ในหลวงพระราชทานชื่อ "ข้าวอร่อย" ให้แก่รากฟันเทียมในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ผลงานวิจัยร่วม สวทช.กับคณะทันตแพทยศาสตร์ 3 มหาวิทยาลัย ราคาถูกกว่าสินค้านำเข้า 10 เท่าตัว ประสานก.สาธารณสุขแจกฟรีผู้สูงอายุด้อยโอกาส ที่สวมฟันปลอมทั้งปากและมีปัญหาฟันปลอมหลวม
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรากฟันเทียมที่ใช้ในโครงการ "รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550"
ตามที่ วท.ยื่นขอพระราชทานไว้ว่า "ข้าวอร่อย" โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้สูงอายุด้อยโอกาส ที่ใส่ฟันปลอมมาแล้วทั้งปาก แต่มีปัญหาเรื่องฟันปลอมหลวม โดยหลังจากที่ได้รับการฝังรากฟันเทียมแล้วผู้สูงอายุเหล่านั้น จะสามารถรับประทานและเคี้ยวอาหารได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายและใจที่ดีไปด้วย ตามพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า "เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง" ทำให้พสกนิกรได้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยปัจจุบันสามารถให้บริการผู้สูงอายุไปแล้วกว่า 1 หมื่นรายทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ 3 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและออกแบบรากฟันเทียม พร้อมทั้งประสานความร่วมมือจากสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ สำหรับให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการระหว่างปี 2550-2554
ผศ.นพ.วิจิตร ธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง กล่าวว่า รากฟันเทียมหรือข้าวอร่อย ได้รับการวิจัยและพัฒนามากว่า 10 ปี พร้อมทั้งทดสอบด้านความแข็งแรง ทนต่อการบดเคี้ยว ความปลอดภัยตลอดจนการทดสอบในสัตว์และมนุษย์ กระทั่งได้เป็นเทคโนโลยีการผลิตรากฟันเทียม ที่พร้อมถ่ายทอดให้ภาคเอกชนนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์ โดยภาคเอกชนที่รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์ผลิตรากฟันเทียมส่งมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว 25,000 ชุด รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อบุคคลประมาณ 1.2 แสนต่อราย หากเป็นของนำเข้าจะมีราคาสูงเป็น 10 เท่าทีเดียว ขณะนี้ทางโครงการรากฟันเทียมดังกล่าว อยู่ระหว่างประสานสำนักงานประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อผลักดันเข้าสู่บริการทางทันตกรรมที่สามารถเบิกค่ารักษาได้ ขยายโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีรากฟันเทียมฝีมือคนไทยสู่กลุ่มผู้ใช้แรงงาน
ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุรายใดที่สวมฟันปลอมทั้งปาก และมีปัญหาเรื่องฟันปลอมหลวม ติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการรากฟันเทียมฯได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง สวทช. โทร.02-564-7000 ต่อ 1638 และ 1396 หรือคอลเซ็นเตอร์ 02-564-8000