xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวที่ 2 “บอลลูนเยาวชนไทย” สู่ขอบอวกาศ วัดรังสีที่บรรยากาศชั้นบน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก้าวที่ 2 ในการปล่อยบอลลูนของทีมทีเอสอาร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนมากขึ้นและมี สทอภ.เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ และระหว่างสูบก๊าซฮีเลียมให้บอลลูน ชิโนรส บุญเจิม เจ้าหน้าที่จาก สทอภ.ได้มาช่วยออกแรง (พรชัย อมรศรีจิรทร)
ก้าวแรกของพวกเขาคือการรวมกลุ่มของคนที่อยากจะเข้าร่วมโครงการอวกาศด้วยต้นทุนต่ำ ล้มลุกคลุกคลานจนในที่สุด “บอลลูน” ลูกแรกลอยขึ้นสู่บรรยากาศชั้นบนและเก็บกู้กลับมาได้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเมื่อถึงก้าวที่ 2 จึงมีแรงสนับสนุนให้พวกเขาพร้อมที่จะก้าวไปได้ไกลขึ้น

บอลลูนลูกแรกของ กลุ่มทีเอสอาร์ (Thailand Near Space Research Group: TSR) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันจากสังคมออนไลน์เพื่อร่วมกันศึกษาขอบอวกาศ ถูกปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศชั้นสูงเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา และน่าจะเป็นบอลลูนลูกแรกของไทยที่ถูกส่งขึ้นไปศึกษาขอบอวกาศ อีกยังเป็นครั้งแรกของโลกที่ปล่อยบอลลูนขึ้นไปแล้วสามารถบอกตำแหน่งปัจจุบัน ของบอลลูนได้ทันทีผ่านการสื่อสารด้วยวิทยุ

ผ่านมา 4 เดือนเต็มบอลลูนลูกที่ 2 ของพวกเขาได้ขึ้นไปสัมผัสขอบอวกาศอีกครั้ง คราวนี้ไปด้วยสถิติใหม่ที่ดีกว่าเดิม และยังได้ผู้สนับสนุนรายใหญ่เป็น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ทั้งประสบการณ์ความพลาดจากครั้งก่อนและการสนับสนุนที่มากขึ้น การทดลองครั้งนี้จึงมีความพร้อมมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

“เราเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่สนใจปล่อยบอลลูน เราอยากมีส่วนร่วมในการทำโครงการอวกาศ แต่โครงการอวกาศใช้งบประมาณเป็นพันล้าน แล้วเราจะทำได้อย่างไร ก็พยายามค้นหาโครงการอวกาศที่เราทำได้เอง นั่นคือการปล่อยบอลลูนสู่บรรยากาศชั้นสูง หรือขอบอวกาศ โดยใช้บอลลูนฮีเลียมซึ่งสามารถที่จะยกอุปกรณ์ขึ้นไปได้ด้วย เราได้พิสูจน์ว่าคนเล็กๆ อย่างคนไทยก็ทำโครงการอวกาศได้” พลกฤษณ์ สุขเฉลิม สมาชิกน้องเล็กสุดในทีมที่กำลังจะก้าวสู่ชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ครั้งแรกที่พวกเขาเลือกปล่อยบอลลูนเกิดขึ้นที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เมื่อ 19 ธ.ค. ปีก่อนด้วยเหตุผลว่าเป็นตำแหน่งที่อยู่กลางประเทศและไม่ต้องกังวลว่าบอลลูนจะลอยตก ไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีเหตุผลที่ดีแล้วแต่จุดปล่อยบอลลูนครั้งนั้นยังทำให้พวกเขา “หวาดเสียวมาก” เพราะทำเลที่เลือกอยู่ใกล้ทั้งเขาและเขื่อน ซึ่งมีโอกาสที่การเก็บกู้บอลลูนจะล้มเหลว โชคดีที่ครั้งนั้นบอลลูนไปตกยังบ้านเรือนของชาวบ้านใน จ.เพชรบูรณ์ เพื่อลดโอกาสล้มเหลวในการเก็บกู้ คราวนี้พวกเขาเลือกทำเลใหม่เป็นโรงเรียนอุสาหะวิทยา ต.ช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งไม่มีเขื่อน ไม่มีเขาให้พวกเขาหวาดเสียว และยังมีโอกาสมากที่บอลลูนจะตกในพื้นราบ

มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไปในการทดลองบอลลูนครั้งนี้ 24 เม.ย.54 ทั้งกล้องบันทึกวิดีโอที่เปลี่ยนจากกล้องมินิแคมเปลี่ยนเป็นกล้องความ ละเอียดสูงเอชดี (HD) ทั้งการติดตั้งระบบส่งสัญญาณจีพีเอสแบบใหม่ มีการพัฒนาอุปกรณ์ดิจิทัลในการสื่อสารกับบอลลูนที่สามารถสั่งได้หากลอยออกไป ในเขตประเทศเพื่อนบ้าน มีระบบสำรองในการส่งข้อมูลจีพีเอสผ่านสัญญาณวิทยุเพื่อระบุพิกัดตำแหน่งและ ความสูงของบอลลูน ในครั้งนี้ยังดาวน์โหลดข้อมูลความดัน ความชื้น อุณหภูมิจากบอลลูนลงสถานีภาคพื้นได้ ซึ่งครั้งก่อนที่ต้องเก็บกู้บอลลูนก่อนจะได้ข้อมูล

