สผ.ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าไทยเป็น 40% ใน 9 ปี โดยแบ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ 25% และป่าเศรษฐกิจอีก 15% สอดรับแผนยุทธศาสตร์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ พร้อมเผยตัวเลขทั่วโลกสูญเสียพื้นที่ป่าไม้วันละ 350 ตารางกิโลเมตร
นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV -ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ในปี พ.ศ.2554 นี้ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประกาศให้เป็นปีสากลแห่งป่าไม้ (International Year of Forests 2011) และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพได้กำหนดให้ "ป่าไม้" เป็นหัวข้อหลัก
ทั้งนี้ ตัวเลขความเสียหายของป่าไม้จากเวทีการหารือว่าด้วยป่าไม้แห่งสหประชาชาติ (United Nations Forum on Forests: UNFF) พบว่าโลกสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 350 ตารางกิโลเมตรต่อวัน
สาเหตุหลักของการสูญเสียพื้นที่ป่ามาจากการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตร ขาดการจัดการที่ดินที่ดี ตลอดจนมีการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานของชุมชน และแม้พื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกประมาณ 12% จะได้รับการขึ้นทะเบียนให้มีสถานะคุ้มครองเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ อุทยานแห่งชาติ เขตสงวนและพื้นที่ตามกำหนดอื่นๆ เป็นต้น แต่ปัจจัยการคุกคามป่ายังคงเกิดขึ้นตลอดเวลา
นางนิศากร กล่าวว่าจากปัญหาดังกล่าวจึงได้เกิดแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำหนดเป้าหมายให้ดำเนินงานเพื่อลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั่วโลกในปี พ.ศ.2563 ขึ้นมา และนอกจากนั้น ต้องทำการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้ได้ 15% รวมถึงจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และเพิ่มขนาดความครอบคลุมของพื้นที่คุ้มครองเป็น 17% อีกด้วย
เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 192 ประเทศทั่วโลกที่ได้มีส่วนร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ นางนิศากร กล่าวว่า ทาง สผ.จึงมีแผนเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทยเป็น 40% ของพื้นที่ทั้งหมด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2563 หรือในอีก 9 ปี โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่อนุรักษ์ 25% ทั้งการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่าสงวน เป็นต้น ส่วนอีก 15% จะผลักดันให้เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจต่อไป
สำหรับการดำเนินงานนั้น นางนิศากรบอกว่า ได้วางแนวทางหลักไว้คือ ลดการคุกคามการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม ตลอดจนทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเกิดมูลค่าเพิ่ม อาทิ นำสมุนไพรที่มีอย่างหลากหลายมาทำวิจัยและนำไปใช้ได้จริงในสังคม เป็นต้น และต้องทำให้เกิดความร่วมมือทั้งระดับในและต่างประเทศ อีกทั้งต้องทำให้เกิดการสื่อสาร การศึกษาเรื่องการอนุรักษ์ จนทุกฝ่ายเกิดความตระหนักและหวงแหนความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืนนั้น นางนิศากร กล่าวว่า จะได้จากการประชุมวิชาการระหว่างวันที่ 23-24 พ.ค. 54 ณ โรงแรมมารวยการ์เด้นส์ ซึ่งมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดความเห็น และเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563