xs
xsm
sm
md
lg

อยู่อย่างไร? ถ้าขยับได้แค่ “กลอกตา” ไปมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุปกรณ์ครอบศีรษะที่ติดตั้งอุปกรณ์วัดสัญญาณไฟฟ้าอ่อนจากสมองและเส้นประสาทตา
ลำพังแค่แขนขาหักก็สร้างความลำบากในการเคลื่อนไหวร่างกายมากแล้ว และหากวันหนึ่งเราไม่สามารถขยับร่างกายส่วนใดได้เลย นอกจากกลอกกลิ้งดวงตาไป-มา เสรีภาพในการใช้ชีวิตคงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ และถ้า “สตีเฟน ฮอว์กิง” ไม่มีรถเข็นอำนวยความสะดวก เราคงไม่อาจดึงความสามารถทางด้านฟิสิกส์ของเขาออกมาได้

แม้ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีอาจไม่ได้เสี้ยวรถเข็นของ “สตีเฟน ฮอว์กิง” (Stephen Hawking) แต่ความพยายามในการพัฒนาระบบบังคับรถเข็นไฟฟ้าด้วยสมองหรือ “เบรน-คอนโทรล วีลแชร์” (Brain-Control Wheelchair) ของทีมนักศึกษาจากห้องปฏิบัติการการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิศวกรรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นก้าวเล็กๆ ที่จะช่วยปลดปล่อยเสรีภาพให้แก่ผู้พิการได้

นายยรรยงศ์ พันสวัสดิ์ นักศึกษาปริญญาเอกวิศวกรรมชีวการแพทย์มหิดล หนึ่งในสมาชิกทีมผู้พัฒนาระบบบังคับรถเข็นไฟฟ้าอธิบายให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ กล่าวว่า พวกเขาพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้พิการที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนขา หรือพิการตั้งแต่ช่วงคอลงไป โดยยึดหลักสำคัญคือ ผู้พิการต้องใช้งานได้ง่ายและระบบต้องมีความปลอดภัยต่อผู้พิการ

ทั้งนี้ ทีมวิจัยของยรรยงศ์ได้พัฒนาระบบที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับรถเข็นไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์เสริมในแบบ “ปลั๊กอิน” (Plug-in) โดยมีอุปกรณ์สำหรับครอบศีรษะที่วัดสัญญาณไฟฟ้าอ่อนๆ จาก 2 ส่วน คือ สัญญาณจากสมอง ซึ่งจะวัดความต่างศักย์ระดับต่ำ (ในหน่วยไมโครโวลต์) ที่เกิดจากการสื่อสารระหว่างเซลล์ในสมอง และสัญญาณจากเส้นประสาทตา โดยการควบคุมระบบจากสัญญาณเส้นประสาทตาจะมากกว่าการควบคุมจากสัญญาณสมอง

สัญญาณที่วัดได้จะส่งไปยังระบบประมวลผลที่แปรผลไปสู่การเคลื่อนที่ของรถเข็นไฟฟ้า โดยหากมีการใช้ความคิดระดับหนึ่งจะทำให้รถเข็นไฟฟ้าเคลื่อนไปข้างหน้า แต่หากกลอกตาซ้าย-ขวา รถจะหันไปตามทิศทางของดวงตา และนอกจากระบบที่ผู้พิการบังคับเองแล้ว ยังมีระบบที่ควบคุมโดยผู้ดูแลผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งทีมวิจัยได้ติดตั้งกล้องที่ส่งสัญญาณตามเวลาจริงกลับไปให้ผู้ควบคุมทราบว่ารถเข็นดังกล่าวเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด

เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้พิการทีมวิจัยจากมหิดลได้ติดตั้งเซนเซอร์อัลตราโซนิก 4 จุดรอบ คือ บริเวณที่เท้าของรถเข็นแขนด้านซ้ายและขวา และบริเวณที่รองเท้า ซึ่งติดเซนเซอร์สำหรับวัดระยะจากพื้นด้านล่างและเซนเซอร์สำหรับวัดระยะสิ่งกีดขวางด้านหน้า หากรถเข็นเคลื่อนไปเจอสิ่งกีดขวาง จะหยุดนิ่ง และหากเคลื่อนไปหลุมหรือบันไดก็จะหยุด แล้วถอยหลัง

