“กลาย” เป็นชื่อของหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 2-3 ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านที่เคยสงบสุข ชาวบ้านที่เคยใช้ชีวิตทำมาหากินออกทะเลจับกุ้งหอยปูปลา เลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว ก็ต้องคุกรุ่นไปด้วยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จากสาเหตุที่ตำบลกลายถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา การพัฒนาที่กำหนดมาจากเบื้องบน จากคนนอก จากกลุ่มคนที่พวกเขาบอกว่าจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้
ส่วนหนึ่งของผู้คนในชุมชน อันประกอบด้วยภาคประชาสังคม เช่น นักวิชาการ ผู้นำชุมชน คนทำงานพัฒนาสังคม สื่อท้องถิ่นหรือเหล่าศิลปิน อันเป็นลูกหลานของคนบ้านกลายและท่าศาลา เขาไม่เห็นด้วยที่พื้นที่บ้านเกิดของพวกเขาจะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เจริญรุ่งเรืองที่กำหนดมาจากคนข้างนอก พวกเขากลัวว่า “กลาย” จะเป็นอื่น จะเป็นไปในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ และที่ไม่ใช่อนาคตที่ดีงามของพวกเขา
ชุมชนบ้านกลายเริ่มคุกรุ่นด้วยไอร้อนแห่งความขัดแย้ง ปรากฏขึ้นในปี 2552 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศให้พื้นที่ชายฝั่งของอำเภอสิชล-ท่าศาลาเป็นพื้นที่สำหรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่จะต้องขยายมาจากภาคตะวันออกคือมาบตาพุด
จากเอกสารบทคัดย่อรายงานความก้าวหน้า โครงการศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ระบุพื้นที่ทางเลือกในการตั้งพื้นที่ทำอุตสาหกรรมแปรรูป ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า พื้นที่ทางเลือกสำหรับการจัดตั้งนิคมฯ มีอยู่ด้วยกัน 3 จุดคือ
จุดที่ 1 คือ พื้นที่ใน ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล มีพื้นที่ 19,000 ไร่ ห่างจากที่ว่าการ อ.สิชล 1 กิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ลาดลงทะเลอ่าวไทย ถมดินสูงโดยเฉลี่ย 0.7 เมตร มีท่าเรือ และพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม บริเวณบ้านคอเขา ต.ทุ่งปรัง ทางเลือกที่ 2 คือพื้นที่ในบ้านบางสาน ต.กลาย อ.ท่าศาลา พื้นที่ 19,000 ไร่ เป็นที่ราบลุ่ม ถมที่เพิ่มให้สูงกว่าระดับน้ำทะเล 50 เซนติเมตร สร้างแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 25 กิโลเมตร ส่วนทางเลือกที่ 3 ที่ในพื้นที่ ต.แก้วแสน อ.นาบอน พื้นที่ก่อสร้าง 5,500 ไร่ ในเอกสารชุด เดียวกัน ระบุว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบของโครงการดังกล่าว ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.นาบอน ช้างกลาง ท่าศาลา และสิชล รวม 13 ตำบล 155 หมู่บ้าน ประชากร 115,840 คน รวม 32,676 ครัวเรือน
ทางเลือกที่ 2 ที่มีโครงการสร้างแนวการกัดเซาะชายฝั่งยาว 25 กิโลเมตร คือความวิบัติของพื้นที่ชายหาดที่สวยงามของท่าศาลาและอาชีพการทำประมงชายฝั่ง การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อพิทักษ์ถิ่นเกิดและอาชีพของผู้คนแห่งชุมชนตำบลกลายจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น แต่เหมือนพระเจ้าจะทดสอบความเข้มแข็งของชุมชน ในปีเดียวกันนั้นเอง เชฟรอนบริษัทขุดเจาะน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลเกือบค่อนโลก ก็ได้ทำการย้ายฐานบนฝั่งจากจังหวัดสงขลาและก็เล็งพื้นที่อำเภอท่าศาลาเป็นเป้าหมาย
