สปสช.ทดลองนำร่องให้บริการทำฟันในคลินิกเอกชนใน จ.สมุทรปราการ จ.นครราชสีมา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กทม. ภายใต้เงื่อนไขราคาสมเหตุสมผล ประชาชนให้การตอบรับดี เล็งเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์
ดร.ทันตแพทย์วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สาขาเขตพื้นที่สงขลา กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชากรทั้งประเทศมีไม่ถึง 10% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ปัยจัยหนึ่งเกิดจากผู้เข้ารับบริการต้องเข้าคิวเพื่อรอรับบริการนาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นกัน
ดร.ทันตแพทย์วิรัตน์กล่าวต่อว่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะชอบความสะดวกรวดเร็ว ดังนั้น สปสช.จึงริเริ่มนำร่องดึงคลินิกเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงร่วมกันโดยจ่ายเงินให้คลินิกแบบสมเหตุสมผล ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมีการนำร่องที่ใน จ.สมุทรปราการ จ.นครราชสีมา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และกรุงเทพฯ ซึ่งการบริหารจัดการมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่มีเสียงตอบรับดี ขณะนี้ สปสช.จึงพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการของแต่ละแห่งเพื่อเปรียบเทียบกัน
ดร.ทันตแพทย์วิรัตน์ ยกตัวอย่างที่ รพ.หาดใหญ่ มีการพัฒนาระบบบริหารการอุดฟัน เคลือบหลุมฟัน โดยการจ่ายคูปองให้เด็กที่มีรายการชื่อในสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะนำคูปองให้มารดานำไปแสดงเพื่อใช้บริการที่คลินิกเอกชนที่ร่วมให้บริการโดยไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ให้คลินิกนำคูปองไปเรียกเก็บเงินกับทางโรงพยาบาลในภายหลังอีกทอดหนึ่ง
“ส่วนที่ จ.สมุทรปราการ มีการจัดบริการฟันปลอมฐานพลาสติก โดยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการที่คลินิกเอกชนได้ โดยมีการเจราจาต่อรองให้การบริการกับเอกชนมีราคาสมเหตุผลงบประมาณคุมค่ารายจ่าย เป็นต้น” ดร.ทันตแพทย์วิรัตน์อธิบาย
ดร.ทันตแพทย์วิรัตน์บอกอีกว่า สำหรับงบบริการทันตกรรมในปี 2554 มีจำนวน 39.25 บาทต่อประชากร แบ่งงบเป็น 2 ส่วน คือ 1.วงเงิน 2.25 บาทต่อประชากรราว 47 ล้านคน สามารถใช้ในด้านการบริการทันตกรรมที่มุ่งเน้นการทำฟันปลอมในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 2.งบที่เหลืออีก 36 บาท ใช้เพื่อการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในประชากร 63 ล้านคน เน้นการเปิดโอกาสให้เด็กวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้บริการเคลือบหลุมร่องฟัน อุดฟัน ถอนฟัน เพื่อป้องกันปัญหาฟันผุ
“สำหรับกองทุนทันตกรรมนั้นแบ่งการให้บริการเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน และบริการทันตกรรมฟันประดิษฐ์ ซึ่งกองทุนทันตกรรมแยกออกมาจากกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ถือว่าเป็นกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ช่วยป้องกันโรคในระยะยาวสำหรับหญิงมีครรภ์ และเด็กอายุ 12 ปี ลดภาระในการให้บริการตั้งแต่เริ่มมีปัญหา นอกจากนี้จะมีการขยายจำนวนคลินิกการให้บริการมากขึ้น 9 แห่ง สนับสนุนงบประมาณคณะทันตแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อร่วมจัดบริการ ขณะที่การอุดฟันถอนฟันแบบปกติจะใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวผู้ป่วยนอก ทำให้ขาดแรงจูงในการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งด้านงบประมาณ และกำลังคน” ดร.ทันตแพทย์วิรัตน์กล่าว