xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องน่ายินดีหลังไทยเป็นเจ้าภาพ “ฟิสิกส์โอลิมปิก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกภาคทฤษฎี
ต้องขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยในการแข่งขัน “ฟิสิกส์โอลิมปิก” ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งล่าสุด ซึ่งนอกจากจะกวาดเหรียญกันมาได้ทุกคน 3 เหรียญทอง 1 เหรียญ และ 1 เหรียญทองแดงแล้ว ชุดทดลองในการสอบภาคปฏิบัติยังได้รับความสนใจจากหลายประเทศและจำหน่ายไปได้กว่า 150 ชุด

ปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 42 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-17 ก.ค.54 ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) ในพระอุปถัมป์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กระทรวงศึกษาธิการ, คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์และสมาคมฟิสิกส์ไทย

ผลการแข่งขันนั้นเยาวชนไทยทั้ง 5 คนซึ่งเป็นผู้แทนประเทศไทยในครั้งนี้สามารถคว้า 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง โดย นายธิปก รักอำนวยกิจ ซึ่งจบชั้น ม.ปลายจากโรงเรียนสาธิตศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน หนึ่งในผู้แทนไทยที่คว้าเหรียญทองมาได้ สามารถทำคะแนนเป็นอันดับ 2 คือ 48.24 คะแนน จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน โดยห่างจากผู้แทนจากไต้หวันที่ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 1 ของการแข่งขันครั้งนี้เพียง 0.56 คะแนน

การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการที่ไทยเป็นเจ้าภาพนี้มีผู้แทนเข้าแข่งขันทั้งหมด 396 คน จาก 84 ประเทศ ซึ่งเดิมกำหนดมอบเหรียญทอง 8% ของผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด และหลังจากตรวจคะแนนแล้วคณะกรรมการปรับจำนวนเหรียญทองเป็นกว่า 13% ทั้งนี้ มีผู้ได้รับเหรียญทองทั้งหมด 54 คน เหรียญเงิน 68 คน และเหรียญทองแดง 93 คน ซึ่งไต้หวันเป็นประเทศที่ทำคะแนนรวมได้เป็นอันดับ 1 โดยผู้แทนจากไต้หวันทำคะแนนได้ในอันดับ 1 และ 3-7 ส่วนคะแนนบุคคลอันดับ 2 ตกเป็นของไทยและจีน

ธิปก ผู้มีประสบการณ์แข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกทั้งระดับเอเชียและระหว่างประเทศไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าแม้ไทยจะเป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ได้เปรียบผู้แข่งขันคนอื่นมากนัก โดยมีข้อได้เปรียบตรงไม่ค่อยกดดันตัวเองมากนักและอาจคุ้นเคยกับแนวข้อสอบไทยมากกว่าเท่านั้น และจากประสบการณ์ที่ได้ลงสนามแข่งขันในหลายประเทศ พบว่าแนวข้อสอบไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

สำหรับการคัดตัวผู้แทนเข้าแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกของไทยนั้นใช้เวลาเตรียมการประมาณ 2 ปี โดยผู้แข่งขันต้องผ่านการเข้าค่ายของ ศูนย์ สอวน.ในแต่ละภูมิภาค ก่อนจะสอบแข่งขันระดับประเทศเพื่อคัดตัวแทน 25 คน แล้วคัดเลือกผู้แทนไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกเอเชีย ซึ่งผู้ที่ทำคะแนนได้สูงสุด 5 อันดับจะได้เป็นผู้แทนในการแข่งขันระหว่างประเทศ และเข้าค่ายเตรียมพร้อม 6 สัปดาห์

ในมุมของ ดร.ปิยพงษ์ สิทธิคง อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรับหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้นำทีมฟิสิกส์โอลิมปิกมาตั้งแต่ปี 2540 กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีพัฒนาในการแข่งขันที่ดี จากเดิมที่ไม่ได้เหรียญใดๆ เลย มาถึงวันนี้ไทยเหรียญทองทุกปี อย่างปีที่ผ่านมาผู้แทนไทยสามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันระหว่างประเทศได้ทุกคน

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และประธานคณะกรรมการการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งนี้ กล่าวถึงการเตรียมแข่งขันว่า ไทยในฐานะเจ้าภาพมีหน้าที่ในการออกข้อสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยภาคทฤษฎีแบ่งเป็น 3 ข้อ ใช้เวลาในการสอบ 5 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติอีก 2 ข้อ ใช้เวลาในการแข่งขัน 5 ชั่วโมงเช่นกัน ทั้งนี้ ก่อนข้อสอบจะไปถึงผู้แข่งขันต้องมีการอภิปราย โดยมีอาจารย์ผู้นำทีมในแต่ละประเทศร่วมถกถึงความเหมาะสมของข้อสอบ

