เอเยนซี - จากความรู้ในตำราสู่การลงมือปฏิบัติจริงในโครงงานวิชาเกษตร ทำให้วันนี้เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งสามารถปลูกพืชผักสวนครัวที่ให้ผลผลิตขนาดไซส์จัมโบ้ นำไปเป็นอาหารกลางวัน สร้างความภาคภูมิใจ อีกทั้งยังตระหนักถึงคุณค่าการดูแลสิ่งแวดล้อม
มะเขือลูกขนาดสองกำมือ, พริกขี้หนูเม็ดเท่านิ้วชี้ หรือ ผักคะน้าก้านใหญ่สูงเกือบเมตร เหล่านี้ไมได้เกิดจากความผิดปกติของเซลล์พืชแต่อย่างใด แต่เกิดจากการนำความรู้จากการเรียนรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทดลองทำดินผสมสำหรับปลูก เริ่มแรกพวกเขาผลิตใช้กันเองในโรงเรียน พอได้ผลผลิตขนาดยักษ์ จึงเริ่มพัฒนาสูตร ศึกษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่
มาถึงวันนี้ “ดินผสมสำหรับปลูกตราปาล์มคู่” ผลงานของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านบางใหญ่ ตำบลสาคู อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในโรงเรียนโครงการโรงเรียนเครือข่ายเชฟรอน พลังใจพลังคน ที่สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กลายเป็นดินสำหรับปลูกที่ได้รับความนิยมในละแวกนั้น
นายณัฐ ยอดแก้ว ครูผู้ดูแลรับผิดชอบกิจกรรมสิ่งแวดล้อม โรงเรียนบ้านบางใหญ่ เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนเน้นเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน เวลามีกิจกรรมก็จะเชิญชุมชนมาร่วม เมื่อก่อนชุมชนย่านนั้นเป็นชุมชนเมือง เมื่อทางโรงเรียนเริ่มทำปุ๋ยหมักชีวภาพจึงได้เชิญหัวหน้าชุมชนมาร่วม พร้อมกับระดมชาวบ้านมาด้วย มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันและร่วมกันทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมัก การปลูกผักปลอดสารพิษ การทำดินผสมสำหรับปลูก ลดการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงก็ทำจากสมุนไพรพวกสะเดา ตะไคร้
นอกจากนั้นทางโรงเรียนยังได้ช่วยรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน ผลที่เกิดตามมาหลังจากร่วมกิจกรรมกันระหว่างชุมชนและโรงเรียนนั้น ทำให้ชุมชนสะอาดขึ้น มีการเก็บขยะและคัดแยกที่ดีขึ้น ไม่ทิ้งขยะรวมกัน มีการคัดแยกก่อนทิ้ง ส่วนขยะที่รีไซเคิลได้ก็นำมามอบให้โรงเรียน
“เด็กเองก็เริ่มตื่นตัวเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีความสนใจและกลับไปแนะนำผู้ปกครองให้ทำที่บ้าน แล้วผู้ปกครองก็ขอคำแนะนำจากโรงเรียน เรื่องยาฆ่าแมลง น้ำหมักชีวภาพ ทางเราก็ให้คำปรึกษาและแนะนำเรื่องอุปกรณ์ที่กรมพัฒนาที่ดินแจกในการทำปุ๋ยหมัก ยาฆ่าแมลง ส่วนเรื่องจิตสำนึกเด็กด้านสิ่งแวดล้อมก็มีมากขึ้น จากเมื่อก่อนเราไม่ได้ทำเป็นระบบต่างคนต่างทำ หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ เราก็ตื่นตัวขึ้น ทั้งชุมชน ทั้งนักเรียนและครูก็ร่วมกันทำ” ครูณัฐกล่าว
ด.ช.นพดล หนูแดง นักเรียน ม.1 โรงเรียนบ้านบางใหญ่ เล่าถึงขั้นตอนในการทำดินผสมสำหรับปลูกพืชให้ฟังว่า วิธีทำดินผสม มีส่วนประกอบคือ ดินร่วน 3 ส่วน ขุยมะพร้าว 3 ส่วน และมูลสัตว์ 2 ส่วน โดยนำทั้ง 3 อย่างมาผสมกันในเครื่อง คลุกเคล้าให้เข้ากัน เสร็จแล้วตักใส่กระสอบประมาณ 15-16 กิโลกรัม จากนั้นนำไปเย็บปากกระสอบ โดยหนึ่งกระสอบสามารถใช้ได้ 1-2 ครั้ง หรือนำไปปลูกซ้ำได้
