วช.เผยตัวเลขหนุนการวิจัยประจำปี 2555 ระบุ 5 เรื่องเร่งด่วนยกระดับเศรษฐกิจชาต ท่องเที่ยว เกษตรเน้นข้าว มันสัมปะหลัง ยางพารา รวมทั้งการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ในไทย เน้นบริหารงบวิจัยแบบมุ่งเป้า พร้อมลุยงานเป็นเครือข่าย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งโจทย์วิจัย
ศ.นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้เปิดเผยเกี่ยวกับงบประมาณให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า ทาง วช. ได้รับเงินการจัดสรรงบ 1,500 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วถึง 1,000 ล้านบาท และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2555-2559) ซึ่งการบริหารจัดการงบประมาณในปี 2555 นั้น ทาง วช.จะจัดการบริหารให้เป็นแบบมุ่งเป้ามากขึ้น โดยจัดสรรงบจำนวน 1,000 ล้านบาท มุ่งพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ เน้น 5 ประเด็นหลักใหญ่ ได้แก่
การบริหารจัดการท่องเที่ยว ซึ่งผลการวิจัยจะสามารถกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวเพื่อส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาและการจัดการท่องเที่ยวในอนาคตได้ ทั้งการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของชาติ ทำให้การท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพทั้งทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือการท่องเที่ยวที่วางอยู่บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ข้าว การวิจัยและพัฒนาจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อาทิ เครื่องสำอางค์ อาหารเสริม และยารักษาโรค หรือ การวิจัยพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูง คุณภาพเมล็ดดี ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
มันสัมปะหลัง เพื่อพัฒนาพันธุ์มันสัมปะหลังให้มีผลผลิตสูงขึ้น มีความต้านทางโรคและแมลง หรือว่าจะเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับปลูก การกำจัดวัชพืช การลำเลียงมันสัมปะหลังจากไร่ เป็นต้น
ยางพารา การวิจัยและการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสารที่ไม่ใช่ยางในน้ำยาง ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อาทิ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือจะเป็นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางให้เป็นผลิตภัณฑ์เทียบเท่าพลาสติกชีวภาพ สามารถทดแทนการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สุดท้าย ลอจิสติกส์ สามารถทำให้การจัดการระบบการจัดการการส่งสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรอย่างอื่นจากจุดต้นทางไปยังจุดบริโภคตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และศึกษาบทบาทอุตสาหกรรมไทย เพื่อการเตรียมความพร้อมสู่โซ่อุปทานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ศ.นายแพทย์สุทธิพร กล่าวว่า การบริหารงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาทนี้ ทาง วช. ได้ทำงานร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อเชื่อมโยงระบบการทำวิจัยของชาติ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในสังคม
สำหรับงบประมาณอีก 500 ล้านบาท นั้น เลขาธิการ วช.ระบุนำไปจัดทำกรอบวิจัย 10 เรื่องเร่งด่วน อาทิ การประยุกต์ใช้เศรฐกิจพอเพียง,ภาวะโลกร้อนและพลังงานทางเลือก, การจัดการทรัพยากรน้ำ ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ และการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ การเสนอเข้าของบประมาณการวิจัยใน ปี 2555 นั้น ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยหรือประชาชนมีสิทธิ์ที่จะมาเสนอหัวข้อวิจัยผ่านทางเครือข่ายวิจัยของแต่ละภาคได้
ศ.นายแพทย์สุทธิพร ได้ยกตัวอย่างว่า หากประชาชนมีปัญหาเรื่องน้ำเซาะตลิ่ง และต้องการให้นำงานวิจัยไปแก้ปัญหา สามารถนำเสนอผ่านเครือข่ายการวิจัยในภูมิภาคต่างๆ ได้ โดยทางเครือข่ายจะช่วยหาผู้วิจัยที่เหมาะสมให้ ซึ่งเครือข่ายวิจัยดังกล่าวนั้นกระจายอยู่ 4 ภูมิภาค และสมาชิกเครือข่ายประกอบด้วยนักวิชาการ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคสังคม ซึ่งแผนการดำเนินงานขั้นต่อไปของเครือข่ายการวิจัย คือ การลงพื้นที่จัดเวทีเสวนา เพื่อให้ประชาชนนำเสนอปัญหาในพื้นที่ แล้วสรรหางานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยข้อมูลในระหว่างการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยที่ วช. ให้ทุนอุดหนุน ปีงบประมาณ 2555 และการระดมความคิดการจัดทำกรอบการวิจัยของชาติ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 54 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,700 คน ประกอบไปด้วยหน่วยงานสถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย นักวิชาการ จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน