xs
xsm
sm
md
lg

ไทยยกระดับจากผู้รับสู่ผู้ถ่ายทอดวิธีผลิตเอทานอลแก่เพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกุล  ผอ.สวทช.
ไทยรับเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกจัดโครงการต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม พม่า ยกระดับจากผู้รับเทคโนโลยีสู่ผู้ถ่ายทอด แจงเทคโนโลยีใหม่ใช้หัวมันสดแทนมันเส้น ชี้ลดขั้นตอนกระบวนการผลิตแล้ว ยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ทั้งนี้ยังถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังอีกด้วย 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)  และ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Industrial development Organization: UNIDO) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กรมวิชาการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยในพระบรมชูปถัมภ์ และองค์การสุรา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง  จัด “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากพืชมันสำปะหลังสู่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน” (Regional Closing Workshop “South-South Technology Transfer : Ethanol Production from Cassava”) เมื่อ 22 มิ.ย. 54 ณ โรงแรมสยามซิตี

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกุล ผอ.สวทช. กล่าวว่า โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากพืชมันสำปะหลังสู่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นโครงการต้นแบบที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก หรือ จีอีเอฟ (GEF) ในวงเงินจำนวน 80 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 - 2558 ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะก่อประโยชน์ในภาพรวม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว เวียดนาม พม่า และภาคเอกชนของไทยได้ร่วมพบปะเจรจา เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาและการลงทุนทางธุรกิจด้วย

ทางด้าน รศ.ดร.ธำรงรัตน์ พุ่มเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีสะอาดและการออกแบบเชิงนิเวศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. และประธานคลัสเตอร์พลังงานสะอาด สวทช. เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตเอทานอลจากพืชในประเทศไทยที่ขอใบอนุญาตมีทั้งหมด 45 โรงงาน แต่ที่เดินเครื่อง 19 โรงงาน และมีอยู่ 3 โรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังในรูปแบบมันเส้น แต่เทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดในโครงการนี้คือ การใช้เทคโนโลยีทำให้มันสำปะหลังสดเปลี่ยนเป็นเอทานอล

“เทคโนโลยีนี้ช่วยลดขั้นตอนกระบวนการผลิตจากเดิมได้ โดยใช้จุลินทรีย์เข้าไปทำให้มันสำปะหลังเปลี่ยนสภาพจากแป้งเป็นน้ำตาล จากนั้นนำมาเข้ากระบวนการผลิตเป็นเอทานอลได้เลย นอกจากนั้น ยังจะถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มผลิตให้มันสำปะหลัง โดยตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตจากเดิม 3.6 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 7 กิโลกรัมต่อไร่ โดยผมรับหน้าที่ดูว่าเทคโนโลยีทั้ง 2 ส่วนนั้นจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร ต้องคำนวณการปล่อยก๊าซทั้งวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่ การปลูก การขนส่ง การแปรรูป จนกลายมาเป็นเอทานอล เหตุที่ต้องคำนวณเพราะเราได้รับทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ดังนั้น เงินที่ได้ต่อมานั้นต้องสามารถช่วยลดโรคร้อนได้จริงด้วย” รศ.ดร.ธำรงรัตน์ กล่าว

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ได้กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีเพลี้ยแป้งระบาดอยู่เชื่อว่าไทยจะสามารถยับยั้งและสามารถจัดการได้อย่างยั่งยืนต่อไป และโครงการนี้โครงการต้นแบบที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบประเทศกำลังพัฒนาสู่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน แสดงให้เห็นว่า สวทช. มีศักยภาพทางเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าสามารถถ่ายทอดไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค จึงถือเป็นโอกาสดีที่ไทยได้ยกระดับไปสู่การเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแทนการผู้รับอย่างที่ผ่านมา รวมถึงเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีในด้านอื่นต่อไป
รศ.ดร.ธำรงรัตน์ พุ่มเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีสะอาดและการออกแบบเชิงนิเวศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.และประธานคลัสเตอร์พลังงานสะอาด สวทช.
บรรยากาศการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากพืชมันสำปะหลัง ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 22 มิ.ย. 54 ณ โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น