xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “การชุมนุม” ของเหล่า “ดาวเคราะห์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดวงจันทร์สว่างเด่น พร้อมกับดาวศุกร์ และดาวพฤหัสไล่ขนาดและแสงตามลำดับ หนึ่งในการชุมนุมดาวเคราะห์ที่หอดูดาวแห่งยุโรปบันทึกได้ เมื่อ 3 ธ.ค.2552 (ภาพ ESO/Y. Beletsky)
“การชุมนุม” ตามท้องถนน บนผืนดิน เพื่อรณรงค์แสดงพลังในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คงเป็นที่คุ้นเคยสำหรับเราๆ ในยุคยามนี้ ส่วน “การชุมนุม” บนท้องฟ้าของ “ดาวเคราะห์” ก็กลายเป็นเรื่องที่มนุษย์เราจับตามอง อย่างหวั่นวิตก เพราะกระแสความเชื่อที่เชื่อมโยงกับหายนะโลก

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้รับแจ้งจาก วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ดาราศาสตร์ชาวบ้านแห่ง จ.ฉะเชิงเทราว่า จะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดีในเช้ามืดวันที่ 12 พ.ค. 54 นี้ และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เรายังจะได้เห็นดาวเคราะห์อีก 3 ดวงเกาะกลุ่มขึ้นจากขอบฟ้าใกล้เคียงกัน

เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก นับเป็นส่วนหนึ่งของ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” (Conjunction) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีดาวเคราะห์ตั้งแต่ 3 ดวง มาแสดงตัวให้เห็นใกล้กันบนท้องฟ้า ในเวลาและในมุมเดียวกัน เมื่อสังเกตจากพื้นโลก

10-13 พ.ค. กำหนดนัด 5 ดาวชุมนุม

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้ระบุว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 10 -13 พ.ค.54 นี้ ถ้าเราใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ ที่มีกำลังขยายประมาณ 10 เท่า ก็จะส่องเห็น ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ ปรากฏอยู่ในเลนส์ใกล้ตาพร้อมๆ กัน ในระยะเชิงมุมห่างกันเพียง 2 องศา ตั้งแต่เวลา 5.00 น. - 5.45 น. โดยประมาณ

ทางด้าน วรวิทย์ ให้ข้อมูลว่า ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 12 พ.ค. หากมองไปทางขอบฟ้าทิศตะวันออก จะเห็นดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดีในระยะใกล้มาก ซึ่งห่างเพียง 37 ลิปดา 51 ฟิลิปดา และยังมีดาวพุธอยู่ในกลุ่มด้วย โดยดาวพุธอยู่ใกล้ดาวศุกร์ในระยะ 1 องศา 30 ลิปดา 08 ฟิลิปดา และอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีในระยะ 2 องศา 3 ลิปดา 13 ฟิลิปดา

ดาวเคราะห์ 3 ดวงนี้จะเกาะกลุ่มขึ้นจากขอบฟ้าใกล้เคียงกัน ที่กลุ่มดาวปลา โดยดาวพฤหัสบดีขึ้นจากขอบฟ้าก่อนเวลา 04.21 น. ด้วยความสว่าง -2.07 ตามมาด้วยดาวศุกร์ซึ่งขึ้นพ้นขอบฟ้าเป็นดวงที่ 2 เวลา 04.24 น.ด้วยความสว่าง -3.89 ส่วนดาวพุธขึ้นพ้นขอบฟ้าเป็นดวงที่ 3 ในเวลา 04.26 น. ด้วยความสว่าง 0.30

ต่อมาเวลา 04.40 น. ดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าคือดาวอังคารก็ขึ้นตามมา ด้วยความสว่าง 1.27 อยู่ในกลุ่มดาวแกะ ช่วงนั้นดาวอังคารอยู่ห่างดาวศุกร์ 5 องศา 25 ลิปดา 10 ฟิลิปดา, ห่างดาวพฤหัส 5 องศา 38 ลิปดา 49 ฟิลิปดา และห่างดาวพุธ 6 องศา 5 ลิปดา 36 ฟิลิปดา

นอกจากดาวเคราะห์ทั้ง 4 ดวงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว ยังมีดาวเคราะห์ดวงที่ 5 ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อยู่ในกลุ่มดาวปลาด้วย นั่นคือดาวยูเรนัส ซึ่งขึ้นจากขอบฟ้ามาก่อนแล้ว โดยอยู่สูงเหนือดาวพฤหัสบดี 21 องศา 55 ลิปดา 2 ฟิลิปดา

“เช้าวันที่ 12 พ.ค.2554 ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า เวลา 05.51 น. ขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวพุธ อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันออก 21 องศา ปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดีไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่สามารถสังเกตได้เช้ามืดของ 3 วัน คือ วันที่ 11, 12 และ 13 พ.ค. แต่วันที่ 12 พ.ค. ดาวศุกร์ใกล้ดาวพฤหัสมากที่สุด จึงน่าติดตามชมเป็นอย่างยิ่ง” วรวิทย์ให้ข้อมูล

ปราชญ์ชาวบ้านจากฉะเชิงเทรายังได้แนะนำวิธีสังเกตว่า แม้จะเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็ต้องหาที่โล่ง หรือที่สูงไม่มีอาคารบัง เนื่องจากปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นที่สุดขอบฟ้าทิศตะวันออก อยู่ต่ำมาก อีกทั้งอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้ก็คือฟ้าหลัวและเมฆฝนที่มีมากในฤดูนี้