ผลงานดังกล่าวได้รับการพัฒนาเป็นเวลาปีกว่าและได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 9 ผลงานของนักศึกษาที่เข้าร่วมประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการของนักศึกษา (Student Design Challenge: SDC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายในการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 5 (The fifth International Convention for Rehabilitation Engineering & Assistive Technology: i-CREATe 2011) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค.54 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ

สำหรับการจัดงาน i-CREATe 2011 นั้น ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงศ์ ประธานคณะกรรมการจัดงานดังกล่าวระบุว่า จัดการประชุมนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยเริ่มต้นจัดครั้งแรกที่สิงคโปร์เมื่อปี 2550 และไทยได้สลับจัดงานประชุมนี้ในปี 2551 แล้วกลับไปจัดที่สิงคโปร์อีกครั้งในปี 2552 และเมื่อปีที่ผ่านมาได้จัดขึ้นที่นครเซียงไฮ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินร่วมงานทุกครั้ง และทรงสนพระทัยสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนพิการของนักศึกษา ด้วยทรงงานด้านคนพิการมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

“ตอนนี้มีเด็กพิการไม่มีแขนขาอยู่ในพระราชูปถัมภ์ 4 ราย โดยรายแรกเป็นเด็กผู้หญิงซึ่งได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีเด็กชายที่ไม่มีแขนขา ซึ่งอยู่ในพระราชูปถัมภ์ด้วยเช่นกัน ต้องขอบอกว่าอุปกรณ์เพื่อคนพิการนั้นแพงมาก อย่างขาเทียมดีๆ ราคาข้างละล้าน ราคาพอๆ กับเอารถยนต์มาใส่ไว้ที่ขา ซึ่งโจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้อุปกรณ์เพื่อคนพิการนั้นขายได้และขายได้ในราคาที่ถูกลง” ศ.ดร.ไพรัชกล่าว

ทางด้าน ศ.ดร.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ในฐานะผู้พิการทางสายตากล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีว่า ต้องออกแบบมาให้ทุกคนใช้ได้ ซึ่งรวมถึงคนพิการด้วย เช่น โทรศัพท์มือถือบางรุ่นที่ออกแบบมาให้คนตาบอดสามารถใช้งานได้ด้วยโปรแกรมที่บอกการทำงานด้วยเสียง หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่ใส่ซอฟต์แวร์ออกเสียงช่วยให้คนพิการทางสายตาเข้าถึงข้อมูลได้ แต่สำหรับคนหูหนวกยังมีปัญหาอยู่มากเนื่องจากขาดแคลนล่ามภาษามือ

“ค่าใช้จ่ายสำหรับล่ามภาษามืออยู่ที่ชั่วโมงละ 600 บาท หากคนหูหนวกไปโรงพยาบาลต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงมาก แต่หากคนหูหนวกพกแทบเล็ต (Tablet) ที่เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงศูนย์บริการล่ามทางไกล ก็จะใช้ล่ามช่วยสื่อสารกับแพทย์แค่ 10 นาที ต่อไปคนหูหนวกจะติดต่อกับคนอื่นได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ เราจะเปิดศูนย์บริการล่ามทางไกลอย่างเป็นทางการวันที่ 22 ก.ค. ภายในงาน i-CREATe 2011” ศ.ดร.วิริยะเผย
ทีมพัฒนาระบบสำหรับสั่งการรถเข็นไฟฟ้าด้วยสมอง (ซ้ายไปขวา) นายเจษฎา อานิล, นายยรรยงค์ พันสวัสดิ์ , นายสิทธิชัย เอี่ยมเพชร และ นายคุณาวัฒน์ ล่วงรัตน์ (บนรถเข็น)
กำลังโหลดความคิดเห็น