xs
xsm
sm
md
lg

เผยจุดกำเนิด “หลุมดำกับลำแสง” จากนิทรรศการความลับในโลกนาโน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการชุด“ท่องโลกวิทยาศาสตร์ : ความลับในโลกนาโน” จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. – 31 พ.ค. 54 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์ สามย่าน ทุกวันตั้งแต่ 10.30- 19.30 น.
นิทรรศการภาพถ่ายที่มีให้เราเห็นอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการภาพข่าว ภาพสวยจากธรรมชาติ หรือภาพวาด ล้วนเป็นสิ่งที่นัยน์ตาเราสามารถมองเห็นได้ แต่สำหรับภาพถ่ายสิ่งที่เล็กเกินกว่าสายตาจะมองเห็น ขยายกันไปถึงระดับนาโน นั้นช่างหาชมได้ยากทีเดียว

นิทรรศการชุด “ท่องโลกวิทยาศาสตร์ : ความลับในโลกนาโน” ที่หอบหิ้วมาไกลจากเยอรมนี กำลังจัดแสดงอยู่ที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์ กรุงเทพฯ ได้นำภาพบันทึกของสิ่งที่เล็กเกินกว่าสายตามนุษย์มองเห็น หรือจับต้องมาจัดแสดง โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้สำรวจนิทรรศการว่าโลกขนาดนาโนมีสิ่งใดน่าค้นหาบ้าง?

“หลุมดำกับลำแสง” เหมือนเป็นภาพเชิงนามธรรม ที่จัดไว้ในหมวดของฟิสิกส์และดาราศาสตร์ แสดงให้เห็นภาพกาแล็กซี่ที่มีระบบดาวคู่ ประกอบด้วยดาวยักษ์ขนาดมหึมา ซึ่งโคจรอยู่รอบหลุมดำ และหลุมดำนี้จะดูดกลืนก๊าซที่ปล่อยออกมาจากดาวยักษ์ พลังงานที่ถูกปล่อยออกมา จะเหวี่ยงก๊าซจำนวนเล็กน้อยไปสู่อวกาศ ในรูปลำแสง 2 ลำที่มัดเป็นเกลียวเรียกว่า “เจ็ต” พลังงานจะทำให้เจ็ตเปลี่ยนทิศทางในระยะห่างที่เท่ากัน เกิดเป็นโครงสร้างรูปเกลียว จึงแสดงให้เห็นลำแสงเจ็ตหนึ่งในสองลำ

ขณะที่ภาพ “แมลงวันเกาะอยู่ได้อย่างไร” ได้รับความสนใจกับผู้ที่เข้าร่วมชมนิทรรศการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการค้นพบความจริงเกี่ยวกับขาของแมลงวัน ที่เกิดจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน โดยจัดแสดงภาพแมลงวันผลไม้ ที่ให้เห็นว่าปลายขาของมัน มีปุ่มเนื้อที่ยืดหยุ่นมากมาย ปุ่มเหล่านี้จะงอกได้ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนขาให้เข้ากับลักษณะพื้นผิวต่างๆได้เป็นอย่างดี

สำหรับนิทรรศการชุด “ท่องโลกวิทยาศาสตร์:ความลับในโลกนาโน” มีทั้งหมด 33 ภาพ แบ่งเป็น 6 หมวด คือ 1.จุลินทรีย์ จำนวน 5 ภาพ อาทิ การโจมตีเซลล์ แบคทีเรียโจมตีกระเพาะ 2.โครงสร้างพืช จำนวน 1 ภาพ คือเส้นผมบอกความแตกต่าง 3.โครงสร้างสัตว์ จำนวน 6 ภาพ อาทิ แมลงวันเกาะอยู่ได้อย่างไร ตัวอ่อนปลา 4.เซลล์มนุษย์ จำนวน 8 ภาพ อาทิ เลือดข้นกว่าน้ำ ติดร่างแห สมองกับฮอร์โมน

5.เคมีและวัสดุศาสตร์ จำนวน 9 ภาพ อาทิ การรบกวนระดับนาโน จรวดอิเล็กตรอน สร้อยไข่มุกอะตอม และ 6.ฟิสิกส์และดาราศาสตร์ จำนวน 4 ภาพ ในจักรวาลแห่งควอนตัม หลุมดำกับลำแสง

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รอง ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในฐานะผู้จัดแสดงงาน บอกว่า ภาพถ่ายที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ เป็นผลการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ของนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันมักซ์พลังค์ (Max Planck Institute) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่มีการประกวดภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และบางภาพสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นโครงสร้างสิ่งต่างๆ ในระดับนาโน หากเปรียบเทียบกับเส้นผมซึ่งมีขนาด 0.1 มิลลิเมตร ขนาด 1 นาโนเมตร จะมีขนาดเล็กกว่าหนึ่งแสนเท่า โดยได้เลือกภาพที่ดีที่สุดมาจัดนิทรรศการในครั้งนี้

นายสาคร อธิบายว่า ทุกภาพที่จัดแสดงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาคนธรรมดา แต่เป็นการมองผ่านภาพถ่ายด้วยกล้องที่มีความละเอียดระดับนาโน และการมองเห็นภาพเหล่านี้ของแต่ละคน อาจมีจินตนาการที่ต่างกัน หลายคนอาจจะมองด้วยศิลปะ หลายคนอาจมองเห็นเป็นโครงสร้างของวัตถุ หลายคนอาจมองเห็นความงดงาม แต่ทั้งหลายล้วนมาจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งสิ้น