“สำหรับภาคทฤษฎีนั้น เราเริ่มอภิปรายกันเมื่อเวลา 15.00 น.ของวันจันทร์ที่ 11 ก.ค.54 แล้วสิ้นสุดที่เวลา 02.00 ของอีกวัน จากนั้นอาจารย์ผู้นำทีมต้องนำข้อสอบไปแปลเป็นภาษาที่แต่ละประเทศใช้ ส่วนข้อสอบภาคปฏิบัตินั้นไปเร็วกว่าที่คิด หลายประเทศชอบและแทบไม่โต้เถียง โดยข้อสอบในภาคนี้เป็นเรื่องตัวเก็บประจุ และการแกว่งของลูกตุ้ม ซึ่งหลังจากแข่งขันแล้วหลายๆ ประเทศยังติดต่อขอซื้อชุดการทดลองนั้นกลับไปด้วย” ดร.ถิรพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ดร.วุทธิพันธุ์ ปรัชญพฤทธิ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ ซึ่งดูแลการออกข้อสอบและการตรวจสอบในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกครั้งนี้ กล่าวถึงหลักการในการออกข้อสอบโอลิมปิกวิชาการว่า การทำข้อสอบไม่ควรยากหรือง่ายเกินไป ทั้งนี้ คณะกรรมการมีหลักสูตรนานาชาติเพื่อใช้อ้างอิงในการออกข้อสอบ และให้คนที่มีความสามารถทางฟิสิกส์ทดลองทำข้อสอบดังกล่าว โดยไทยมีคณะกรรมการออกข้อสอบโอลิมปิก 5-6 คน ซึ่งเป็นอดีตผู้แทนโอลิมปิกรุ่นก่อนที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ

ส่วนการออกข้อสอบปฏิบัตินั้นจะเน้นการออกแบบชุดทดลองที่ผู้เข้าแข่งขันไม่เคยทดลองมาก่อน และผลิตด้วยเงินไม่มาก เพราะประเทศเราไม่ได้รวยมาก โดยชุดการทดลองหนึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1,000-2,000 บาท ไม่หมือนสิงคโปร์ที่ผลิตชุดการทดลองแพงๆ มาใช้ในการแข่งขันได้ และผู้เข้าแข่งขันต้องมีชุดทดลองคนละชุด เพื่อตัดปัญหาคนที่ใช้งานก่อนทำพัง” ดร.วุทธิพันธุ์กล่าว

หลังจากออกข้อสอบและร่วมอภิปรายปรับแก้ข้อสอบแล้ว คณะกรรมการจะให้ข้อสอบแก่อาจารย์ผู้นำทีมเพื่อแปลเป็นภาษาที่แต่ละประเทศใช้ โดยไทยออกข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นภาษารัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศสและสเปน ซี่งแต่ละประเทศสามารถเลือกต้นฉบับแต่ละภาษาไปแปลได้ตามความถนัด และต้องแปลให้ทันเวลาสอบในวันรุ่งขึ้นหลังจากอภิปรายแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการไม่สงสัยว่าการแปลข้อสอบจะมีการตุกติก ซึ่ง ดร.วุทธิพันธุ์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะวิชาฟิสิกส์นั้นเต็มไปด้วยสมการ ซึ่งเขียนเหมือนกันหมดทั่วโลก และในการตรวจข้อสอบจะมีทีมตรวจประมาณ 100 คน ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการตรวจว่าแต่ละขั้นตอนนั้นต้องมีสมการหรือคำตอบใดบ้าง และแต่ละขั้นอาจแก้ปัญหาได้หลายแบบ ซึ่งในเฉลยของผู้ตรวจจะระบุไว้ หลังจากตรวจแล้วจะส่งให้อาจารย์ผู้นำทีมตรวจอีกรอบ ซึ่งอาจมีข้อโต้แย้งในการเพิ่มหรือลดคะแนนให้แก่ผู้แข่งขันได้

ดร.วุทธิพันธุ์ยังกล่าวถึงชุดการทดลองในภาคปฏิบัติว่า ได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ ที่เข้าแข่งขันอย่างมากเพราะเป็นชุดการทดลองที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มาเก๊าขอซื้อกลับไป 20 ชุด ญี่ปุ่นขอซื้อกลับไป 14 ชุด ซึ่งรวมแล้วจำหน่ายชุดการทดลองที่ใช้ในการสอบแข่งขันครั้งนี้ 155 ชุด และได้แจกให้เป็นที่ระลึกแก่ประเทศต่างๆ รวม 84 ชุด

พร้อมกันนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้พบปะเยาวชนตัวแทนการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกจากออสเตรเลีย 5 คน ระหว่างการเลี้ยงรับรอง ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต สถานทูตออสเตรเลีย หลังการแข่งขันเสร็จสิ้น ซึ่งตัวแทนเยาวชนจากออสเตรเลียคว้ารางวัลไปได้ 1 เหรียญเงินและ 3 เหรียญทองแดง พวกเขาบอกว่าใช้เวลาเตรียมพร้อมในการแข่งขันครั้งนี้ 3 สัปดาห์ โดยกว่าจะได้เป็นตัวแทนนั้นมีการชัดเลือกอยู่หลายขั้นตอน เริ่มจากการแข่งขันระดับประเทศ แล้วเข้าแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย จากนั้นคัด 5 คนที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นตัวแทนในการแข่งขันระหว่างประเทศ

จัสติน ชุง (Justin Cheung) ตัวแทนผู้แข่งขันจากโรงเรียนซิดนีย์ แกรมมาร์สคูล (Sydney Grammar School) เมืองซิดนีย์ กล่าวว่า ใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟิสิกส์ ทั้งนี้เขาชอบฟิสิกส์เพราะความสงสัยใคร่รู้ โดยเมื่อปีที่ผ่านมาเขาได้รู้จักฟิสิกส์จากการอ่านเลคเชอร์ของเฟย์แมนน์ (Feynman) และกลายเป็นแรงบันดาลใจแก่เขาในเรื่องนี้ โดยเขาตั้งใจเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์

คล้ายกับเอมิลิโอ เพซ (Thomas Pearson) ตัวแทนผู้แข่งขันจากโรงเรียนเซนต์ปีเตอร์คอลเลจ (St Peter's College) ในเมืองอะดิเลด ที่บอกว่าตั้งใจจะทำงานด้านฟิสิกส์ โดยปรัชญาของคาร์ล ซาแกน (Carl Sagan) และ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ทำให้เขาเริ่มสนใจฟิสิกส์ และฟิสิกส์เป็นหลักเกณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ได้กับหลายสาขา

ส่วน เคธี เควล (Katie Quail) สาวน้อยหนึ่งเดียวในทีมผู้แทนฟิสิกส์โอลิมปิกออสเตรเลียจากโรงเรียนโรสวิลล์คอลเลจ (Roseville College) เมืองซิดนีย์ บอกว่าชอบฟิสิกส์เพราะประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ขณะที่ โทมัส เพียร์สัน (Thomas Pearson) จากโรงเรียนเบิร์กแมนแองลิแคนสคูล (Burgman Anglican School) เมืองแคนเบอร์รา บอกว่าฟิสิกส์เป็นวิชาที่มีคำตอบชัดเจน

สุดท้ายคือ จินชาง ลิว (Jinghang Luo) จากโรงเรียน เจมส์ รุส อะกรีคัลเจอรัล ไฮสคูล (James Ruse Agricultural High School) เมืองซิดนีย์ บอกว่าสนใจฟิสิกส์เพราะหนังสือ “ประวัติย่อของกาลเวลา” (A Brief History of Time) ของสตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking)

ทั้งนี้ สถาบันนวัตกรรมวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (Australian Science Innovations) หรือสถาบันเอเอสไอ (ASI) เป็นผู้ดำเนินการจัดการคัดเลือกผู้แทนโอลิมปิกเพื่อเข้าแข่งขันวิทยาศาสต์โอลิมปิกระหว่างประเทศ โดยผู้ได้รับเลือกจะต้องเข้าอบรมที่มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ของออสเตรเลีย และมีเจ้าหน้าที่สถาบัเอเอสไอเป็นผู้อบรมประมาณ 2 สัปดาห์
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเยี่ยมสนามแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก
การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกในภาคปฏิบัติ
ดร.ปิยพงษ์ สิทธิคง
ดร.วุทธิพันธุ์ ปรัชญพฤทธิ์
ผู้แทนฟิสิกส์โอลิมปิกประเทศไทย (ซ้ายไปขวา) นายกำพล อัครวราวงศ์, นายจิรัฏฐ์ จิระวิชิตชัย, นายธิปก รักอำนวยกิจ, นายพงศภัค สวัสดิรักษ์ และ นายภคพล ศุภนิรัติศัย
กำลังโหลดความคิดเห็น