xs
xsm
sm
md
lg

นอมินีทักษิณ ร่วมชิงขุมทรัพย์เขตทับซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – กลุ่มบริษัทพลังงานชิงฮุบแหล่งก๊าซ-น้ำมันเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา รัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่างให้สัมปทานยักษ์ใหญ่ เชฟรอน – บริติช แก๊สฯ – ปตท.สผ. – โตตาล ออยล์ ตีตราจองกันคู่แข่ง จับตา “นช.ทักษิณ” สานฝันก้าวสู่ธุรกิจพลังงานผ่าน ปตท. และกลุ่มพันธมิตรที่เข้าฮุบขุมทรัพย์เขตทับซ้อน

กรณี สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรี อนุญาตให้กลุ่มบริษัทน้ำมันฝรั่งเศส “โตตาล ออยล์” เข้าสำรวจแหล่งก๊าซฯและน้ำมันในอ่าวไทยบริเวณพื้นที่ทับซ้อนซึ่งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2552 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีหรือปฏิกิริยาใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน หรือฝ่ายความมั่นคง

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลในเรื่องนี้ วานนี้ (28 ก.ค.) ว่า เป็นสิทธิ์ของกัมพูชาที่สามารถทำได้ แต่แค่การส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจ จะขุดเจาะยังไม่ได้จนกว่าจะผ่านความเห็นชอบของไทยและกัมพูชา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีปราสาทพระหาร นำโดย มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามและเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาททางทะเลด้วยการไปอนุญาตให้กลุ่มโตตาล ออยล์ เข้ามาสำรวจพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ
ทักษิณ – ฮุนเซน ระหว่างร่วมก๊วนกอล์ฟกันอย่างชื่นมื่น  (แฟ้มภาพจาก รอยเตอร์)
พื้นที่ไหล่ทวีปอ่าวไทยเขตทับซ้อนทางทะลระหว่างไทย-กัมพูชา ประมาณ 27,960 ตร.กม. ซึ่งธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า มีปริมาณน้ำมันสำรองมากถึง 2,000 ล้านบาร์เรล และมีปริมาณก๊าซฯ สำรองอีกมากกว่า 10 ล้านล้านฟุต มูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านบาทนั้น จะว่าไปแล้ว ประชาชนทั้งสองฝ่าย คือ ชาวไทยและกัมพูชา ได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผลประโยชน์มหาศาลซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของชาติทั้งสองน้อยมาก เพราะคณะรัฐบาลของสองประเทศ ไม่ว่ารัฐบาลไทยหรือรัฐบาลกัมพูชา ต่างไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ต่อสาธารณชนเท่าใดนัก

รัฐบาลกัมพูชา ไม่ได้นำโครงการสัมปทานเหล่านี้เข้าขออนุมัติจากรัฐสภา และยังไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำกับบริษัทต่างชาติ เช่นเดียวกับรัฐบาลไทย ที่ให้อำนาจต่างๆ ตั้งแต่การอนุมัติสัมปทานปิโตรเลียม การสำรวจปิโตรเลียม แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้อนุมัติ โดยได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการปิโตรเลียม หรือขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในกรณีที่จำเป็น โดยไม่ต้องนำเรื่องเสนอผ่านการพิจารณาในรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์นั้น ต่างฝ่ายต่างได้ให้สัมปทานขุดเจาะทับซ้อนกัน และกลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ “เชฟรอน” จากสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนจะครองครองแปลงสัมปทานสำรวจขุดเจาะเอาไว้มากที่สุด
เชฟรอน ได้สัมปทานแปลง A ส่วน ปตท.สผ. ได้แปลง B (ภาพจากนิตยสาร Positioning ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551)
ข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ประเทศไทย ได้ให้สัมปทานสำรวจขุดเจาะและผลิตกับบริษัทเอกชนที่สนใจไปแล้วตั้งแต่ปี 2546 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับสัมปทานไปแล้ว 4 กลุ่ม ได้แก่

1) บริษัท Thailand Bloc 5&6LLC ในแปลงสัมปทานที่ 5-6,
2) บริษัทบริติช แก๊ส เอเชีย อิงค์ ในแปลงสัมปทานที่ 7-8-9,
3) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในแปลงสัมปทานที่ 10-11-13 และพื้นที่ 12 (A) 12 (B)
และ 4) บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในแปลงสัมปทาน G9/43 (พื้นที่ประกอบ) (ประชาชาติธุรกิจ 20 มิ.ย. 2551)

