xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์หลากสาขาร่วมวิจัยคอนเฟิร์ม "อุกกาบาตล้างโลก ทำไดโนเสาร์สูญพันธุ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพกราฟิกจำนวนเหตุการ์ณอุกกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อ 6.5 ล้านปีก่อน (เอเอฟพี)
หลังจากที่มีความพยายามล้มล้างทฤษฎีไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะ “อุกกาบาตล้างโลก” นั้น ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ 41 ชีวิตจากหลายสาขา ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลกันอีกครั้ง และเผยหลักฐานเพื่อยืนยันว่าอุกกาบาตที่เม็กซิโกนั้น เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 65 ล้านปีก่อน

เมื่อปี 2523 หลุยส์ อัลวาเรซ (Louis Alvarez) พร้อมลูกชาย วอลเตอร์ อัลวาเรซ (Walter Alvarez) ตีพิมพ์ผลงานวิจัยระบุว่า การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนหรือที่เรียกว่าการสูญพันธุ์ยุคครีตาเชียส-เทอร์ทิอารี (Cretaceous-Tertiary:KT) นั้น เป็นผลมาจากการพุ่งชนของอุกกาบาต

อีกทั้ง หลุมอุกกาบาตที่คาดว่าเป็นหลักฐานของการพุ่งชน ได้ถูกค้นพบต่อมาภายหลัง ณ ชิคซูลูบ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับเชิงวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ดี เอพีระบุว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นมีข้อเสนอว่า การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์อาจมีสาเหตุจากการระเบิดของภูเขาไฟหลายๆ ลูกในบริเวณที่ปัจจุบันคือเมืองเดคคันแทรปส์ ประเทศอินเดีย หรืออาจจะเกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตหลายๆ ลูก จึงเป็นเหตุให้นักวิทยาศาสตร์ 41 คน ซึ่งมีทั้งนักธรณีวิทยา นักบรรพชีวินวิทยา และนักวิจัยสาขาอื่นๆ มารวมตัวกันเพื่อทบทวนข้อมูลใหม่อีกครั้ง

ผลจากการทบทวนหลักฐานที่เชื่อถือได้ตลอด 20 ปี ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปและยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า อุกกาบาตขนาดใหญ่ราว 15 กิโลเมตร ได้พุ่งชนบริเวณที่ปัจจุบันคือชิคซูลูบในเม็กซิโก และเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตมากกว่าครึ่งของโลกสูญพันธุ์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ปูทางให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลายเป็นสปีชีส์ที่ครองโลกในเวลาต่อมา

“เชื่อว่าอุกกาบาตที่พุ่งชนโลกนั้น แรงกว่าระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮิโรชิมาถึงพันล้านเท่า มันน่าจะระเบิดสสารในบรรยากาศชั้นสูง ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องที่เป็นสาเหตุให้เกิดฤดูหนาวไปทั่วโลก และขจัดสิ่งมีชีวิตบนโลกไปจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่วัน” รายงานของนักวิจัยซึ่งระบุไว้ในวารสารไซน์ (Science) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 41 คน คาดหวังว่าสิ่งที่พวกเขาค้นพบนั้นจะหยุดการถกเถียงว่าอะไรเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ในยุค ครีตาเชียส-เทอร์ทิอารี

สำหรับคำถกเถียงว่า สาเหตุที่ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตคล้ายนก รวมถึงสัตว์เลื้อยคลายในทะเลขนาดใหญ่นั้นสูญพันธุ์ไปเพราะการระเบิดของชุดภูเขาไฟหลายๆ ลูกในบริเวณอินเดียปัจจุบันเมื่อ 1.5 ล้านปีก่อน และการปะทุของภูเขาไฟได้พ่นหินหนืดลาวาผ่านเมืองเดคคันแทรปส์ในตอนกลางตะวันตกของอินเดียและมีปริมาณมากกว่าความจุของทะเลดำถึง 2 เท่า ซึ่งเชื่อว่านั่นคือสาเหตุที่ทำให้ชั้นบรรยากาศทั่วโลกหนาวเย็นและเกิดฝนกรดไปทั่วโลก

