ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัยม.ขอนแก่น พบขมิ้นชัน มีสารเคอร์คูมิน ยับยั้งมะเร็งท่อน้ำดีได้ ระบุผลทดลองกับหนู ที่ให้กินอาหารผสมสารเคอร์คูมิน พบสามารถชะลอการเกิดมะเร็ง ขนาดก้อนมะเร็งลดลง ทั้งจำนวนหนูตายลดลงด้วย ชี้เกิดประโยชน์ต่อชาวอีสานที่ชอบกินปลาดิบ เสี่ยงเกิดมะเร็งท่อน้ำดี แนะเลิกพฤติกรรมกินปลาดิบดีที่สุด
รศ.ดร.สมชาย ปิ่นละออ อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “ ผลของเคอร์คูมินต่อการสร้างหลอดเลือดในโรคมะเร็งท่อน้ำดี ที่สัมพันธ์กับโรคพยาธิใบไม้ตับในสัตว์ทดลอง”ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.)
การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ของ ดร.สุขสันติ ประกอบวงษ์ ผู้ทำการศึกษาวิจัยโดยได้รับทุนการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)และได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากทุนอุดหนุนการวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้ CCA Array Project และทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)และผลงานวิจัยเรื่องนี้ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติจำนวน 2 เรื่อง
รศ.ดร.สมชาย ปิ่นละออ เปิดเผยว่า กระบวนการทดลอง เริ่มตั้งแต่ นำปลามาจากแหล่งน้ำจืดที่มีการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับ นำปลาวงศ์ปลาตะเพียนมาบด แล้วย่อยด้วยเอนไซม์เปปซิน จากนั้นนำมากรองและแยกเอาเฉพาะเมตาเซอร์คาเรีย (metacercaria) ซึ่งเป็นระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับ นำมาตรวจ เพื่อแยกชนิดและนับจำนวนภายใต้กล้องจุลทรรศน์
เมื่อได้ระยะติดต่อแล้ว นักวิจัยจะนำมาป้อนหนูทดลอง ร่วมกับการให้สารก่อมะเร็งความเข้มข้นต่ำ เพื่อเหนี่ยวนำให้หนูเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี หลังจากนั้นจะแบ่งหนูออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่ให้กินอาหารปกติทั่วไป
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือหนูที่กินอาหารผสมสารเคอร์คูมินบริสุทธิ์จากขมิ้นชัน 97% โดยเอาเคอร์คูมินที่ละลายด้วยน้ำมันข้าวโพดก่อน แล้วนำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดีกับอาหารหนูอัดเม็ดที่บดให้ละเอียด เตรียมให้ได้ความเข้มข้นของเคอร์คูมินสุดท้ายเป็น 1% ในหนูทดลองทั้ง 2 กลุ่ม ก็มีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆในระยะต่างๆกันตามกระบวนการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีในสัตว์ทดลอง คือวันที่ 21 และเดือนที่ 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ตามลำดับ
แล้วฆ่าหนูตามระยะเวลาเปรียบเทียบกัน พบว่า หนูกลุ่มที่กินอาหารผสมเคอร์คูมินสามารถชะลอการเกิดมะเร็ง จำนวนหนูตายลดลง และขนาดของก้อนมะเร็งก็ลดลงได้ นอกจากนี้ในการทดลองในหลอดทดลองพบว่า เคอร์คูมินมีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีเพาะเลี้ยงจากมนุษย์ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม สารเคอร์คูมินมีคุณสมบัติไม่ละลายในน้ำ ดังนั้นการดูดซึมจึงไม่ดีพอ รวมทั้งไม่สามารถคงตัวอยู่ได้นานในกระแสเลือด รศ.ดร.สมชาย ปิ่นละออได้ร่วมมือกับ นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาให้เป็นนาโนเคอร์คูมิน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัย หากได้ผลการทดลองที่ดี ในอนาคตจะพัฒนานำมาใช้ในมนุษย์ต่อไป
ถึงแม้ว่านักวิจัยจะค้นพบสารเคอร์คูมินที่ช่วยยับยั้งโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่จะสามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีของภาคอีสานได้นั้น ประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการป้องกันตนเอง ให้ห่างไกลจากโรคพยาธิใบไม้ตับ ที่เสี่ยงเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งท่อน้ำดี ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการกินใหม่ ไม่กินปลาดิบ หรือ กินอาหารสุกๆดิบๆ
จากข้อมูลพบว่าบางคนมีความเชื่อที่ผิดๆ โดยเชื่อว่าถ้ากินดิบและเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับแล้ว มียาที่สามารถรักษาพยาธิได้ผลดี โดยการกินยาถ่ายพยาธิตาม ก็จะหายขาดจากโรคแล้วสามารถกลับมากินปลาดิบได้ใหม่ แต่ผลการศึกษาวิจัยพบว่า รอยโรคที่เกิดขึ้นภายในท่อน้ำดีจากการติดเชื้อพยาธินั้นยังคงอยู่ และรอยโรคที่คงอยู่นี้ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีตามมาได้