงอย่างน้อย 3 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส และเมโทมิล (ส่วนอีพีเอ็นยังไม่พบรายงานการขอขึ้นทะเบียน) ซึ่งทั้งหมดเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงและหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้ โดยขณะนี้ได้ผ่านพิจารณาแล้ว 2 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 การทดลองเบื้องต้น เพื่อทราบประสิทธิภาพ ข้อมูลพิษเฉียบพลันและพิษตกค้าง ซึ่งเป็นการใช้เอกสารรับรองจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน (GLP) ของโออีซีดี (OECD)

ขั้นตอนที่ 2 การทดลองใช้ชั่วคราว เพื่อให้ทราบข้อมูลพิษระยะปานกลาง พิษเรื้อรังที่เกี่ยวกับการทำให้ตัวอ่อนผิดปกติ ผลต่อการสืบพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม พิษต่อระบบประสาท การทำให้เกิดเนื้องอกและมะเร็ง (ถ้ามี) และพิษตกค้าง

ถึงเวลานี้เหลือเพียงการพิจารณาขั้นสุดท้าย คือ ขั้นตอนที่ 3 การประเมินผลขั้นสุดท้าย เพื่อรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย โดยคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร มีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธานอนุกรรมการ พร้อมกับอนุกรรมการอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกประมาณ 20 คน และหัวหน้าฝ่ายวัตถุมีพิษ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

ขณะนี้บริษัทสารเคมีได้ยื่นขึ้นทะเบียนเมโทมิลแล้ว 16 รายการ คาร์โบฟูราน 9 รายการ และไดโครโตฟอส 5 รายการ โดยบริษัทที่ยื่นขอสารเคมีร้ายแรงดังกล่าวได้แก่ บริษัทเอฟเอ็มซี ดูปองท์ ฮุยกวง และบริษัทลัดดา เป็นต้น

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ตั้งข้อกังขาว่า ขั้นตอนการดำเนินการและพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปโดยไม่โปร่งใสและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน และไม่เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่เมื่อปี 2552 ที่กำหนดให้ ‘การมีส่วนร่วมของประชาชน’ เป็นหลักการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายทุกประเภท และเสนอให้กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยขั้นตอนการขึ้นทะเบียน และข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบก่อน

ความร้ายแรงของสารเคมี 4 ชนิด

สารเคมี 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น จัดเป็นสารพิษร้ายแรงระดับ 1 เอ และ 1 บี จากการจัดชั้นขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ โดยจากการประมวลข้อมูลการศึกษาของเครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีทางการเกษตร พบว่า

คาร์โบฟูราน ทำให้เกิดอาการอาเจียน เสียการทรงตัว มองไม่ชัด เป็นสารก่อมะเร็งรุนแรง เซลล์ตับแบ่งตัวผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดเนื้องอก กลายพันธุ์ อสุจิตาย ทำลายเอนไซม์ที่เยื่อหุ้มสมอง

เมโทมิล ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชัก เป็นพิษต่อหัวใจ ฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำลายท่อในลูกอัณฑะ ทำลายดีเอ็นเอ ทำให้โครโมโซมผิดปกติ เป็นพิษต่อม้าม

ไดโครโตฟอส เป็นพิษต่อยีน ชักนำให้กลายพันธุ์ เกิดเนื้องอก ก่อมะเร็ง พิษต่อไต พิษเรื้อรังต่อระบบประสาท ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง เจ็บเหมือนเข็มแทง มือเท้าอ่อนล้า

อีพีเอ็น ทำให้ท้องเสีย แน่นหน้าอก มองไม่ชัด สูญเสียการทรงตัว ไอ ปอดบวม หยุดการหายใจ ทำลายระบบประสาท ไขสันหลังผิดปกติ น้ำหนักสมองลดลง

ตัวอย่างพืชผลที่เสี่ยงปนเปื้อนสารเคมีอันตราย

คาร์โบฟูราน (ตัวอย่างชื่อการค้า ฟูราดาน, คูราแทร์, ค็อกโคได 3 จี, เลมอน 3 จี) ใช้ในพืชหลายประเภท เช่น ข้าว แตงโม ข้าวโพด มะพร้าว ถั่วเหลือง ถั่วฝักยาว แตงกวา กาแฟ ส้ม ฯลฯ เพื่อกำจัดแมลงในวงกว้าง ทั้งหนอนกอ หนอนเมลงวัน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ฯลฯ

