xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนา “ชุดตรวจโรคเท้าช้าง” ฉีกข้อจำกัดตรวจได้เฉพาะกลางคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุดตรวจสำเร็จรูปเพื่อใช้ตรวจหาแอนติบอดี ชนิด แอนติเฟียเรียล ไอจีจีโฟ (antifiarial lgG4) เพื่อการวินิจฉัยโรคเท้าช้าง
"โรคเท้าช้าง" ยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะที่นราธิวาสมีผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ เหตุเพราะวิธีการวินิจฉัยแบบเดิมที่ต้องใช้ช่วงกลางคืนตรวจหาพยาธิก่อโรค แพทย์ฯ ศิริราช-กรมควบคุมโรคจึงได้พัฒนาชุดตรวจสำเร็จรูปประสิทธิภาพสูง ใช้ได้ในยามกลางวัน และลดระยะเวลการตรวจต่อคน พร้อมปรับให้ใช้ง่ายเหมือนชุดตรวจครรภ์

จากปัญหา "โรคเท้าช้าง" ที่ระยะหลังดูเหมือนจะเลือนหายไปจากประเทศไทยแล้ว แต่ล่าสุดยังมีรายงานตัวเลขของคนไทย ที่เป็นโรคเท้าช้างออกมาว่า มีประมาณ 130 คน ซึ่งผู้ป่วยจำนวน 112 คน อยู่ใน จ.นราธิวาส

ข้อมูลดังกล่าว เป็นการเปิดเผยของ นายแพทย์วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  ซึ่งโรคเท้าช้างเป็นโรคติดต่อ ที่เกิดจากพยาธิตัวกลม สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้โดยมียุงเป็นพาหะนำโรค

ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเรื่อง “การนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคเท้าช้างและปรสิต” โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับ กรมควบคุมโรค และ ม.มหิดล เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 54 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคารศูนย์การเรียนรู้ทางการวิจัย วช.

นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการ วช. กล่าวว่า ทาง วช.ได้เห็นความสำคัญสำหรับการสนับสนุนผลงานวิจัย ที่จะนำไปใช่ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคเท้าช้างและปรสิต จึงได้ให้งบประมาณ 600,000 บาท ตั้งแต่ปี 2551 กับคณะวิจัย ซึ่งประกอบด้วย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาและประเมินสิทธิภาพของชุดตรวจสำเร็จรูป เพื่อใช้ตรวจหาแอนติบอดี ชนิดแอนติเฟียเรียล ไอจีจีโฟร์ (antifiarial lgG4) เพื่อการวินิจฉัยโรคเท้าช้าง” โดยมี รศ.ดร.สิริจิต วงศ์กำชัย ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหิดล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยชิ้นนี้

รศ.ดร.สิริจิต กล่าวว่า ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูปที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นวิธีการตรวจหาแอนติบอดีชนิดไอจีจีโฟร์ ซึ่งจากการประเมินประสิทธิภาพทั้งในห้องปฏิบัติการและในภาคสนาม พบว่ามีความไวสูงถึง 97% และ มีความจำเพาะ 99.6%

“อีกทั้งยังสามารถตรวจเลือดได้จากปลายนิ้ว และสามารถตรวจได้ครั้งละ 93 คน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อเฉลี่ยต่อคนแล้ว ใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น” รศ.ดร.สิริจิต อธิบายถึงคุณสมบัติของชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างที่พัฒนาขึ้น

รศ.ดร.สิริจิต บอกด้วยว่า เครื่องตรวจดังกล่าว ยังสามารถตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างได้ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งสะดวกกว่าวิธีปัจจุบัน ที่ต้องตรวจหาพยาธิด้วยกล้องจุลทรรศ์ ที่ส่วนใหญ่จะตรวจได้ในเฉพาะช่วงกลางคืน เนื่องจากเชื้อพยาธิไมโครฟีลาเรียจะออกมาในกระแสเลือดช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น หากพยาธิในกระแสเลือดมีจำนวนน้อยก็จะตรวจไม่พบ และใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที ต่อผู้ป่วย 1 ราย

“ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างนี้ ราคากล่องละประมาณ 6,300 บาท ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 50-60 บาทต่อคน ถือว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ราคาสูงถึงชุดละ 20,000 บาท” รศ.ดร.สิริจิต เผย

