xs
xsm
sm
md
lg

จับความหลากหลายทางชีวภาพใส่งานแต่ง 4 ภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการพระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางธรรมชาติ ได้มีการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 6 – 8 พ.ค. 2554 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 22.00 น. ณ บริเวณชั้น 1 จามจุรีสแควร์
พานขันหมากจากใบตองและผักตบ ตั่งรดน้ำที่ประดับดอกไม้หลากสี ของชำร่วยห่อกาบหมาก พร้อมชุดเจ้าสาวจากเปลือกข้าวโพด เหล่านี้เป็นการสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย ที่ได้นำทรัพยากรในท้องถิ่น เข้ามาประยุกต์ใช้กับประเพณีแต่งงานของแต่ละภาค เพื่อสะท้อนวิถีวัฒนธรรมไทยที่ผูกพันกับธรรมชาติ ตอกย้ำความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

ช่วงสุดสัปดาห์นี้ ถ้าใครแวะเวียนไปที่จามจุรีสแควร์ จะได้มีโอกาสเห็นการตระเตรียมพิธีมงคลสมรสย่อมๆ แบบท้องถิ่น ที่มีอุปกรณ์ต่างๆ สะท้อนวัฒนธรรมที่ผูกพันกับธรรมชาติ เป็นผลงานการออกแบบของนักเรียน 8 โรงเรียน จากทั่วทั้ง 4 ภาคของไทย ผ่าน "โครงการประกวดรวบรวมพรรณพืช เพื่อการ ถัก ทอ ห่อ รัด มัด ร้อย" ที่นำความหลากหลายชีวภาพที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น มาสู่การออกแบบงานแต่งงานให้สมบูรณ์และงดงาม 

"ร่มล้านนา" ที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการได้สำรวจเห็นเป็นสิ่งแรก ในซุ้ม "งานแต่งแบบล้านนา" เป็นผลงานการแสดงประเพณีแต่งงานแบบ ภาคเหนือ ที่ ร.ร.เสริมงามวิทยาคม จ.ลำปาง ได้ชูสัญญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงสิ่งที่ใช้สืบสานกันมาอย่างยาวนาน “ร่มล้านนา” ที่นำมาประดับฝักขี้เหล็ก และยังใช้เม็ดข้าวเหนียวตากแห้งมาประยุกต์เป็นดอกไม้ ตั้งแสดงตกแต่งไว้อย่างงดงาม บวกกับการใช้ต้นปอทำเป็นฉากหลัง ให้คู่บ่าวสาวได้ถ่ายภาพร่วมกันอย่างสวยงามด้วย

ขณะที่งานแต่งของภาคกลาง มีโรงเรียนเข้าร่วมจัดแสดงถึง 5 แห่ง ได้แก่ ร.ร.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา,ร.ร.นครนายกวิทยาคม จ.นครนายก,ร.ร.วัฒนานคร จ.สระแก้ว,ร.ร.นวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี จ.นนทบุรี และ ร.ร.พนมทวนชนูปถัมภ์ จ.กาญจนบุรี

แน่นอนว่า "ใบตอง" เป็นพืชพรรณเด่นในพื้นที่นี้ พวกเขาจึงนำมาใช้เป็นตัวหลักในการประดับตกแต่งอุปกรณ์ต่างๆ  ทั้งยังได้ใช้เปลือกข้าวโพด วัสดุเหลือใช้จากท้องถิ่นมาออกแบบชุดเจ้าสาวอย่างสง่างาม มีการนำไม้ไผ่มาสานเป็นสังข์ (หอยสังข์) สำหรับประกอบพิธีมงคลสมรสด้วย

นอกจากนั้นได้มีการใช้เม็ดจากมะก้ำต้น มะกล่ำตาช้าง มาร้อยเรียงห้อยระโยงระยางแทนลูกปัด พร้อมกับการตกแต่งด้วยพืชพันธุ์หายาก อาทิ ผลมะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่, ดอกยี่หุบ, ดอกกรรณิการ์ และดอกจำปีสีทอง ถือเป็นการผสมผสานความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างลงตัวทีเดียว

