ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชาวเมืองลำปางหลายชุมชน เดินตามรอยพระราชดำริฯ รวมกลุ่มสร้างเครือข่ายทำเกษตรทางเลือก-เกษตรอินทรีย์ ภายใต้หลักการพอเพียง เผย “กลุ่มผู้ป่วยแม่เมาะ” กว่า 300 ครอบครัว เริ่มทำได้ผล หลังถูกอพยพไปอยู่ที่ใหม่ รวมตัวทำแปลงผักปลอดภัยทั้งกิน-ขาย ส่วนเกษตรกรห้างฉัตรฯตั้งกลุ่มผลิตสารอินทรีย์ลดใช้ปุ๋ยเคมี
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปางแจ้งว่า ขณะนี้หลายชุมชนในลำปาง กำลังสร้างเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เดินตามรอยพระราชดำริฯ กันอย่างคึกคัก โดยนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อ.แม่เมาะจ.ลำปาง เผยกับผู้สื่อข่าวหลังจากที่มีการอพยพชาวบ้านกว่า 300 ครอบครัว มาตั้งชุมชนใหม่ที่บริเวณตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ว่า ปัจจุบันเครือข่ายฯได้จัดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น กิจกรรมตามรอยพระราชดำริฯ ซึ่งเป็นโครงการที่จะยั่งยืนในการอยู่ร่วมกันแบบเมืองสหกรรม หมายความว่าเราจะมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม มีการปันผล มีรายได้รายวันจากการทำการเกษตร มีรายได้รายเดือน/รายปี จากการเลี้ยงสัตว์
และขณะนี้เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมเพราะมีการปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง เช่น ชะอม ผักกาด ผักชี ซึ่งทุกวันชาวบ้าน ก็สามารถเก็บกินเอง โดยไม่ต้องออกไปซื้อในตลาด และยังเป็นการลดรายจ่าย หากเหลือก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับครอบครัว แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างหลังที่ย้ายบ้านมาตั้งที่บริเวณดังกล่าว เพราะปัจจุบันที่นี่มีปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอดไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลโดยด่วน
ส่วนที่บ้านห้างฉัตรใต้ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง นายบุญสม บุญณิพัน์ ข้าราชการบำนาญครู หัวหน้ากลุ่มผลิตสารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีลดปัญหามลพิษในอากาศ และปลูกผักปลอดสารพิษเปิดเผยว่า ที่บ้านเตาปูนหรือบ้านห้างฉัตรใต้ มีประชากรทั้งหมด 150 หลังคาเรือน ชึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านจะนำเอาเศษวัชพืช เช่น กิ่งไม้ใบไม้มาทำการเผาทิ้งกัน
โดยเฉพาะในช่วงหน้าฤดูแล้ง ตนเองจึงรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านทำการเผาเศษวัชพืชดังกล่าว และนำเอาแนวพระราชดำริองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ ประกอบกับทางสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดลำปางได้เข้ามาอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ในการนำเอาเศษวัชพืชต่างมาหมัก แล้วนำไปใส่ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตร ทดแทนการใช้สารเคมีที่มีราคาแพง พร้อมทั้งแนะนำการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ทดแทนการใช้ยาฆ่าแมลงในแปลงพืชผัก
โดยตนเองได้ใช้พื้นที่สวนของตัวเองที่มีจำนวนกว่า 8 ไร่ที่ปลูกพืชยืนต้นและแปลงพืชผักสวนครัวทุกชนิด จนประสบผลสำเร็จ จึงได้รวมตัวกับเกษตรกรในหมู่บ้านจัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตสารอินทรีย์นำมาใช้ทดแทนการใช้สารเคมี
เพื่อเป็นการณรงค์และช่วยกันลดมลพิษในอากาศที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์- เมษายนของทุกปีจะมีปัญหาหมอกควันไฟป่าปกคลุมพื้นที่จังหวัดลำปาง และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรตลอดจนลดปัญหาสารพิษตกค้างในพืชผักอีกด้วย
“ล่าสุดมีสมาชิกทั้งหมดที่ทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพกว่า 70 หลังคาเรือน”