xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชจับมือกรมคุมโรค-มช.พัฒนาชุดตรวจเท้าช้างครั้งแรกในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างที่ศิริราช-กรมควบคุมโรคและมช.ร่วมกันพัฒนาขึ้น
ทีมนักวิจัยจากศิริราช จับมือกรมควบคุมโรคและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาชุดวินิจฉัยโรคเท้าช้างจากแอนติบอดี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในเมืองไทย อุดรั่วปัญหาต้องลงพื้นที่ตรวจยามกลางคืนในพื้นที่สีแดงจ.นราฯ รวมทั้งใช้เวลาน้อย-ราคาถูก-เจาะเลือดง่าย ใช้ อสม.ปฏิบัติหน้าที่ได้ ระบุ เตรียมส่งล็อตแรกใช้กลางปีหน้า พร้อมลงนามร่วมมือต่อยอดการวิจัยและฝึกอบรมบุคลากรด้านสาธารณสุข

วันนี้ (3 ส.ค.) เวลา 13.30 น. นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค,ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค และรศ.ดร.สิริจิต วงศ์กำชัย หัวหน้าโครงการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้าง ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล,ศ.เวช ชูโชติ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ พร้อมคณะทำงาน บุคลากรของโรงพยาบาลศิริราช และบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จของการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างจากแอนติบอดี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

นพ.วิชัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคเท้าช้างในประเทศไทย กล่าวว่า โรคเท้าช้างเป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการ ซึ่งก่อปัญหาทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โรคเท้าช้างที่พบในไทย เกิดจากเชื้อพยาธิตัวกลม 2 ชนิด
ชนิดที่ 1 คือ วูเชอเรอเรีย แบนครอฟไต (Wuchereria bancrofti) พบในจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับพม่า ชนิดที่ 2 ชื่อ บรูเกีย มาลาไย (Brugia malayi) พบทางภาคใต้ของไทย ซึ่งทั้งสองชนิดมียุงเป็นพาหะนำโรค โดยพยาธิจะไปเจริญเติบโตในระบบน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ท่อน้ำเหลืองอุดตันเรื้อรัง ส่งผลให้แขน ขา หรืออวัยวะเพศบวมโต

ในปี 2540 ประเทศไทยได้ลงนามกับองค์การอนามัยโลก ที่จะกำจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปจากประเทศ โดยเริ่มดำเนินการในปี 2545 ซึ่งใช้มาตรการหลักคือ จ่ายยาฆ่าเชื้อโรคเท้าช้างให้ประชาชนที่อาศัยในแหล่งแพร่เชื้อทุกคนรับประทาน ควบคู่ไปกับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อพยาธิในเลือดทุกราย ทำให้ไม่มีเชื้อพยาธิในเลือด พร้อมๆ กับมีการควบคุมโรคเท้าช้างในแรงงานต่างด้าวไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนไทย
คนไข้โรคเท้าช้าง
แต่ปัญหาการแพร่ระบาดยังไม่หมดไป เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจังหวัดนราธิวาส เนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ อีกทั้งการเจาะเลือดเพื่อการตรวจวินิจฉัยหาพยาธิเท้าช้างระยะตัวอ่อนที่อยู่ในกระแสเลือดต้องทำในเวลากลางคืน จึงจะตรวจพบเชื้อ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดำเนินการควบคุมโรคได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาขายแรงงานในประเทศเป็นจำนวนมาก จากการสุ่มสำรวจพบว่า แรงงานเหล่านี้มีอัตราการติดเชื้อ 2-5%

“ปัจจุบันเราพบว่ามีการติดเชื้อโรคนี้อยู่ในจังหวัดเดียวคือจังหวัดนราธิวาส มีอยู่ประมาณ 0.03% มี และล่าสุดมีข้อมูลว่า มีผู้ป่วยโรคเท้าช้างในจังหวัดนราธิวาสอยู่ 124 คน และพบว่า มีผู้พิการ 3 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ปัญหาตลอดมาที่ทีมแพทย์ที่ต้องเข้าไปตรวจเลือดผู้ป่วยในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างนราธิวาสก็คือ เชื้อโรคในเลือดจะออกมาตอนกลางคืน

หากจะตรวจให้พบเชื้อจะต้องเจาะเลือดตรวจช่วงกลางคืน ประมาณ 3-4 ทุ่ม หากเจาะกลางวันเชื้อจะหลบอยู่ในเส้นเลือด เจาะไม่พบเชื้อทำให้การตรวจคลาดเคลื่อน แต่ในพื้นที่ที่มีความรุนแรงเช่นนี้ ก็ส่งผลให้ทีมแพทย์เข้าไปตรวจเลือดได้ลำบากเช่นกัน จึงทำให้คิดค้นชุดตรวจวินิจฉัยที่สะดวกกว่านี้ขึ้นมา”