27-30 พ.ค. จัดประชุม 5 ดวงเรียงตัว

นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน พ.ค. คือระหว่างวันที่ 27-30 พ.ค. เราก็ยังจะสามารถสังเกตปรากฏการณ์ ดาวเคราะห์เรียงตัวกันจนเกือบจะเป็นเส้นตรงบนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก เรียงลำดับลงมาจากด้านบนสุด คือดาวยูเรนัส (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) ดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร ดาวศุกร์ และดาวพุธ ซึ่งอยู่ต่ำสุด

ทั้งนี้ สดร.ได้ให้ข้อมูลว่า ตลอด 4 วันสุดท้ายของเดือน จะมีดวงจันทร์ข้างแรม ซึ่งเป็นเสี้ยวเล็กๆ ปรากฏอยู่ในแนวการเรียงตัวกันของดาวเคราะห์ โดยเฉพาะวันที่ 29-30 พ.ค. ดวงจันทร์จะเป็นเสี้ยวบางๆ ใกล้กับดาวพฤหัสบดี หากท้องฟ้าปลอดโปร่งจะสามารถมองเห็น “เอิร์ธไชน์” (Earthshine) หรือแสงโลกบนพื้นผิวด้านมืดของดวงจันทร์ด้วย

ต่างดาวต่างโคจร ยากนักจะเจอกัน

อย่างไรก็ดี ปรากฎการณ์ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” ถือเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์ไทยอธิบายว่า เพราะดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ มีวงโคจรและระนาบต่างกัน ดังนั้นโอกาสที่ดาวเคราะห์ 3 ดวง จะมาเรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยไม่เบี่ยงเบนออกจากแนวเส้นตรงที่เชื่อมกันเลยนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ หรือเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง

ทั้งนี้ โดยทั่วไป ผู้คนอาจเรียกปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” ว่า เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน นอกจากนี้ “ดาวเคราะห์เรียงตัว” ก็อาจใช้กับกรณีที่ดาวเคราะห์หลายดวงปรากฏบนท้องฟ้าในเวลาเดียวกัน ไม่คำนึงว่ามันทำมุมห่างกันกี่องศา เพียงแต่สามารถมองเห็นได้พร้อมกันบนท้องฟ้าก็เป็นอันใช้ได้

ข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์ยังระบุอีกว่า โดยปกติดาวเคราะห์ชุมนุม จะใช้กับดาวเคราะห์ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า และอาจเป็น 3 กรณี คือประกอบด้วยดาวเคราะห์ 3 ดวง, 4 ดวง และ 5 ดวง โดยดาวเคราะห์ชุมนุม 3 ดวงนั้นเกิดขึ้นบ่อยที่สุด

เมื่อเปิดดูข้อมูลช่วงปี พ.ศ.2523-2593 พบว่า มีดาวเคราะห์ชุมนุมแบบ 3 ดวงในระยะห่างกัน 5 องศา เกิดขึ้น 41 ครั้ง ส่วนการชุมนุมแบบ 4 ดวงในช่วง พ.ศ. 544-4043 นั้นเกิดขึ้น 40 ครั้ง

ขณะที่ดาวเคราะห์ชุมนุม 5 ดวงแบบมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้ห่างกันภายในระยะ 10 องศาก็เกิดขึ้นยากมาก โดยนับตั้งแต่ พ.ศ.544-5543 มีเพียง 5 ครั้ง

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมและดาวเคราะห์เรียงตัวกันนี้ เป็นเพียงมุมปรากฏบนท้องฟ้า ส่วนในมุมที่มองจากอวกาศ จะพบว่าดาวเคราะห์ไม่ได้เรียงกันเป็นเส้นตรงแต่อย่างใด ตามคำอธิบายของ สดร. ซึ่งดาวเคราะห์แต่ละดวงก็จะกระจายอยู่ตามวงโคจรของดาวดวงนั้นๆ

ถึงแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เหตุการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมนี้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติในทางดาราศาสตร์.
จำลองมุมมองดาวเคราะห์ชุมนุมวันที่ 12 พ.ค.54 (ภาพ สดร.)
ดาวเคราะห์ 5 ดวงเรียงตัวกันแนวทแยง มีดวงจันทร์ร่วมด้วย ในวันที่ 29 พ.ค.54  (ภาพ สดร.)
เอิร์ธไชน์บนดวงจันทร์ขณะเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดี เมื่อ 29 ธ.ค.51  (ภาพ สดร.)
บรรยากาศท้องฟ้าก่อนรุ่งสางในวันที่ 1 พ.ค.54 ที่หอดูดาวแห่งยุโรปในพารานัล ชิลี มีดาวชุมนุมกันถึง 5 ดวง มีดวงจันทร์สว่างที่สุด ส่วนเหล่าดาวเคราะห์ไล่จากขอบฟ้าด้านล่างขึ้นบนคือ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวพุธ และดาวศุกร์ ที่เรียงตัวกันเป็นแนว แต่ไม่ตรง (ภาพ G.Hüdepohl (atacamaphoto.com)/ESO)
กำลังโหลดความคิดเห็น