อย่างไรก็ดี หลักฐานที่นำมาศึกษาและเผยแพร่ลงในวารสารไซน์นั้น แสดงให้เห็นว่า ระบบนิเวศน์ทางทะเลและบนบกนั้นถูกทำลายไปอย่างรวดเร็วในยุคการสูญพันธุ์ครีตาเชียส-เทอร์ทิอารี นักวิทยาศาสตร์จึงไม่ยอมรับว่าภูเขาไฟเป็นสาเหตุ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

แม้ว่าจะมีหลักฐานถึงการปะทุของภูเขาไฟในเดคคันแทรปส์ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ระบบนิเวศน์ทางทะเลและบนบกแสดงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วง 500,000 ปี ก่อนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ยุคครีตาเชียส-เทอร์ทิอารี ข้อมูลจากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์และข้อมูลการสำรวจชี้ว่า การปลดปล่อยก๊าซหลายๆ ชนิด เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ เป็นต้น ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศหลังการระเบิดของภูเขาไฟ ส่งผลระยะสั้นต่อโลก และไม่ใช่สาเหตุเพียงพอในการทำลายล้างสิ่งมีชีวิตจำนวนมากทั้งบนบกและในทะเลให้สูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว” ข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ระบุ

กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าอุกกาบาตที่ชิคซูลูบได้กำจัดเทอโรซอร์ (ไดโนเสาร์มีปิกบินได้) ไดโนเสาร์ พร้อมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยข้อมูลจาก โจแอนนา มอร์แกน (Joanna Morgan) นักธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College) อังกฤษ ผู้ร่วมในการศึกษาครั้งนี้ ระบุว่าการพุ่งชนของอุกกาบาตขนาดใหญ่นั้น ได้ก่อให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่ แผ่นดินไหวที่วัดความรุนแรงได้มากกว่า 10 ริกเตอร์ และเกิดการเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกซึ่งทำให้เกิดสึนามิได้

“อุกกาบาตพุ่งชนโลกด้วยความเร็วกว่าลูกกระสุน 20 เท่า แล้วระเบิดกลายเป็นหินและก๊าซร้อน ซึ่งจะเผาไหม้สิ่งมีชีวิตซึ่งไม่อาจหาที่กำบังได้ในทันที” กาเรธ คอลลินส์ (Gareth Collins) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจกล่าว และมอร์แกนได้เสริมว่า เมื่อเถ้าถ่านจากการระเบิดนั้นถูกพ่นขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วสูง จะปกคลุมโลกทั้งใบให้ตกอยู่ในความมืด และเป็นสาเหตุของฤดูหนาวที่เกิดขึ้นทั่วโลก และฆ่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอันทารุณได้

อีกข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ไดโนเสาร์ยุคครีตาเชียส-เทอร์ทิอารีสูญพันธุ์เนื่องจากอุกกาบาตขนาดมหึมาแต่ไม่ได้เกิดจากภูเขาไฟระเบิด คือ ร่องรอยการสั่นสะเทือนของแร่ควอตซ์ในชั้นหินช่วงปลายๆ ของยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วโลก โดยแร่ควอตซ์สั่นสะเทือนเมื่อถูกมวลมหาศาลพุ่งชนอย่างรวดเร็ว อย่างกรณีอุกกาบาตขนาด 15 กิโลเมตรที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 20 เท่าของลูกกระสุน.
กราฟิกแสดงบริเวณที่ถูกอุกกาบาตถล่มเมื่อ 6.5 ล้านปีก่อน เป็นเหตุให้ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตมากกว่าครึ่งสูญพันธุ์ (เอเอฟพี)

ครั้งหนึ่งสัตว์เลื้อยคลานอย่างไดโนเสาร์เคยครองโลก (รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น