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกัมพูชา ก็ให้สัมปทานสำรวจขุดเจาะและผลิตแก่บริษัทปิโตรเลียมระดับโลกที่เข้ามาขอสัมปทานสำรวจขุดเจาะเช่นเดียวกับฝ่ายไทย เช่น กลุ่มเชฟรอน และล่าสุดคือ โตตาล ออยล์ จากฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทที่ได้รับสัมปทานสำรวจขุดเจาะดังกล่าว ยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการสำรวจและผลิตได้ เนื่องจากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่สามารถตกลงเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน และผู้ลงทุนยังไม่ชัดเจนว่า จะลงมือสำรวจขุดเจาะได้เมื่อใด การแบ่งปันผลประโยชน์จะตกลงกันอย่างไร

นายณ็องปิแอร์ ลาบบ้ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทโตตาลสำรวจและผลิตประจำกัมพูชา ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชารายล่าสุดให้เข้าสำรวจขุดเจาะและผลิตน้ำมันและก๊าซในพื้นที่ Block 3 ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายวันภาษาฝรั่งเศส “กัมโบดจ์ชวาร์” (Cambodge Soir Hebdo) ปรากฏข่าวบนเวปไซต์ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเมื่อวันอังคารที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า จะยังไม่มีการเข้าไปดำเนินการใดๆ ใน Block 3 จนกว่าไทยและกัมพูชาจะสามารถหาข้อตกลงกันได้ และปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไขภายใน 10 ปี

ส่วนบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเวปไซต์ www.chevronthailand.com ว่า แปลงสัมปทานนอกฝั่งของบริษัท ซึ่งเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา คือ แปลงหมายเลข 5, 6, 7,8, 9, 10, 11, 12 และ 13 แต่ไม่มีรายละเอียดใดๆ ว่าพื้นที่สัมปทานในเขตทับซ้อนนี้เชฟรอน ดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว

เชฟรอน ระบุถึงการลงทุนในกัมพูชาว่า เชฟรอนในนามของ เชฟรอน โอเวอร์ซีส์ ปิโตรเลียม แคมโบเดีย ลิมิเต็ด (COPCL) เป็นผู้ดำเนินการและถือหุ้น 55% ในสัมปทานแปลง A ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 6,278 ตร.กม. COPCL ได้ดำเนินการขุดเจาะหลุมสำรวจไปแล้ว 6 หลุมเมื่อปี 2548 และค้นพบปิโตรเลียม จำนวน 4 หลุม

จากนั้น COPCL เข้าสำรวจเพิ่มอีก 5 หลุม ในปี 2549 โดยเป็นหลุมสำรวจ 3 หลุม และหลุมประเมินผล 2 หลุม เพื่อสำรวจหาและยืนยันปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มเติม ต่อจากนั้น บริษัทได้สำรวจเพิ่มเติมอีกในปี 2550 เพื่อประเมินผลคุ้มค่าในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์

รัฐบาลกัมพูชา เร่งรัดให้เชฟรอน ส่งรายงานผลสำรวจขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่แปลง A ทั้งหมด โดยผู้นำกัมพูชา วางเป้าหมายขุดค้นน้ำมันและก๊าซขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้ในปี 2554

ส่วน กลุ่มปตท. ของไทย มีโครงการลงทุนบริเวณอ่าวไทยบริเวณเขตทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา 1 โครงการ และ ลงทุนในเขตติดกับพื้นที่ทับซ้อนฯ อีก 1 โครงการ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทฯ เข้าไปลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย บริเวณเขตทับซ้อนไทย – กัมพูชา ภายใต้โครงการจี 9/43 ขนาดพื้นที่ 2,619 ตร.กม. ซึ่ง ปตท. สผ. รายงานสถานะล่าสุดของโครงการว่า อยู่ในระหว่างการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศและเส้นแบ่งเขตทางทะเล

ส่วนโครงการกัมพูชา บี ของปตท. ตามข้อมูลเดือนมิ.ย. 2552 ระบุว่า ปตท.สผ.ได้รับสัมปทาน/สัญญาการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลง B ขนาดพื้นที่ 6,551 ตารางกิโลเมตร โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) 30% บริษัท Resourceful Petroleum Limited (RPL) 30% บริษัท SPC Cambodia Ltd. (SPC) 30% บริษัท CE Cambodia B Ltd. (CEL) 10%

