xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ชี้ 12 พ.ค.มีปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรวิทย์   ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ไทย
ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักดาราศาสตร์แนะผู้ชื่นชมการชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติไม่ควรพลาดการชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดีที่จะเกิดขึ้นบริเวณขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกของไทย ซึ่งสามารถชมได้ด้วยตาเปล่า โดยจะมีขึ้นในช่วงเช้ามืดของวันที่ 11-13 พฤษภาคม แต่เช้ามืดวันที่ 12 จะสามารถมองเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีได้มากที่สุด

นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ไทย เผยว่า ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกของไทยจะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าติดตามนั่นก็คือปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี ในระยะห่างเพียง 37 ลิปดา 51 ฟิลิปดาและยังจะมีดาวพุธอยู่ในกลุ่มด้วย ซึ่งดาวพุธจะอยู่ใกล้ดาวศุกร์ในระยะ 1 องศา 30 ลิปดา 08 ฟิลิปดา และอยู่ใกล้ดาวพฤหัสในระยะ 2 องศา 3 ลิปดา 13 ฟิลิปดา กล่าวคือ ดาวเคราะห์ 3 ดวงจะเกาะกลุ่มขึ้นจากขอบฟ้าใกล้เคียงกัน โดยดาวพฤหัสบดีขึ้นจากขอบฟ้าก่อนเวลา 4นาฬิกา 21นาที 56 วินาที ด้วยความสว่าง-2.07 อยู่ในกลุ่มดาวปลา (Pisces)”

ส่วนดาวศุกร์จะขึ้นพ้นขอบฟ้าเป็นดวงที่สอง เวลา 4 นาฬิกา 24 นาที 6 วินาที ด้วยความสว่าง-3.89 อยู่ในกลุ่มดาวปลา (Pisces) และดาวพุธ จะขึ้นพ้นขอบฟ้าเป็นดวงที่สาม ในเวลา 4นาฬิกา 26 นาที 53 วินาที ด้วยความสว่าง 0.30 อยู่ในกลุ่มดาวปลา (Pisces) และต่อมาในเวลา 4 นาฬิกา 40 นาที ดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าคือดาวอังคาร ก็จะขึ้นตามมาด้วยความสว่าง 1.27อยู่ในกลุ่มดาวแกะ (Aries) โดยดาวอังคารอยู่ห่างดาวศุกร์ 5 องศา 25 ลิปดา 10 ฟิลิปดา ดาวอังคารอยู่ห่างดาวพฤหัสบดี 5 องศา38 ลิปดา 49 ฟิลิปดา ดาวอังคารอยู่ห่างดาวพุธ 6 องศา 5ลิปดา 36 ฟิลิปดา”

“นอกจากดาวเคราะห์ทั้ง 4 ดวงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ยังมีดาวเคราะห์ดวงที่5ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อยู่ในกลุ่มดาวปลาด้วย นั่นก็คือดาวยูเรนัส ซึ่งขึ้นจากขอบฟ้ามาก่อนแล้ว และจะอยู่สูงเหนือดาวพฤหัสบดีที่ 21 องศา 55 ลิปดา2 ฟิลิปดา”

โดยในช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้า ในเวลา 5 นาฬิกา 51นาที ซึ่งขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวพุธจะอยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันออก 21 องศา สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก โดยจะสังเกตเห็นได้เช้ามืดของ วันที่ 11, 12, 13, พฤษภาคม แต่ในวันที่ 12 พ.ค.ดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดาวพฤหัสมากที่สุด

สำหรับวิธีสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ แม้ว่าดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสจะเกิดขึ้นที่สุดขอบฟ้าทางทิศตะวันออกในลักษณะต่ำมากและสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ผู้สังเกตการณ์จะต้องหาที่โล่ง หรือที่สูงไม่มีอาคารบัง จึงจะไม่มีอุปสรรคในการมองเห็น ที่หากฟ้าหลัวและมีเมฆฝนมากก็อาจทำให้การมองเห็นไม่ดีเท่าที่ควรหรืออาจทำให้มองไม่เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น