ทางด้านตัวแทนจากภาคใต้ อย่าง ร.ร.โยธินบำรุง จ.นครศรีธรรมราชก็ได้มาถ่ายทอดวัฒนธรรมของชาวปักษ์ใต้อันดีงาม ซึ่ง "ณัฐ" นายณัฐ ศรีภัทธ์ นักเรียนชั้น ม.5 หนึ่งในสมาชิกของโรงเรียนนี้ได้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงจุดเด่นของการจัดนิทรรศการในส่วนของเขาว่า การนำลูกยางพาราวัสดุเหลือทิ้งจากท้องถิ่น บวกกับเดือยหินมาสู่การออกแบบให้เป็นม่านยาวระย้า พร้อมใช้ผักตบชวามาประดิษฐ์เป็นดอกไม้หลากสี ถักทอกลายเป็นรูปหัวใจพองโต

ทั้งนี้ยังมีการใช้ใยหมากมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ประดับตะกร้าสานไม้ไผ่ นอกจากนั้นความโดดเด่นคือของชำร่วยห่อกาบหมาก ซึ่งทางโรงเรียนได้ออกแบบให้เป็นมีลักษณะเหมือนท๊อฟฟี่อย่างเก๋ไก๋

ตบท้าย ภาคอีสาน ที่ ร.ร.สูงยางวิทยาประชาสรรค์ จ.ร้อยเอ็ด ใช้เอกลักษณ์ที่โดดเด่นประจำภาค ผ่านการ "ทำบายศรีสู่ขวัญ" เพื่อประกอบพิธีการแต่งงานแบบไทยอิสาน สมาชิกในทีมนี้ได้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า การทำบายศรีนั้นประกอบด้วย ต้นกล้วย บ่งบอกถึงความร่มเย็นเป็นสุข ต้นอ้อยให้ความหมายของความรักอันหวานชื่น หากจะหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองก็จะเป็นดอกดาวเรือง ทั้งยังมีดอกบานไม่รู้โรย ดอกบัว และดอกรัก เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีไม้เลื้อยหายากทางภาคอีสาน "เครือขอคำ" ได้นำมาคดเป็นรูปหัวใจมาผสมผสานผสานสู่การออกแบบงานแต่งงานตามวัฒนธรรมของภาคได้อย่างกลมกลืน

สำหรับโรงเรียนที่สามารถเอาชนะใจกรรมการจนชนะเลิศในการประกวด คือ ร.ร.โยธินบำรุง จ.นครศรีธรรมราช ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท อันดับ 2 ร.ร.นวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี จ.นนทบุรี ได้รับเงินรางวัล 8,000 บาท อันดับ 3. ร.ร.พนมทวนชนูปถัมภ์ จ.กาญจนบุรี ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท และสุดท้ายชมเชยได้รับเงินรางวัลโรงเรียนละ 2,000 บาท ซึ่งทุกทีมจะได้โล่เกียรติยศและเกียรติบัตรด้วย

กิจกรรมการประกวดรวบรวมพรรณพืช เพื่อการ ถัก ทอ ห่อ รัด มัด ร้อย นี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถในฐานะ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางธรรมชาติ” ที่จัดแสดงขึ้นโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค. 54 ณ จามจุรีสแควร์

นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ภายในงานนิทรรศการเทิดพระเกียรติฯ ยังประกอบไปด้วยนิทรรศการ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางธรรมชาติ” ซึ่งเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคืนช้างสู่ป่า คืนกล้วยไม้สู่ธรรมชาติ การอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล โครงการปะการังเทียม ตลอดจนโครงการอนุรักษ์พรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธ์ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ยังมีนิทรรศการผลงานด้านการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพตามแนวพระราชดำริ ของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวม 17 หน่วยงาน อาทิ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้นำ “ปูราชินี” ซึ่งได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ พ.ศ.2535 มาโชว์ในงานนี้ด้วย

ด้านกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาจัดบูธแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้สักแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีอยู่ใน จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กับการทำโครงการเกี่ยวกับความหลากหลายทางธรรมชาติอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น โครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนสทิงหม้อ ตามแนวพระราชดำริ จ.สงขลา โครงการปลูกปะการัง จ.ชุมพร และ จ.ชลบุรี ทาง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาจัดแสดงความสำเร็จของโครงการ คือ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ที่ตั้งอยู่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

อย่างไรก็ดี นายณัฐภพ ภูริเดช ผช.รมว.ทส.ได้กล่าวระหว่างพิธีเปิดกิจกรรมนิทรรศการ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.54 ณ ชั้น 1 อาคารจามจุรีสแควร์ ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ช่วยลดระดับความยากจนของประชาชน ซึ่งเป็นพระราชปณิธานที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระราชวงศ์ที่ได้ทรงยึดมั่นมาตลอด ทรงมีพระราชกรณียกิจเป็นที่ประจักษ์ชัด ผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ มากมาย จึงอยากเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกคนมาร่วมชื่นชมพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านในงานครั้งนี้ด้วย

นิทรรศการพระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางธรรมชาติ จัดแสดงที่บริเวณชั้น 1 อาคารจามจุรีสแควร์ สามย่าน กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 6 - 8 พ.ค.54 เวลา 10.00-22.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2158-1312-6
นายณัฐภพ ภูริเดช  ผช.รมว.ทส. กล่าวเปิดกิจกรรมนิทรรศการพระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางธรรมชาติ  ในวันที่ 6 พ.ค.54 ที่ผ่านมา
การออกแบบงานแต่งงานโดยใช้ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่น ของ ร.ร.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
การออกแบบงานแต่งงานของ ร.ร.โยธินบำรุง จ.นครศรีธรรมราช ที่นำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งผักตบชวา เมล็ดยาง สะบ้า เดือยหิน เปลือกข้าวโพด ใบตอง ใยหมาก จนคว้าแชมป์ การประกวดรวบรวมพรรณพืช เพื่อการ ถัก ทอ ห่อ รัด มัด ร้อย ด้วย
นิทรรศการและกิจกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถในฐานะ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางธรรมชาติ” จากภาพเป็นโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล
พระราชกรณียกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในสมเด็จพระราชินีนาถ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคืนช้างสู่ป่า คืนกล้วยไม้สู่ธรรมชาติ โครงการปะการังเทียม ตลอดจนโครงการอนุรักษ์พรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุุ์
สมุดอวยพรสีชมพูทำจากกระดาษปอสา และของรับไหว้ เป็น “กระเป๋าถือใบตาล”  ผลงานจาก ร.ร.พนมทวนชนูปถัมภ์ จ.กาญจนบุรี
น.ส.จินตนา สู่เสรีดำรง ผช.นักวิจัยสำนักงานวิจัยและการศึกษา องค์การสวนสัตว์ พร้อมนิทรรศการจากผลงานขององค์การสวนสัตว์ เช่น การอนุรักษ์ การเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่า ธนาคารพันธุกรรม ตลอดจนการคืนสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติ
สมาชิกทีม ร.ร.พนมทวนชนูปถัมภ์ จ.กาญจนบุรี ที่ได้ออกแบบชุดเจ้าสาวจากเปลือกข้าวโพด และคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสองไปครอง
บรรยากาศของนิทรรศการ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางธรรมชาติ” ในวันที่ 6 พ.ค. 54  ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก
บรรยากาศกิจกรรม โครงการประกวดรวบรวมพรรณพืช เพื่อการ ถัก ทอ ห่อ รัด มัด ร้อย ที่มีนักเรียนทั้ง 4 ภาค มาจัดแสดงความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่น ผสานเป็นประเพณีแต่งงาน
“ฝ้าย” น.ส.อรัญญา ยศแก่น นักเรียนชั้น ม. 6 จาก ร.ร. เสริมงามวิทยาคม จ.ลำปาง กำลังอธิบายให้นักศึกษาผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการฟังว่า การออกแบบงานแต่งงานของพวกเธอเกี่ยวพันกับธรรมชาติอย่างไร
ณัฐ -นายณัฐ ศรีภัทธ์ นักเรียนชั้นม.5 ร.ร.โยธินบำรุง ได้โชว์ของชำร่วยงานแต่ง ซึ่งเป็นทุเรียนกวนห่อด้วยกาบหมาก
การออกแบบงานแต่งของ ร.ร.นวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี จ.นนทบุรี และยังมีสมาชิกในทีมใส่ชุดแต่งงานเพื่อให้สมจริง ซึ่งได้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งไปครอง
นิทรรศการผลงานด้านการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพตามแนวพระราชดำริจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้นำ “ปูราชินี” มาโชว์ให้ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการด้วย
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มาจัดบูธความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้สักแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีอยู่ใน จ.แม่ฮ่องสอน และเป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริด้วย
นักเรียน ร.ร.สูงยางวิทยาประชาสรรค์ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า การออกแบบงานแต่งงานในครั้งนี้ ทางโรงเรียนได้ใช้ “เครือขอคำ” เป็นไม้เลื้อย ซึ่งเป็นพืชหายาก มีเฉพาะหน้าฝนเท่านั้น มาใช้ในการออกแบบด้วย
การออกแบบงานแต่งงานของ ร.ร.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น