“ส่วนมากจะนำดินที่ได้ไปเพาะปลูกผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า พริกขี้หนู มะเขือ และถั่วฝักยาว ซึ่งดินของเราจะแตกต่างจากดินอื่น คือ สามารถปลูกในกระสอบได้เลย ส่วนดินอื่นต้องนำไปผสมก่อนปลูก ซึ่งช่วยประหยัดเวลา และดินที่ทำก็ไม่มีสารพิษปนเปื้อน อีกทั้งยังมีแร่ธาตุที่พืชต้องการ ทำให้ผลผลิตดี มีจนาดใหญ่ ซึ่งผลตอบรับในชุมชนค่อนข้างดี เพราะมีชาวบ้านมาซื้อไปใช้จำนวนมาก” ด.ช.นพดลเผย
ด.ช.นพดล เผยอีกว่า สิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมคือ ได้เรียนรู้เรื่องการเกษตร อีกทั้งดินที่ทำก็เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปุ๋ยของเราไม่ทำลายหน้าดิน ถ้าเป็นปุ๋ยแบบสารอินทรีหน้าดินจะเสีย สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนก็ดีขึ้นกว่าเดิม ที่โรงเรียนใช้ปลูกกระเพา คะน้า พริกขี้หนู และผักสวนครัวอื่นๆ ปลูกเพื่อใช้ทำเป็นอาหารกลางวัน ทำให้ประหยัด และได้กินผักที่เราปลูกเองกับมือ ภูมิใจมาก
นอกจากเด็กๆ จะได้กินผักที่ปลอดสารพิษแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นที่ทำให้เด็กกลายเป็นคนมีความรับผิดชอบ และห่วงใยสิ่งแวดล้อม อย่าง ด.ช.วินัทชนก ทองสุข เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมทำยาหม่องสมุนไพรว่า ตัวเองมีหน้าที่ทำยาดมสมุนไพรเพื่อใช้ภายในโรงเรียน และเป็นของที่ระลึกสำหรับแขกที่มาเยี่ยมโรงเรียน แล้วยังนำไปขายสร้างรายได้ให้โรงเรียนอีกด้วย
ส่วนกรรมวิธีทำยาหม่อง คือ เตรียมส่วนผสมให้ครบ ซึ่งประกอบด้วย เมนทอล พิมเสน การบูร น้ำมันยูคาลิปตัส พริกไทยดำ ลูกจัน ดอกจัน ลูกกระวานและการพูล จากนั้นนำเมนทอล พิมเสน การบูร น้ำมันยูคาลิปตัส เทลงในภาชนะที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากัน เมื่อเมนทอลละลายแล้วจึงนำส่วนผสมที่เหลือใส่ลงไป หลังจากนั้นคนคลุกเคล้าให้เข้ากัน เมื่อเสร็จแล้วตักใส่ขวดหรือภาชนะบรรจุ แล้วติดสติ๊กเกอร์ตราสินค้า เป็นอันเสร็จขั้นตอน
“ทำใช้เองสะดวกกว่า ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ และนำไปขายได้ นอกจากนั้นยังทำให้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น และยังสามารถทำเป็นอาชีพได้ ดีใจที่มีคนซื้อยาดมของพวกเราไปใช้เป็นจำนวนมาก เพราะมีกลิ่นหอมกว่ายาดมที่มีขายอยู่ในตลาด เนื่องจากมีกลิ่นของสมุนไพรมากกว่า ดีใจมากและภูมิใจมากครับ” ด.ช.วินัทชนกกล่าว
ด้านนางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวว่า ปลื้มใจที่เครือข่ายของเชฟรอนเข้มแข็ง และมีพัฒนาการเรียนรู้มากกว่าที่ผ่านมาด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยน เน้นการมีส่วนร่วม การพบปะแลกเปลี่ยนในเรื่องความสำเร็จและปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ตัวแทนหรือผู้นำชุมชนได้ร่วมแบ่งปัน ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และมีจิตสำนักด้านสิ่งแวดล้อม