“อ๋อม-อรรคพันธ์” โชว์ทดลองทำ “ยาสีฟันช้าง” กลางงานมหกรรมวิทย์ 54 แสดงไฮไลท์การทดลองฉลองปีเคมีสากล ส่วนสาวสวย “ ญาญ่า” โชว์เอาตัวเข้าไปอยู่ในฟองสบู่ยักษ์ พร้อมการทดลองเชิงแสงเอาเลนส์ยักษ์ขยายร่าง “เก้า-จิรายุ” และอวด “ฮอสปิ” หุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการจากญี่ปุ่น
เปิดให้เข้าชมแล้ว “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2554” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์” ระหว่างวันที่ 6-21 ส.ค.54 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยวันแรกมีผู้เข้าร่วมงานอย่างล้นหลามกว่า 50,000 คน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมติดตามบรรยากาศและกิจกรรมภายในงานด้วย
ในส่วนของกิจกรรมเวทีกลาง อรรคพันธ์ นะมาตร์ หรือ “อ๋อม” หนึ่งในพรีเซนเตอร์การจัดงานประจำปี 2554 ไดแสดงการทดลอง “ยาสีฟันช้าง” ท่ามกลางความสนใจจากเยาวชนจำนวนมาก โดยการทดลองดังกล่าวต้องเติมสารเคมีบางอย่างลงในสารละลายที่จัดเตรียมไว้ ซึ่ง จิรายุ ละอองมณี หรือ “เก้า” อีกพรีเซนเตอร์ของงานอาสานำสารเคมีดังกล่าวมาให้
หากแต่เก้าได้อาศัยแรงจาก “ฮอสปิ” (Hospi) หุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุจากญี่ปุ่นนำสารเคมีดังกล่าวมาให้ โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีของ “นีโด-เอเชีย” (NEDO-ASIA) หน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ซึ่งออกแบบให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ส่งยา บรรจุยา หรือสิ่งของไปยังสถานที่ต่างๆ ในโรงพยาบาล และสามารถโปรแกรมข้อมูลกับเส้นทางได้ อีกทั้งยังมีความสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้
เมื่อได้สารเคมีจากเก้าแล้ว อ๋อมได้เทสารเคมีดังกล่าวลงไปในสารละลายของเหลวที่เตรียมไว้ ทันใดนั้นก็เกิดฟองขยายตัวออกมาอย่างรวดเร็วจนล้นภาชนะบรรจุ ซึ่ง ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในฐานะเจ้าภาพจัดงานได้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นปฏิกิริยาเคมี โดยสารละลายของเหลวนั้นเป็นส่วนผสมของน้ำยาล้างจานและ “ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์” และสารเคมีที่อ๋อมเติมลงไปคือ “โพแทสเซียมไอโอไดด์” ซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวดันออกมาเหมือนการบีบยาสีฟัน จึงตั้งชื่อดังกล่าว แต่ไม่ได้สามารถใช้จริงได้
หลังจากนั้นเก้าและอ๋อมได้ทดลองเล่นกับเลนส์ขนาดใหญ่ที่กลางเวที ซึ่งในบางระยะที่ทั้งสองยืนห่างจากเลนส์จะเห็นทั้งคู่ในภาพหัวกลับ เมื่อขยับเข้าไปใกล้จะเห็นตัวขยายใหญ่ขึ้น ซึ่ง ดร.พิชัย อธิบายว่าเลนส์ดังกล่าวคือ “เลนส์ขยาย” ซึ่งใช้งานในประภาคารเพื่อช่วยขยายแสงไฟสำหรับส่งสัญญาณไปกลางทะเล จึงไม่ต้องใช้หลอดไฟขนาดใหญ่
ส่วนสาวสวย อุรัสยา เสเปอร์บันด์ หรือ “ญาญ่า” ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์งานอีกคน โชว์ทดลองเอาตัวเข้าไปอยู่ในฟองขนาดยักษ์ ซึ่ง ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อธิบายว่า การทดลองดังกล่าวเหมือนการทดลองเล่นฟองที่เราเล่นกันตามปกติ แต่เมื่อเติม “กลีเซอรีน” ลงในสารละลายที่ใช้เล่นฟองจะทำให้เราได้ขนาดฟองที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากสารละลายดังกล่าวช่วยลดแรงตึงผิวของฟอง