ทั้งนี้ นพ.มานิต  ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อฟิลาเรียแล้ว ต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี จึงจะแสดงอาการขาใหญ่หรืออวัยวะบวมโต ดังนั้นการค้นหาผู้ติดเชื้อในระยะแรกเพื่อให้การรักษา จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยไม่พิการ และเป็นการยับยั้งการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นอีกด้วย

แนวทางการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยก่อนแสดงอาการนั้น สอดคล้องกับนโยบายของ สธ.ตั้งแต่ปี 2504 ในการที่จะควบคุมโรคเท้าช้างในประเทศไทย และในปี 2540 นั้นประเทศไทยยังได้ทำสัญญากับองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าจะดำเนินการ ให้โรคเท้าช้างหมดไปจากประเทศไทยด้วย 

อีกทั้ง นางชูวรรณ จิระอมรนิมิต นักวิชาการจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค หนึ่งในทีมวิจัยชุดตรวจนี้ ให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีพยาธิตัวกลมที่เป็นสาเหตุของโรคเท้าช้างอยู่ 2 ชนิด คือ 1. บรูเกีย มาลาไย (Brugia malayi) พบมากในภาคใต้ อาทิ จังหวัดนครศรีธรรมราช นราธิวาส 2. วูเชอรีเรีย แบนครอฟไต (Wuchereria bancrofti) ซึ่งพบตามจังหวัดแนวชายแดนไทย-พม่า อาทิ ตาก กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน

“สำหรับพื้นที่แพร่เชื้อของโรคเท้าช้างในประเทศไทยนั้น มีอยู่ 11 จังหวัด คือ นราธิวาส ระนอง ตาก กระบี่ ราชบุรี แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และลำพูน” นางชูวรรณ กล่าว

โครงการวิจัยนี้ได้งบประมาณจาก วช. จำนวน 1,100,000 บาท โดย รศ.ดร.สิริจิต บอกว่า ขั้นต่อไปจะพัฒนาชุดตรวจดังกล่าว ให้มีขนาดกระทัดรัด สามารถตรวจได้ทีละคนและให้ผลใน 15 นาที ซึ่งมีลักษณะเหมือนชุดตรวจครรภ์ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด อีกทั้งคาดว่าภายในเดือน ก.ค.54 จะดำเนินการได้สำเร็จ

ทางด้าน นายกฤษณ์ธวัช บอกด้วยว่า จากนั้นสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงจะนำชุดตรวจสำเร็จรูปที่พัฒนาขึ้น ไปใช้ตรวจวินิจฉัยกับประชาชนใน จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคเท้าช้างมากที่สุดด้วย เพื่อให้ชาวนราธิวาสได้มีโอกาสเข้าถึงการตรวจ เพราะสถานการณ์ในภาคใต้ไม่สู้ดีนัก ยากต่อการเข้าถึง.
รศ.ดร.สิริจิต วงศ์กำชัย ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยชุดตรวจสำเร็จรูปเพื่อการวินิจฉัยโรคเท้าช้าง
นางชูวรรณ จิระอมรนิมิต นักวิชาการจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค และเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของชุดตรวจสำเร็จรูปเพื่อการวินิจฉัยโรคเท้าช้าง
นายแพทย์วิชัย สติมัย  ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  เผยตัวเลขของคนไทยที่เป็นโรคเท้าช้างล่าสุด 130 คน  ซึ่ง 112 คน อยู่ใน จ.นราธิวาส
ชุดตรวจหาพญาธิด้วยกล้องจุลทรรศ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะตรวจได้ในเฉพาะเวลากลางคืน เนื่องจากไมโครฟีเลียจะออกมาในกระแสเลือดในเวลากลางคืนเท่านั้น หากพยาธิในกระแสเลือดมีจำนวนน้อยก็จะตรวจไม่พบ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที ต่อผู้ป่วย 1 ราย
วช.โดย นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (กลาง) ร่วมกับกรมควบคุมโรค โดย นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (ขวา) และ ม.มหิดล โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนภาธร บานชื่น รองอธิการบดี ม.มหิดล (ซ้าย) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง “การนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคเท้าช้างและปรสิต” ในวันพุธที่ 20 เม.ย. 54 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้ทางการวิจัย วช.
กำลังโหลดความคิดเห็น