รศ.ดร.สิริจิต อธิบายถึงคุณสมบัติของชุดตรวจดังกล่าว ว่า แต่เดิมการเจาะเลือดตรวจเชื้อเท้าช้าง จะเป็นการเจาะเพื่อตรวจหาเชื้อโรค ซึ่งทำได้ยากเนื่องจากเชื้อจะออกมาตอนกลางคืน แต่ชุดตรวจเชื้อนี้จะเปลี่ยนเป็นการตรวจสารแอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านเชื้อโรคเท้าช้างโดยเฉพาะ ซึ่งจะหาง่ายกว่าหาเชื้อโรคมาก

“เพราะหากมีเชื้อน้อยหรือช่วงเวลาการเจาะไม่เหมาะสม การตรวจหาจะคลาดเคลื่อน แต่หากตรวจหาแอนติบอดี้จะแม่นยำกว่า ชุดตรวจนี้มีข้อดีตรงที่สามารถตรวจได้หลายๆ คนพร้อมกัน ชุดหนึ่งตรวจได้สูงสุด 93 คน และผู้ตรวจคนหนึ่งสามารถทำพร้อมๆ กันทีเดียวได้สูงสุด 3 ชุดตรวจ ใช้เวลาการตรวจประมาณ 2ชั่วโมงครึ่ง และเรากำลังจะพัฒนาให้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้ตรวจและเช็คผลได้ภายใน 5 นาที ซึ่งคิดว่าหากมีงบประมาณน่าจะทำได้ภายใน 2 ปีนี้”

รศ.ดร.สิริจิต กล่าวต่ออีกว่า ภายในชุดตรวจ ประกอบไปด้วยถาดสำหรับตรวจ และน้ำยาสำเร็จรูป วิธีการตรวจแบบย่อๆ คือ เจาะเลือดของผู้ที่ต้องการจะตรวจ โดยชุดตรวจนี้ต้องการเลือดเพียง 2-3 หยดเท่านั้น ดังนั้นการเจาะจึงเจาะแค่ปลายนิ้ว ซึ่งอสม.ในพื้นที่ที่ได้รับการอบรมเพื่อใช้ชุดตรวจนี้ก็สามารถใช้ชุดตรวจนี้ได้

“เจาะเลือดหยดลงไปในหลุมในถาดตรวจ ใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเซรั่มเลือด แช่ไว้ 1 ชั่วโมงแล้วเทออก จากนั้นเติมน้ำยาตัวแรกลงไป 1 ชม.แล้วเทออก และเติมน้ำยาตัวที่ 2 ลงไป 10 นาที แล้วเทออก หากเลือดมีแอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้นในช่วงที่มีเชื้อโรคเท้าช้าง ชุดตรวจจะกลายเป็นสีเขียว

ขณะนี้ชุดตรวจชุดนี้วิจัยเสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะผลิตเพื่อนำไปใช้นำร่องที่ศูนย์แห่งการเรียนรู้โรคติดต่อนำโดยแมลง โครงการงานควบคุมปราบปรามโรคติดต่อและการสาธารณสุข ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาสเป็นแห่งแรก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงหลังการแจกยารักษาโรคเท้าช้าง DEC ที่จะแจกทุกปี โดยที่นราธิวาสจะแจกในเดือนพฤษภาคม การนำร่องใช้ชุดตรวจน่าจะเริ่มได้ประมาณเดือนมิถุนายนปีหน้า

ส่วนเรื่องของคุณภาพ ชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นมาไม่ต่างจากชุดตรวจจากต่างประเทศมากนัก แต่ราคาถูกกว่ามาก ต้นทุนต่อการตรวจต่อ 1 รายอยู่ที่ประมาณ 50 บาท หากใน 93 รายราคาอยู่ที่ 5,000บาท และหากเทียบกับชุดตรวจต่างประเทศ ในการตรวจ10,000คน หากใช้ชุดตรวจต่างประเทศจะต้องใช้งบประมาณ 1,500,000 บาท ในขณะที่ของเราใช้แค่ 500,000 บาท”

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าโอกาสนี้ นพ.มล.สมชาย ได้ลงนามความร่วมมือกับ ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ ในการนำชุดตรวจสำเร็จรูปนี้ไปสู่ผู้ใช้งานรวมทั้งร่วมวิจัยต่อยอดและฝึกอบรมบุคลากรด้านสาธารณสุขด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น