หลังเข้าชมภาพยนตร์ 4 มิติ เรื่อง “Climate! Change the World” ที่บอกเล่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเนื่องจากการใช้พลังงานฟอสซิลแล้ว ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี กลาวกับสื่อมวลชนสั้นๆ ว่า “ปีนี้ทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา” พร้อมทั้งเชิญให้มาร่วมงานซึ่งมีนิทรรศการของ 100 หน่วยงานใน 7 กระทรวงเข้าร่วม และในปีนี้จากได้รับความร่วมมือจาก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐฯ ร่วมจัดนิทรรศการด้วย
สำหรับนิทรรศการหลักภายในงาน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ซึ่งสร้างภูเขาน้ำแข็งเสมือนให้ได้สัมผัสประสบการณ์ พร้อมภาพยนตร์ 4 มิติ ได้ให้ได้สัมผัสทั้งอากาศหนาวเหน็บ ละอองน้ำเย็นฉ่ำ การเคลื่อนไหวไปพร้อมกับภาพยนตร์และภาพที่ให้ความรู้สึกเสมือนจริง มหัศจรรย์เคมี ที่จำลองเมืองเคมีมากให้ทดลอง พร้อมนิทรรศการที่อธิบายปฏิกิริยาเคมีที่อยู่ในชีวิตประจำวันทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยาและที่อยู่อาศัย
นิทรรศการป่าไม้เพื่อฉลองปีป่าไม้สากล ซึ่งจำลองป่าต่างๆ ทั้งป่าดิบเขตร้อน ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าพรุ ป่าชายเลน ป่าชายหาด พร้อมทั้งสัตว์และต้นไม้หายาก นิทรรศการบริหารจัดการขยะ ที่แสดงประติมากรรมชิ้นใหญ่จากขยะกายเป็น “พี่ไดโน” ที่ยืนต้อนรับหน้าบูธ และยังพาย้อนเวลาเพื่อเรียนรู้วัฏจักรผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นผลิตจนถึงสิ้นสุดการใช้งาน เช่น ผลิตกระดาษ 1 แผ่น ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง เป็นต้น
นิทรรศการเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ซึ่งนำเสนอองค์ความรู้เรื่องพลังงาน และการเข้าถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงาน อีนเป็นที่มาของพลังงานทางเลือก และมีกิจกรรมคัดเลือกผู้กู้วิกฤตพลังงานในโรงงาน Energy Factory รวมทั้งสัมผัสประสบการณ์ใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น ลงมือประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ
รู้จักน้ำหลากหลายมุมมองในนิทรรศการน้ำคุณค่าแห่งชีวิต ซึ่งให้ทุกคนได้สนุกกับการเล่นน้ำเพื่อเรียนรู้คุณสมบัติและพฤติกรรมของน้ำ ตลอดจนวิกฤตน้ำและต้นทุนการผลิตน้ำที่เสนอผ่านม่านน้ำขนาดใหญ่ รวมถึงนิทรรศการเพื่อความเข้าใจผู้พิการและเข้าถึงความเท่าเทียมในนิทรรศการเทคโนโลยีเพื่อผู้สุงอายุและผู้พิการ ที่นำเสนอนิทรรศการเพื่อผู้พิการทั้งจากในและต่างประเทศ
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 6-21 ส.ค.54 เวลา 09.00-20.00 น. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา (ยกเว้นวันที่ 9 ส.ค.) โดยการเดินทางตลอดทั้งงานมีรถรับส่งฟรีจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อ่อนนุช ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. และในวันที่ 12 ส.ค.เป็นต้น สามารถเดินทางเข้าร่วมงานโดยลงรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีบางนา สอบถามเส้นทางเพิ่มเติม ติดต่อ ไบเทค โทร.0-2749-3939 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ องค์การพิพิธวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร.0-2577-9960 หรือ www.nsm.or.th