เมโทมิล (ตัวอย่างชื่อการค้า แลนเนท, นูดริน, มีโทเม็กซ์, ซาดิสต์, ทนโท่) ใช้กำจัดแมลงหลายประเภท เช่น แมลงปากกัด ปากดูด เพลี้ย และหนอนชนิดต่างๆ มักใช้ในพืชจำพวกส้มเขียวหวาน องุ่น ลำไย สตอเบอร์รี่ กะหล่ำปลี หัวหอม มะเขือเทศ ฯลฯ

ไดโครโตฟอส (ตัวอย่างชื่อการค้า กระเจ๊า 330, ไมโครเวฟ 24, ไบดริน, คาร์ไบครอน) กำจัดแมลงประเภทปากดูด เจาะ หรือกัด ใช้ในพืชผักผลไม้ เช่น ข้าว กาแฟ ถั่วฝักยาว ผักกาดหัว อ้อย คะน้า ส้ม ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ฯลฯ

อีพีเอ็น (อีพีเอ็น, คูมิฟอส) มักใช้เป็นหัวยาและผสมกับสารเคมีเกษตรชนิดอื่นๆ ใช้ในการเพาะปลูก เช่น ข้าว ข้าวโพด พืชตระกูลแตง ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อกำจัดแมลงหลายชนิด เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกอข้าว แมลงดำหนาม ฯลฯ

เปิดช่องผ่อนผันนำเข้ามหาศาล

จากสถิติเมื่อปี 2553 กรมวิชาการเกษตร ได้อนุญาตให้บริษัทสารเคมีนำเข้าสารพิษดังกล่าวจำนวนมหาศาลเกือบ 7 ล้านกิโลกรัม โดยแบ่งเป็นคาร์โบฟูรานถึง 5.3 ล้านกิโลกรัม เมโทมิล 1.5 ล้านกิโลกรัม ไดโครโตฟอส 3.7 แสนกิโลกรัม และอีพีเอ็นอีก 1.4 แสนกิโลกรัม

สารพิษร้ายแรงดังกล่าว ยังคงมีการนำเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก เพราะในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-มีนาคม) มีการนำเข้าคาร์โบฟูรานแล้วถึง 1,981,800 กิโลกรัม เมโทมิล 514,342 กิโลกรัม ไดโครโตฟอส 59,182 กิโลกรัม และอีพีเอ็น 96,000 กิโลกรัม ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะมีการผ่อนผันโดยกรมวิชาการเกษตรให้บริษัทสารเคมีการเกษตรที่นำเข้าก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาสามารถจัดจำหน่ายต่อไปได้อีก 2 ปี หรืออาจเป็นเพราะบริษัทที่นำเข้าสารพิษดังกล่าวได้รับข้อมูลภายในว่ากรมวิชาการเกษตรกำลังจะอนุมัติให้มีการขึ้นทะเบียนสารพิษทั้ง 4 ชนิดในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

ประเทศที่ห้ามใช้แล้ว

สารเคมีทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวถูกห้ามใช้แล้วทั้งในประเทศอุตสาหกรรม และประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น

คาร์โบฟูราน ห้ามใช้แล้วในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา

เมโทมิล ห้ามใช้แล้วในสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฟินแลนด์ ตุรกี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย (ยกเลิกบางสูตร)

ไดโครโตฟอส ห้ามใช้แล้วในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ มาเลเซีย

อีพีเอ็น ห้ามใช้แล้วในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดียสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม พม่า

ข้อเรียกร้องของเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภค

การแก้ปัญหาสารเคมีการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมต้องจัดการที่ต้นน้ำ คือ การห้ามนำเข้าและไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และต้องมีมาตรการที่เข้มงวดให้ธุรกิจสารเคมีการเกษตรดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อประชาชน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1) ยุติการนำเข้าและการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างน้อย 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันที

2) ให้กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลเอกสารข้อมูลการยื่นขอทะเบียน ข้อมูลและผลการทดลองที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพ การเกิดพิษทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลตกค้าง และอื่นๆ และให้เปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา รวมทั้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานต่อสาธารณชน

3) ให้มีการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายของบริษัทสารเคมีการเกษตรอย่างเข้มงวด โดยคณะกรรมการที่มีตัวแทนของเครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายวิชาการเฝ้าระวังสารเคมีการเกษตร และองค์กรผู้บริโภคมีส่วนร่วม

ประเด็นการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย ซึ่งอยู่ในความสนใจของสังคมค่อนข้างน้อยทั้งที่มีผลกระทบมหาศาล เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่ากระทรวงเกษตรฯ ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของพรรคร่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะพิจารณาเรื่องนี้เช่นใด
กำลังโหลดความคิดเห็น