“เหตุผลที่ทำให้เชฟรอนต้องมีการศึกษาพื้นที่ใหม่ เนื่องจากทะเลสาบสงขลากำลังวิกฤต แม้ว่าเชฟรอนมีเพียงท่าเรือขนาดเล็ก บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองภาค 9 ...พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชใกล้ฐานขุดเจาะมากกว่า ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อย” แต่เหตุผลหลักๆ ที่พูดกันวงในก็คือ “มีความเป็นไปได้ว่าการย้ายศูนย์ปฏิบัติการบนฝั่งจากจังหวัดสงขลา เนื่องมาจากเชฟรอนเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความอ่อนไหวเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากสงขลาอยู่ในพื้นที่ติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด”
จริงๆ แล้วการย้ายของเซฟรอนมายังนครศรีธรรมราชเพราะเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐกำลังศึกษาจัดตั้งเซาเทิร์น ซีบอร์ด ซึ่งมีความพร้อมในการลงทุนสำหรับอนาคต โดยเฉพาะจะเป็นพื้นที่ลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลังงาน ภาระอันหนักอึ้งจึงตกอยู่บนบ่าของลูกหลานแห่งบ้านกลาย ท่าศาลาและชาวนครศรีธรรมราชอย่างเต็มๆ ถึงวันนี้จึงฟันธงไปได้เลยว่า ทะเลของชุมชนบ้านกลาย ก็จะ “กลาย” เป็นแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแน่นอนเป็นอื่นไปไม่ได้อย่าไปเชื่อเด็ดขาดว่าจะสร้างแต่ท่าเรือน้ำลึกเท่านั้น เพราะเชฟรอนไม่ได้สร้างแค่ท่าเรือ ขุดเจาะน้ำมัน เพราะรัฐบาลได้เตรียมพร้อมไว้ให้เขาแล้วว่าเป็นนครฯ จะเป็นเมืองอุตสาหกรรมริมทะเล...
การต้องมาเผชิญหน้ากับทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่างเชฟรอน จึงเป็นภาระการต่อสู้อย่างหนักหน่วง เพราะบริษัทนี้มีเงินทุนมหาศาลพร้อมที่จะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า การว่าจ้างพีดีเอที่มีนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นหัวเรือใหญ่ให้เข้ามาทำงานมวลชนสัมพันธ์/ประชาสัมพันธ์ด้วยเงินกว่า 150 ล้านบาท(http://www.chevronthailand.com/news/press.asp)หรือการทำกิจกรรมอันหลากหลายเพื่อกลบเกลื่อนเบี่ยงเบนความสนใจของสังคม ไม่ให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ข้อมูลอีกด้านที่เป็นความชั่วร้าย ที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบต่อสังคมไทยโดยรวมของเชฟรอนจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและซึมลึกตลอดเวลา ทุกวันนี้แทบพูดได้ว่าเชฟรอนได้เข้ายึดกุมแหล่งพลังงานของชาติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดูรายละเอียดของพวกเขาได้ที่ http://www.chevronthailand.com/aboutus_history.asp เรา เราจะพบว่าแหล่งพลังงานของชาติ ผลประโยชน์ด้านพลังงานของชาติวันนี้อยู่ในอุ้งมือของเขาแทบทั้งหมด...
การลุกขึ้นสู้ของชุมชนบ้านกลาย ที่หวังเอาไว้ว่าจะไม่ให้ “กลายเป็นอื่น” จึงเป็นภาระที่หนักหน่วงของชุมชนท้องถิ่นอย่างชุมชนเล็กๆ ของตำบลกลาย หรืออำเภอเล็กๆ ที่สวยงามอย่างท่าศาลา แม้แต่จังหวัดแห่งพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างนครศรีธรรมราชก็เถอะ การปิดล้อม การล้อมกรอบชุมชนและสังคม โดยจะใช้รูปแบบปิดประตูตีแมว
เมื่อทางบริษัทได้ทำการรุกคืบด้วยยุทธวิธีด้านการประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ โดยร่วมมือกับคนไทยที่ทำบริษัทประชาสัมพันธ์ หรือองค์กรทำงานมวลชนอย่างพีดีเอของนายมีชัย วีระไวทยะ ก็ได้แต่ให้กำลังใจและหวังเอาไว้ลึกๆ ว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะตื่นรู้และร่วมกันยืนหยัดรักษาผลประโยชน์ของชาติโดยรวมร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ชุมชนท้องถิ่นต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังอย่างที่เป็นอยู่อีกต่อไป.