สำหรับการทดลองที่เรียกได้ว่าเป็น “พระเอก” ของงานนี้คือการวัดรังสีในบรรยากาศชั้นสูง ครั้งก่อนทีมทีเอสอาร์ส่งเมล็ดพืชขึ้นไปกับบอลลูนเพื่อดูว่าเมื่อเมล็ดพืชได้รับรังสีแล้วจะกลายพันธุ์หรือเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ ครั้งนี้พวกเขาได้ส่งอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีสะสมสำหรับตรวจวัดรังสีแกมมาและอนุภาค นิวตรอน ซึ่งได้รับอนุเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นไปด้วย ผลที่ได้จะนำมาเปรียบเทียบกับอุปกรณ์ตรวจวัดที่พื้นโลก และยังได้ส่งเมล็ดพืชล้มลุก 2 ชนิด คือ แพงพวยและหยาดน้ำค้าง ขึ้นไปกับบอลลูนเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น

อุปกรณ์ทั้งหมดถูกบรรจุลงกล่องโฟม 3 ชิ้นรวมเป็นสัมภาระหนัก 1 กิโลกรัมซึ่งถูกปล่อยไปพร้อมกับบอลลูนเมื่อเวลา 12.11 น.ของวันที่ 24 เม.ย.54 ท่ามกลางความสนใจของครู-นักเรียนโรงเรียนอุตสาหะวิทยาและประชาชนในพื้นที่ โดยรอบ แต่เมื่อบอลลูนขึ้นไปสูง 18 กิโลเมตร ระบบจีพีเอสก็หยุดส่งพิกัดลงมา ซึ่งเป็นปกติของอุปกรณ์จีพีเอสเพื่อป้องกันการส่งจรวดขีปนาวุธ แต่ทีมงานยังคงได้รับข้อมูลอุณหภูมิและความดันที่บ่งชี้ว่าบอลลูนยังคงลอย สูงขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งที่ทำได้คือรอให้บอลลูนแตกแล้วตกกลับลงมาที่ความสูง 18 กิโลเมตร ซึ่งบอลลูนจะส่งข้อมูลอีกครั้ง แล้วจึงเริ่มตามเก็บกู้บอลลูนเมื่อความสูงลดลงเหลือประมาณ 15 กิโลเมตร

ทั้งนี้ บอลลูนจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนที่เบาบางลงเรื่อยๆ ตามระดับความสูง เมื่อถึงจุดหนึ่งบอลลูนจะที่อัดก๊าซจนเต็มจะขยายตัวจนระเบิด และตกสู่พื้นดินอย่างช้าๆ โดยการพยุงของร่มชูชีพ การติดตามและเก็บกู้บอลลูนครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากสัญญาณของบอลลูนที่สุดทีมงานและคณะติดตามได้พบบอลลูนติดอยู่ กิ่งไม้ กลางทุ่งนาบริเวณรอยต่อ ต.ห้วยหอม และ ต.ราชทิพรส อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดปล่อยประมาณ 11.8 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นระยะที่ใกล้มากและบ่งชี้ว่าลมบนค่อนข้างนิ่ง ขณะที่ครั้งแรกบอลลูนลอยไปตกไกล 50-60 กิโลเมตร

ข้อมูลคลิปที่เก็บกู้มาได้ระบุว่าบอลลูนแตกหลังจากปล่อยแล้ว 1 ชั่วโมง 32 นาที 50 วินาที และคำนวณคร่าวๆ ได้ว่าบอลลูนขึ้นไปสูง 25 กิโลเมตร ซึ่งแม้จะต่ำกว่าความสูงที่ตั้งใจคือ 30 กิโลเมตร แต่ทีมงานก็พอใจในผลงานที่ได้ โดยความสูงสุดในการบอลลูนที่มีคนทำได้อยู่ราวๆ 40 กิโลเมตร

วัลลภ ทองดอนง้าว (ปอม) สมาชิกทีมทีเอสอาร์ซึ่งผิดชอบในส่วนของการพัฒนาเสาอากาศติดตามทิศทางบอลลูน และสถานีรับข้อมูลภาคพื้น กล่าวถึงการเตรียมแผนเพื่อเก็บกู้บอลลูนว่ามีแผนสำรอง 3 ระบบ คือ 1.ระบบในการส่งพิกัดจีพีเอสแบบดิจิทัล 2.ระบบวิทยุสมัครเล่น และระบบติดตามสัญญาณจีเอสเอ็มจากซิมโทรศัพท์มือถือ กรณีเลวร้ายที่สุดหากทั้ง 3 ระบบไม่สามารถทำงานได้ พวกเขาได้ติดหมายเลขโทรศัพท์ให้ผู้ที่พบเจอกล่องอุปกรณ์ติดต่อกลับมา

