xs
xsm
sm
md
lg

แต่ละตัว “เลขไทย” เทียบได้กับ “ดาว” อะไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนัทถฤษ ยอดราช หรือ นัท นักเรียนชั้น ม. ๖  ร.ร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย จ.นครปฐม หนึ่งในทีมจัดนิทรรศการ “เลขไทย : รู้จัก – เขียนไม่ได้ - นึกไม่ถึง?” อธิบายเปรียบเทียบจิตนาการ “เลขไทย” กับ “ดาว”  ซึ่งบอกว่าเลข   “๒”   นั้นเป็นตัวแทนแห่งดวงจันทร์ ผูกพันกับความแปรปรวน  มีส่วนคล้ายสามและแปด
ยุคสมัยเปลี่ยนไป เรื่องของการใช้ “ตัวเลข” จำเป็นต้องใช้ตามสากลด้วย เพื่อง่ายต่อการติดต่อสื่อสาร ในทางกลับกันเลขไทยที่เป็น “เอกลักษณ์ประจำชาติไทย” ที่คุณอาจจำไม่ได้ว่า ใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? หรือเห็นที่ไหนในชีวิตประจำวันบ้าง? นับวันเลขไทยที่เป็นความภาคภูมิใจเริ่มจะจางหาย และห่างไกลจากสังคมไทยไปทุกที

“นัท” นายนัทถฤษ ยอดราช นักเรียนชั้น ม.๖ ร.ร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย จ.นครปฐม หนึ่งในทีมจัดนิทรรศการ “เลขไทย : รู้จัก - เขียนไม่ได้ - นึกไม่ถึง?” ซึ่งเป็นผลงานที่ชนะเลิศจากโครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธ์สยามครั้งที่ ๑ (Young Muse Project) ได้จินตนาการเปรียบเทียบ “เลขไทย” กับ “ดาว” ให้กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ผ่านนิทรรศการชุดนี้ ไล่จาก ๐-๙ เป็นลักษณะของดาวต่างๆ ตามตำราโบราณ

เลข “๐” กลลวงแห่งความว่างเปล่า บางทีดูไร้ค่า บางคราวดูน่าฉงน วกวนราวกับ "ดาวมฤตยู"

เลข “๑” ขดก้นหอย สัญลักษณ์ศูนย์อำนาจสั่ง "ดวงอาทิตย์" แห่งภพจักรวาล

เลข “๒” ตัวแทนแห่ง "ดวงจันทร์" ผูกพันกับความแปรปรวน มีส่วนคล้ายทั้งสามและแปด

เลข “๓” นักสู้ผู้เข้มแข็งดุจเทพ "ดาวอังคาร" ผสมผสานรูปละม้ายคล้ายสองและเจ็ด

เลข “๔” คุณสมบัติพิเศษคือการพูด เป็น "ดาวพุธ" ช่างจ้อ ทำท่าอ้าปากกว้างห่อลิ้น

เลข “๕” จิตสูงด้วยปัญญา ขมวดปมสูงสง่าน่าเกรง เฉกเช่น "ดาวพฤหัสบดี"

เลข “๖” รูปหัวใจมีเพียงครึ่ง ทั้งรักลึกซึ้งปนเซ๊กซ์ ช่างหวั่นไหวราวกับ "ดาวศุกร์"

เลข “๗” หางยาวคล้ายเสือ ซุ่มเก็บจดจ้องรอเวลา เปรียบดุจ "ดาวเสาร์" ผู้อดทน

เลข “๘” ปกปิด มืดมิด ราวกับ "ดาวราหู" นอนหลับคุดคู้ อมพะนำความจริง

เลข “๙” เส้นหางปลายชี้ดุจสายฟ้า สุดคณาลี้ลับเหมือน "ดาวเกตุ" อยู่แสนไกลไปไม่ถึง
การออกแบบนิทรรศการเลขไทย โซนเลข ๐ ซึ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการก่อนเข้าชมด้านใน
ความพยายามเชื่อมโยงเลขไทยให้เข้ากับบริบทต่างๆ ในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ที่นัท มองว่า เลขไทยนั้นค่อยๆ เลือนหายไปจากไปจากชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นมือถือ ตั๋วหนัง กระทั่งแบบเรียนส่วนใหญ่ และปัจจุบันมีแต่การณรงค์ให้ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง แต่ไม่เห็นรณรงค์ให้คนหันมาใช้เลขไทย หรืออนุรักษ์เลขไทยเลย

หากถามว่าคนไทยเหินห่างจากเลขไทยมากไหม?

