xs
xsm
sm
md
lg

12 พ.ค.ชวนดู “ดาวศุกร์” เคียง “ดาวพฤหัส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปราชญ์ชาวบ้านชวนดู “ดาวศุกร์” เคียง “ดาวพฤหัส” ปรากฏการณ์หาดูไม่ง่าย พร้อมการชุมนุมของดาวเคราะห์อีก 2 ดวงคือ ดาวพุธและดาวอังคาร บนท้องฟ้าตอนเช้ามืดวันที่ 12 พ.ค.

วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ชาวบ้านจาก จ.ฉะเชิงเทรา แจ้งแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า จะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสในเช้ามืดวันที่ 12 พ.ค. ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก นอกจากนี้ยังได้เห็นดาวเคราะห์อีก 2 ดวงคือ ดาวพุธ และดาวอังคาร โดยมีรายละเอียดของปรากฏการณ์ ดังนี้

เช้ามืดวันที่ 12 พ.ค.2554 ทางขอบฟ้าทิศตะวันออก จะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดีในระยะใกล้มากห่างเพียง 37 ลิปดา 51 ฟิลิปดา และยังมีดาวพุธอยู่ในกลุ่มด้วยโดยดาวพุธอยู่ใกล้ดาวศุกร์ในระยะ 1 องศา 30 ลิปดา 08 ฟิลิปดา และอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีในระยะ 2 องศา 3 ลิปดา 13 ฟิลิปดา

ดาวเคราะห์ 3 ดวงที่จะเกาะกลุ่มขึ้นจากขอบฟ้าใกล้เคียงกัน โดยดาวพฤหัสบดีขึ้นจากขอบฟ้าก่อนเวลา 04.21 น.ด้วยความสว่าง -2.07 อยู่ในกลุ่มดาวปลา (Pisces) ตามมาด้วยดาวศุกร์ซึ่งขึ้นพ้นขอบฟ้าเป็นดวงที่สอง เวลา 04.24 น.ด้วยความสว่าง -3.89 อยู่ในกลุ่มดาวปลา (Pisces) ส่วนดาวพุธขึ้นพ้นขอบฟ้าเป็นดวงที่สาม เวลา 04.26 น. ด้วยความสว่าง 0.30 อยู่ในกลุ่มดาวปลา (Pisces) เช่นกัน
 
ต่อมาเวลา 04.40 น. ดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าคือดาวอังคาร ก็ขึ้นตามมา ด้วยความสว่าง 1.27 อยู่ในกลุ่มดาวแกะ (Aries) โดยดาวอังคารอยู่ห่างดาวศุกร์ 5 องศา 25 ลิปดา 10 ฟิลิปดา ดาวอังคารอยู่ห่างดาวพฤหัส 5 องศา 38 ลิปดา 49 ฟิลิปดา ดาวอังคารอยู่ห่างดาวพุธ 6 องศา 5 ลิปดา 36 ฟิลิปดา

นอกจากดาวเคราะห์ทั้ง 4 ดวงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ยังมีดาวเคราะห์ดวงที่ 5 ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อยู่ในกลุ่มดาวปลาด้วยนั่นคือดาวยูเรนัสซึ่งขึ้นจากขอบฟ้ามาก่อนแล้ว โดยอยู่สูงเหนือดาวพฤหัสบดี 21 องศา 55 ลิปดา 2 ฟิลิปดา

“เช้าวันที่ 12 พ.ค.2554 ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า เวลา 05.51 น. ขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวพุธ อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันออก 21 องศา ปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดีไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่สามารถสังเกตได้เช้ามืดของ สามวัน คือ วันที่ 11, 12 และ 13 พ.ค แต่วันที่ 12 พ.ค. ดาวศุกร์ใกล้ดาวพฤหัสมากที่สุด จึงน่าติดตามชมเป็นอย่างยิ่ง” วรวิทย์ให้ข้อมูล

ปราชญ์ชาวบ้านจากฉะเชิงเทรากล่าวว่า วิธีสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ เนื่องจากปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสเกิดขึ้นที่สุดขอบฟ้าทิศตะวันออกอยู่ต่ำมาก สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ผู้สังเกตการณ์ ต้องหาที่โล่ง หรือที่สูงไม่มีอาคารบัง จึงจะพอสังเกตได้ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้ก็คือฟ้าหลัวและเมฆฝนที่มีมากในฤดูนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น