“ในหลวง” ทรงพระราชทานชื่อรากฟันเทียม “ข้าวอร่อย” ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ปัจจุบันให้บริการผู้สูงอายุไปกว่า 10,000 ราย ราคาถูกกว่าต่างประเทศ 10 เท่า ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีทางทันกรรมขั้นสูง ชี้นวัตกรรมรากฟันเทียมอยู่ระหว่างการประสานงานกับประกันสังคมและ สปสช. เพื่อขยายผลให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มีโอกาสเบิกค่ารักษาได้ต่อไป
ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดแถลงข่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรากฟันเทียม “ข้าวอร่อย” ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 54 ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้มาร่วมงานนี้ด้วย
ทั้งนี้ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กระทรวงได้ขอพระราชทานชื่อรากฟันเทียมที่ใช้ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ พระองค์ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรากฟันเทียมว่า “ข้าวอร่อย” เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 54 ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่มีปัญหาในการใส่ฟันปลอม
“หลังจากได้รับการฝังรากฟันเทียมแล้ว ผู้สูงอายุเหล่านั้นสามารถรับประทานและเคี้ยวอาหารได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น เป็นไปตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตรัสว่า ’เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง’ จึงทำให้พสกนิกรได้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และปัจจุบันสามารถให้บริการผู้สูงอายุไปกว่า 10,000 รายแล้ว โดยใช้งบประมาณไม่ถึง 200 ล้านบาท” ดร.วีระชัยกล่าว
ด้าน ผศ.นพ.วิจิตร ธรานนท์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีทางทันกรรมขั้นสูงหรือแอ็ดเทคกล่าวว่า เทคโนโลยีรากฟันเทียมนั้นเกิดจากการวิจัยและพัฒนา โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง และคณะทันตแพทย์จาก 3 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่การออกแบบรูปร่างของรากฟันเทียม จนกระทั้งไปทำการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์และมนุษย์
“เมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตตามมาตรฐานสากล ทาง สวทช.จึงได้ต่อยอดนำรากฟันเทียมไทยมาใช้ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 หลังจากนั้นได้ส่งมอบให้ สธ. จำนวน 25,000 ชุด เพื่อจัดหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาใส่รากฟันเทียมให้แก่ผู้สูงอายุในโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับทางประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อผลักดันให้เทคโนโลยีดังกล่าวได้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ให้มีโอกาสเบิกค่ารักษาได้ต่อไป” ผศ.นพ.วิจิตร กล่าว
นอกจากนี้ ผศ.นพ.วิจิตร ยังบอกอีกว่า เทคโนโลยีรากฟันเทียมของไทยนั้นถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 10 เท่า และเทคโนโลยีดังกล่าวได้ต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์แล้ว และหากผู้สูงอายุรายใดใส่ฟันปลอมทั้งปาก และมีปัญหาเรื่องฟันปลอมหลวม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยติดต่อศูนย์เทคโนโลยีทางทันกรรมขั้นสูง สวทช. โทร 02-564-7000 ต่อ 1683,1396 หรือ โทร 0-2564 - 8000