“ตอบได้เลยว่าห่างไกลมากครับ”
นัท ให้ความเห็น และบอกด้วยว่า นิทรรศการเลขไทยฯ นี้เป็นการระดมสมองกับกลุ่มเพื่อน ๖ คน ทั้งเรื่องแนวความคิดและการออกแบบนิทรรศการ

นัท เล่าให้ฟังว่า จากการศึกษาสำหรับการใช้เลขไทย ที่ยังมีในประเทศนั้นแบ่งออกเป็น ๑.ใช้เพราะความเชื่อ อาทิ มีความต้องการใช้ในทางโหราศาสตร์ ๒.ใช้เพื่อต้องการคงความเป็นเอกลักษณ์ อาทิ ธนบัตร แสตมป์ ๓.การบังคับใช้ ได้แก่ เอกสารทางราชการ ทะเบียนรถทหาร และสุดท้าย ๔. เลขไทยกับการออกแบบร่วมสมัย อาทิ นำเลขไทยมาประยุกต์ใช้กับการครบรอบ ๕๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี เป็นต้น

นัทยังบอกด้วยว่า “ผมอยากให้คนไทยได้ตระหนัก และเห็นความสำคัญของการใช้เลขไทย หากทุกคนไม่ใส่ใจ หรือคิดที่จะหยิบมันมาใช้ สุดท้ายแล้วเลขไทยจะเหลือไว้เพียงแค่ในตำราเท่านั้น” 

ไม่ต่างจาก “ครูอ้อ” นางสาวรสลิน นิรันราย อาจารย์วิชาภาษาไทย ร.ร.ทิวไผ่งาม (ภาคภาษาอังกฤษ) กรุงเทพฯ ได้พานักเรียน ชั้น ป.๑ - ป.๖ จำนวน ๑๘๗ คน มาชมนิทรรศการเลขไทยฯ และได้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า การนำนักเรียนมาชมนิทรรศการในครั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนรู้ถึงที่มาที่ไปว่า เลขไทยมีวิวัฒนาการมาจากไหน มีต้นกำเนิดมาอย่างไร แล้วในสังคมไทยได้นำเอาไปใช้ในด้านไหนอยู่บ้าง เพื่อที่จะให้นักเรียนได้ตระหนัก และเห็นความสำคัญของเลขไทย แม้ว่าเด็กอาจจะไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันก็ตามที

“ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเด็กกับเลขไทยจะห่างไกลกันมาก นิทรรศการเลขไทยฯ นอกจากให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเลขไทยได้ดีแล้ว ยังทำให้ทุกคนได้ตระหนักและเกิดการนำไปใช้ในสังคมมากขึ้นด้วย” ครูอ้อ ให้ความเห็น

ระหว่างนั้น ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้เดินสำรวจภายในนิทรรศการ “เลขไทย : รู้จัก - เขียนไม่ได้ - นึกไม่ถึง?” ณ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)  กรุงเทพฯ นิทรรศการแบ่งออกเป็น ๑๐ ส่วน เรียงไปตามจำนวนนับ ที่ใช้เลขไทยนำทาง

เริ่มที่โซนเลข ๐ จะบอกถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการก่อนเข้าชม

โซนเลข ๑ บอกเรื่องราวบรรพบุรุษของเลขไทยในดินแดนสุวรรณภูมิ ว่ามาจากไหน มากับใคร เกิดอะไรขึ้นกับยุคต่างๆ บ้าง

โซนเลข ๒ มีคำถามกระตุ้นต่อมสมองให้เลือกทางออกของความคิด อาทิ เขียนเอง หรือ ครูบังคับ , สวยดี หรือ แสร้งชม