“ประโยชน์ที่จะได้จากนิทรรศการนี้จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ในการถ่ายภาพระดับนาโนว่าเป็นอย่างไร ทั้งยังแสดงให้เห็นความมหัศจรรย์ ความเป็นธรรมชาติ ของวัสดุและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เซลล์เลือด ลูกปลาที่กำลังเกิดใหม่ ตลอดจนเรื่องศิลปะในการมองภาพถ่ายบางคนอาจมองเป็นมนุษย์อวกาศ บางคนอาจมองเป็นสิ่งแปลกใหม่ก็ได้” นายสาครกล่าว

รอง ผอ.อพวช. บอกด้วยว่า อยากให้ทุกคนได้มาชมนิทรรศการภาพถ่ายชุดนี้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าวันนี้ความรู้ของเราได้เข้าไปถึงระบบเล็กที่สุด อยากกระตุ้นให้คนไทยได้เห็นว่ายังมีสิ่งรอบๆ ตัวเราหลายอย่างที่เราอาจไม่รู้และยังมองไม่เห็นอีกมากมาย

นิทรรศการชุด “ท่องโลกวิทยาศาสตร์:ความลับในโลกนาโน” จัดแสดงโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วม สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29 มี.ค. - 31 พ.ค. 54 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์ กรุงเทพฯ เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 10.30- 19.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม.
ชื่อภาพ “โจมตีเซลล์” เป็นภาพที่อยู่ในหมวดของจุลินทรีย์  ซึ่งภาพนี้นิสเซอเรีย ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคโกโนเรีย (หนองใน) จำนวนมากติดอยู่กับผิวของเซลล์อิพิเธเลียม และกำลังบุกเข้าไปภายในเซลล์
ชื่อภาพ “เส้นขนบอกความแตกต่าง” ภาพจากหมวดของโครงสร้างพืช ซึ่งเส้นขนของใบไม้ช่วยบ่งบอกได้ดีถึงผลกระทบจากการกลายพันธุ์ที่มีต่อการทำงานของยีน
ชื่อภาพ “แมลงวันเกาะอยู่ได้อย่างไร” ภาพจากหมวดของโครงสร้างสัตว์ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแสดงภาพแมลงวันที่อยู่ในตระกูลแมลงวันผลไม้ ปลายขาของมันมีปุ่มเนื้อที่ยืดหยุ่นมากมาย ปุ่มเหล่านี้จะงอกได้ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนขาให้เข้ากับลักษณะพื้นผิวต่างๆได้เป็นอย่างดี
ชื่อภาพ “ตัวอ่อนปลา” ภาพนี้ดูเหมือนมนุษย์ต่างดาว คือตัวอ่อนของปลาม้าลายที่มีอายุ 4 วัน หลังจากปฏิสนธิตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่และว่ายน้ำอย่างอิสระ
ชื่อภาพ “เลือดข้นกว่าน้ำ” จากหมวดของเซลล์มนุษย์ ในเลือดมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดหลายชนิด เม็ดเลือดแดง (สีแดง) มีรูปร่างเป็นแผ่นเว้าสองข้าง ทำหน้าที่ลำเลียงอาหารและออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่เม็ดเลือดขาว (สีขาว) มีขนาดค่อนข้างเล็ก มีหน้าที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน  และเกล็ดเลือด (สีเขียว) ทำหน้าที่ช่วยสมานแผลมีรูปร่างเป็นแผ่นกลม
ชื่อภาพ “การรบกวนระดับนาโน” จากหมวดของเคมีและวัสดุศาสตร์  หากเราโยนหินสองก้อนพร้อมกันลงไปในผืนน้ำนิ่ง  ณ ตำแหน่งใกล้กันจะก่อให้เกิดคลื่นซ้อนทับ
ชื่อภาพ “หลุมดำกับลำแสง” จากหมวดของฟิสิกส์และดาราศาสตร์ กาแล็กซี่ระบบดาวคู่ ประกอบด้วยดาวยักษ์ขนาดมหึมา ซึ่งโคจรอยู่รอบหลุมดำ และหลุมดำนี้จะดูดกลืนก๊าซที่ปล่อยออกมาจากดาวยักษ์ พลังงานที่ถูกปล่อยออกมาจะเหวี่ยงก๊าซจำนวนเล็กน้อยไปสู่อวกาศ ในรูปลำแสงสองลำที่มัดเป็นเกลียวเรียกว่า “เจ็ต” ภาพนี้แสดงให้เห็นลำแสงเจ็ตหนึ่งในสองลำ
นิทรรศการภาพถ่ายวิทยาศาสตร์ระดับนาโนชุด “ท่องโลกวิทยาศาสตร์:ความลับในโลกนาโน” ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์ สามย่าน
นางสาวเอลเค่ ทีดท์ ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมและข่าวสารสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผอ.อพวช. กล่าวว่า ภาพถ่ายที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ เป็นผลการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ของนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันมักซ์-พลังก์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
นายสาคร ชนะไพฑูรย์(ซ้าย) พานางสาวเอลเค่ ทีดท์ (ขวา) เดินชมนิทรรศการชุดท่องโลกวิทยาศาสตร์:ความลับในโลกนาโน” ในวันที่ 29 มี.ค. 54
กำลังโหลดความคิดเห็น