xs
xsm
sm
md
lg

“เรียนเกษตร” ต่อยอดอาหารกลางวัน แบบฉบับ “ร.ร.ทุ่งสะเดาประชาสรรค์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้องวอย ด.ช.อภิชาต โพธิ์เจริญ กับผักไฮโดรโปนิกส์ที่ภาคภูมิใจ
โดย...ทิติยา เถาธรรมพิทักษ์

อาหารกลางวันสำหรับเด็กในวัยเรียน วัยกำลังเจริญเติบโต ถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยในการพัฒนาสมองและร่างกาย โดยเฉพาะผักสดๆ ที่ปลูกได้เอง ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยปราศจากสารเคมีอย่างแน่นอน
 เด็กนักเรียนร.ร.ทุ่งเดาประชาสรรค์กำลังอร่อยกับอาหารกลางวัน
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดตั้งโครงการ “1 สาขา 1 โรงเรียน 1 ทุน” ขึ้นเพื่อมอบทุนค่าอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 1,000 โรงเรียน โรงเรียนละ 10,000 บาท เพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานด้านเกษตรปลูกผักเพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน

“โรงเรียนทุ่งสะเดาประชาสรรค์” ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับทุนนี้ ซึ่งนอกจากการสอนด้านวิชาการแล้วยังมีการสอนวิชาชีพเพิ่มเติม เช่น การปลูกผัก เลี้ยงปลา เพื่อให้นักเรียนรู้จักการใช้ชีวิตแบบพอเพียง รับผิดชอบต่อหน้าที่ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัว

นางสายฝน ค่อนสอาด ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ บอกว่า การส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ด้านเกษตร ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา เริ่มต้นจะทำในชั่วโมงเรียน หลังจากนั้นก็จะเพิ่มในช่วงที่นักเรียนมีเวลาว่าง เช่น ก่อนเข้าห้องเรียน ตอนเช้า พักเที่ยง หรือหลังเลิกเรียนก็มีการจัดเวรเข้าไปดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ให้อาหารปลา และเมื่อได้รับการสนับสนุนเงินทุนก็ทำให้โครงการทำเกษตรเพื่ออาหารกลางวันมีการขยายมากขึ้น จากเดิมที่จะมีการปลูกผักบนดินแบบธรรมดาก็เพิ่มเป็นการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นการปลูกผักแบบใช้น้ำด้วย

“ตอนนี้ในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ใกล้โรงเรียนก็ยังไม่มีการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งการทำเช่นนี้นอกจากจะเพิ่มความรู้ให้แก่เด็กนักเรียนได้แล้ว ยังสามารถทำเป็นกรณีศึกษาให้ผู้ปกครองหรือประชาชนที่สนใจได้มาเรียนรู้อีกด้วย อย่างไรก็ตามถ้าทำตรงนี้ได้ผลดีก็อาจจะมีการขยายหรือเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชาวบ้านต่อไป และจากการทำเกษตรปลูกผัก เลี้ยงปลาสามารถประหยัดค่าอาหารกลางวันได้ เมื่อเหลือจากการปรุงเป็นอาหารก็นำไปขายที่ตลาดและนำเงินมาเข้าโครงการอาหารกลางวันต่อไปได้”

ขณะที่ น้องวอย-ด.ช.อภิชาต โพธิ์เจริญ นักเรียนชั้น ป.6 หนึ่งในนักเรียนผู้ดูแลโครงการฯ บอกว่า การปลูกผักเพื่อเป็นอาหารกลางวันนั้นเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักความรับผิดชอบ มีวินัย รู้จักการประหยัด และนำสิ่งที่ตนเองมีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เมื่อมีพื้นที่ว่างก็ทำให้พื้นที่นั้นเกิดประโยชน์ด้วยการปลูกผัก เลี้ยงปลาหรือถ้าไม่มีพื้นที่มากพอก็ลองหาวิธีอื่น อย่างการปลูกผักแบบใช้น้ำก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง นอกจากจะได้ผักที่ปลอดสารพิษที่เราปลูกเองกับมือแล้ว ยังได้เรียนรู้การทำการเกษตรที่หลากหลายวิธีด้วย

“การปลูกผักโดยใช้นำเป็นวิธีใหม่ที่ทดลองทำได้เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะยากแต่เมื่อลองทำก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด วิธีการก็ง่ายๆ คือถ้าไม่มีท่อพีวีซีก็เอาไม้ไผ่มาแทนก็ได้ ถ้าใช้ไม้ไผ่ก็ให้ตัดไม้ประมาณ100-120 เซนติเมตร เจาะรู 7 รู โดยแต่ละรูห่างกันประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใช้สิ่วทะลวงข้อให้ทะลุเพื่อให้เป็นทางน้ำไหลผ่าน และหลังจากนั้นก็นำมาประกอบเป็นชั้นต่อระบบน้ำไหลวน นำเมล็ดพันธุ์ที่เพาะในฟองน้ำประมาณ10วันจนมีต้นอ่อนหรือรากงอกแล้วก็ย้ายมาลงถ้วยปลูกและไปใส่ในช่องไม้ไผ่ที่เจาะไว้ ซึ่งบริเวณด้านข้างชั้นจะติดตั้งถังน้ำขนาด20 ลิตรที่เติมปุ๋ยสูตรเอและบีลงไปแล้ว ซึ่งผักที่ปลูกส่วนใหญ่จะมีผักกาดขาว ผักบุ้ง คะน้า ผักชี สำหรับการดูแลก็จะมีการแบ่งเวรกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กชั้น ป.5 กับ ป.6 ในการปลูกครั้งหนึ่งก็สามารถนำมาประกอบอาหารได้ประมาณ 2-3 มื้อ และจากตรงนี้ก็ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ มีวัตถุดิบในการนำไปประกอบอาหารให้น้องๆ เพื่อนๆ ได้ทานกันและช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง”น้องวอย กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น