ปตท.สผ.อ. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายสิทธิ (Farm-out Agreement) ในแปลงบี (Block B) นอกชายฝั่งประเทศกัมพูชา กับบริษัท Resourceful Petroleum Limited (RPL) โดย ปตท.สผ.อ. จะเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2548

แปลงบี อยู่ห่างชายฝั่งประเทศกัมพูชา ประมาณ 250 กิโลเมตร และติดกับพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาทางด้านทิศตะวันออก จากการประเมินด้านธรณีวิทยาเบื้องต้น คาดว่าแปลงบีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ โดยในช่วง 3 ปีแรกของการสำรวจ บริษัทฯ มีแผนที่จะสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน และขุดเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม

นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. แจ้งรายงานผลการเจาะหลุมสำรวจโครงการสำรวจปิโตรเลียม แปลงบี ประเทศกัมพูชา ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 51 ว่า ผลการเจาะหลุมสำรวจ Vimean Morodok MahaNorkor-1 เมื่อขุดถึงระดับความลึกสุดท้าย 2,930 เมตร พบร่องรอยน้ำมันดิบแต่ไม่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ปตท.สผ.อ. และผู้ร่วมทุน จึงได้ทำการปิดหลุมดังกล่าว และจะดำเนินงานทางเทคนิคเพื่อประเมินศักยภาพปิโตรเลียมต่อไป

ล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย. 2552 ปตท.สผ. รายงานว่า กำลังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลจากหลุมสำรวจ VMM-1 เพื่อประเมินศักยภาพทางปิโตรเลียม แปลข้อมูลคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติเพิ่มเติม และเตรียมการเจาะหลุมสำรวจในปี 2553

การเข้าไปลงทุนสำรวจขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในเขตทับซ้อนทะเลไทย-กัมพูชาตามโครงการจี 9/43 และแปลง B ของ ปตท. สผ. บริษัทลูกของ ปตท. เมื่อปี 2548 นั้น ถูกโยงเข้ากับการแปรรูป ปตท. เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีนอมินีกลุ่มทักษิณ ชินวัตร เข้าถือหุ้นใน ปตท. และปตท.ก็ถือหุ้นในบริษัทลูกอย่าง ปตท.สผ. อีกต่อหนึ่ง

ขณะที่กลุ่มพันธมิตรธุรกิจเพื่อนๆ ทักษิณ ต่างลงทุนร่วมกันกับปตท.สผ. ไม่ว่าจะเป็นโมฮัมหมัด อัล ฟาเยด เจ้าของห้างแฮร์รอดส์แห่งอังกฤษ ที่เข้ามาตั้งบริษัทสำรวจขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยโดยร่วมทุนกับ ปตท.สผ. ก่อนที่มหาเศรษฐีเจ้าของห้างแฮร์รอดส์ จะเปลี่ยนชื่อใหม่และขายให้กับกลุ่มเพิร์ล ออยล์ ซึ่งมีฐานอยู่ที่สิงคโปร์ และกลุ่มเทมาเส็ก ร่วมถือหุ้นผ่านทางบริษัทตัวแทนอยู่ด้วย (นิตยสาร Positioning “โมฮัมหมัด อัล ฟาเยด – เพื่อนซี้ “ทักษิณ” รวมก๊วน “เทมาเส็ก” แนบแน่น “ปตท.” ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551)

การสนใจเบนเข็มเข้าลงทุนในกิจการพลังงานของ ทักษิณ ดังที่ พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กัมพูชา ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยว่า ทักษิณ จะลงทุนในธุรกิจพลังงานและก๊าซฯในกัมพูชา ทำให้มีการต่อจิ๊กซอร์ฉายภายใหญ่ให้เห็นถึงการเร่งรัดเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะลระหว่างไทย-กัมพูชา และการเร่งเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ และแลกผลประโยชน์ในยุคทักษิณซึ่งแนบแน่นอย่างยิ่งกับฮุนเซนนั้นมีอะไรอยู่เบื้องหลัง

นี่เป็นประเด็นที่ชวนให้ย้อนกลับไปพิเคราะห์อีกครั้งว่า บันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันครั้งแรกในยุคทักษิณ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ที่นำมาซึ่งการตกลงแบ่งการเจรจาออกเป็นสองส่วน คือ พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ซึ่งไม่มีข้อขัดแย้งกันให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ และพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมาให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกันนั้น จะยังยึดตามหลักการเดิมหรือไม่ หลักการถือสิทธิที่ชัดเจนเป็นอย่างไร ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าเจรจาเรื่องนี้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น