โซนเลข ๓ บอกเรื่องราวของแต่ละประเทศ ที่อยู่คนละมุมโลก คนละวัฒนธรรม กลับมีตัวเลขคล้าย? โซนนี้จะพบกับ ตารางเปรียบเทียบเลขไทยกับเลขต่างชาติ และ เส้นทางการรับเข้ามาของเลขไทยในดินแดนสยาม

โซนเลข ๔ ชื่อโซนว่า มาลงทะเบียนกับฉันสี่ โดยให้ผู้เข้ามาชมนิทรรศการเป็นเพื่อนกับเหล่าตัวเลขไทยผ่านเฟสบุ๊ค (Facebook)

โซนเลข ๕ เป็นโซนขำขำ มีมุมมองความคิดเห็นของคนไทยในรูปแบบคลิปวิดีโอในสไตล์ขำๆ ในประเด็น “เลขไทยที่นึกถึง”

โซนเลข ๖ เป็นโซนพลิกหกผกผัน นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเลขไทยเมื่อรับเลขสากลเข้ามา

โซนเลข ๗ ความนิยมการใช้เลขไทยในปัจจุบันที่ยังมีใช้กันอยู่ในรูปแบบใดบ้าง? ทำหน้าที่อะไร? พบเงื่อนงำของประเด็นเหล่านี้ได้ในโซนนี้

โซนเลข ๘ ร้อยแปดพันเก้า มุมกิจกรรมและเกมเสริมความรู้ที่แฝงไปด้วยเรื่องเลขไทยในมุมต่างๆ

และสุดท้าย โซนเลข ๙ ก้าวต่อไปของเลขไทยจะเป็นแบบไหน โดยให้ผู้ชมนิทรรศการเข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊ค และยังมีกิจกรรม “เลขไทยตัวไหนโดนใจที่สุด” ด้วย 

สำหรับนิทรรศการชุด “เลขไทย : รู้จัก - เขียนไม่ได้ - นึกไม่ถึง?” นี้ได้จัดแสดงระหว่างวันที่ ๒-๓๐ เม.ย. ๕๔ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์) ณ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กรุงเทพฯ ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
นัท ได้อธิบายการออกแบบโซนเลข ๔ ใช้ชื่อโซนว่า “มาลงทะเบียนกับฉันสี่” โดยให้ผู้เข้ามาชมนิทรรศการเป็นเพื่อนกับเหล่าตัวเลขไทยผ่านเฟสบุ๊ค (Facebook)
ตารางเปรียบเทียบเลขไทยกับเลขต่างชาติ  อยู่ในโซนที่ ๓ ของนิทรรศการเลขไทยฯ
นายนัทถฤษ ยอดราช นักเรียนชั้น ม. ๖  ร.ร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย จ.นครปฐม หนึ่งในทีมจัดนิทรรศการ “เลขไทย : รู้จัก – เขียนไม่ได้ - นึกไม่ถึง?” ซึ่งเป็นผลงานที่ชนะเลิศจากโครงการ  ปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธ์สยามครั้งที่ ๑ (Young Muse Project)
“ครูอ้อ” นางสาวรสลิน  นิรันราย อาจารย์วิชาภาษาไทย ของ ร.ร.ทิวไผ่งาม (ภาคภาษาอังกฤษ) กรุงเทพฯ  ได้พานักเรียน ชั้น ป.๑ - ป.๖  จำนวน  ๑๘๗  คน  มาชมนิทรรศการเลขไทยฯ ด้วย
นักเรียนร.ร.ทิวไผ่งาม (ภาคภาษาอังกฤษ) กำลังชื่นชมนิทรรศการเลขไทยฯ อย่างเพลิดเพลิน
บรรยากาศของการชมนิทรรศการ “เลขไทย : รู้จัก – เขียนไม่ได้ - นึกไม่ถึง?” ของวันที่ ๒๒ เม.ย. ๕๔ โดยมีผู้เข้าร่วมชมเป็นจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น