การปล่อยบอลลูนครั้งนี้ภารกิจหนักตกอยู่ที่สมาชิก 2 คนที่เหลือคือ จักรกฤษ เอี่ยมสวัสดิ์ และ ณัฐพงษ์ วงศ์เฟื่องฟูถาวร หัวหน้าโครงการส่งบอลลูนขึ้นสู่ขอบอวกาศครั้งที่ 2 (TSR THAI-2 High Altitude Balloon) โดยจักรกฤษรับผิดชอบในส่วนของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ส่วนณัฐพงษ์รับผิดชอบในการเขียนโปรแกรมให้แก่ฮาร์ดแวร์ โดยเขาบอกว่าสิ่งที่หนักใจคือหลายหัวข้อเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเองและเป็น เรื่องที่คนอื่นไม่ค่อยทำ จึงหาข้อมูลไม่ได้ในบางครั้ง โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องวงจร

ชิโนรส บุญเจิม รักษาการหัวหน้ากลุ่มเครือข่าวพันธมิตรทางธุรกิจ สทอภ. ซึ่งสนใจและติดตามผลงานของทีมทีเอสอาร์มาตั้งแต่โครงการแรก จึงได้นำผลงานของพวกเขาไปปรึกษากับผู้ใหญ่ของสำนักงานเพื่อให้การสนับสนุน และได้รับการอนุมัติ โดยได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการ 85,000 บาท ซึ่งเขาบอกว่าเป็นงบประมาณที่น้อยมากสำหรับโครงการอวกาศ และผลการทดลองในครั้งนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้จะมีเหตุขัดข้องบ้าง แต่การส่งบอลลูนแล้วสามารถเก็บกู้กลับมาได้นั้นถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

หลังจากนี้จะมีการวิเคราะห์ผลการวัดระดับรังสีในบรรยากาศชั้นสูงซึ่งต้องส่ง อุปกรณ์ตรวจวัดไปทดสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสรุปผลการดำเนินโครงการต่อไป ขณะเดียวกันชิโนรสกล่าวถึงโครงการส่งบอลลูนครั้งหน้าคร่าวๆ ว่า ทาง สทอภ.จะจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับบอลลูน โดยให้ทีมทีเอสอาร์ดูแลเรื่องการปล่อยบอลลูนต่อไป

ติดตามภารกิจของทีมทีเอสอาร์ได้ที่ tsrlab.com





ชมคลิปจากกล้องที่ติดไปกับบอลลูน แสดงภาพขณะปล่อยบอลลูนลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจนกระทั่งบอลลูนแตกและตกกลับสู่พื้น





คลิปวิดิโอตัดต่อโดย นพ.สมนึก ตปนียวรวงศ์



จักรกฤษ เอี่ยมสวัสดิ์ (ขวา) กำลังติดตั้งฮาร์ดแวร์ลงกล่องสัมภาระ (พรชัย รังษีธนะไพศาล)
สถานีติดตามบอลลูนภาคพื้น (พรชัย รังษีธนะไพศาล)
สัมภาระ 3 ชิ้น หนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งผูกติดไปกับบอลลูน (พรชัย รังษีธนะไพศาล)
จักรกฤษ เอี่ยมสวัสดิ์ (ซ้าย) ณัฐพงษ์ วงศ์เฟื่องฟูถาวร (กลาง) และ วัลลภ ทองดอนง้าว(ขวา) ช่วยกันติดตั้งอุปกรณ์ในกล่องสัมภาระ (นายพรชัย อมรศรีจิรทร)
ขั้นตอนสูบลมให้บอลลูน (นายพรชัย อมรศรีจิรทร)
เด็กๆ และชาวบ้านระแวกใกล้เคียงจุดปล่อยบอลลูนให้ความสนใจโครงการปล่อยบอลลูนสู่อวกาศ (นายพรชัย อมรศรีจิรทร)
เริ่มปล่อยบอลลูนตอน 12.19 น.ของวันที่ 24 เม.ย.54 (นายพรชัย อมรศรีจิรทร)
บอลลูนลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า (นายพรชัย อมรศรีจิรทร)
ตามเก็บกู้บอลลูน ขณะบอลลูนเริ่มรอ่นลงมาให้เห็น (นายพรชัย อมรศรีจิรทร)
ทีมงานและผู้ติดตามพบจุดตกของบอลลูน (นายพรชัย อมรศรีจิรทร)
สมาชิกทีมทีเอสอาร์ไปถึงจุดตกของบอลลูน (ซ้ายไปขวา) วัลลภ ทองดอนง้าว, จักรกฤษ เอี่ยมสวัสดิ์ ,พลกฤษณ์ สุขเฉลิม และ ณัฐพงษ์ วงศ์เฟื่องฟูถาวร (นายพรชัย อมรศรีจิรทร)
กำลังโหลดความคิดเห็น