เผยรายชื่อเมธีวิจัยอาวุโสประจำปี 2551-2552 ส่วนหนึ่งมีผลงาน นักวิจัยจุฬาฯ ผู้บุกเบิกสังเคราะห์สารเลียนแบบพันธุกรรมในไทย เผยเร็วๆ นี้อาจมีชุดตรวจหวังไกลไปถึงพัฒนาเป็นยารักษาโรคระดับพันธุกรรม ขณะที่ผลงานเมธีวิจัยอีกชิ้นเป็นการศึกษายาแก้ปวด พบเป็นต้นเหตุปวดหัวเรื้อรัง เตือนอย่ากินติดต่อกันนานเกินจำเป็น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แถลงข่าวเปิดตัวเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2551 และ 2552 รวมทั้งสิ้น 25 คน เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 52 ณ ห้องประชุม สกว. เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ พร้อมกับสนับสนุนกลุ่มวิจัยของเมธีวิจัยอาวุโสเหล่านี้ให้พัฒนาผลงานวิชาการและบุคลากรด้านการวิจัย เพื่อสร้างเสริมศักยภาพในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
คนไทยทำได้สังเคราะห์สารเลียนแบบพันธุกรรม
รศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2552 ที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นในด้านการสังเคราะห์และศึกษาคุณสมบัติของสารเลียนแบบสารพันธุกรรม หรือหรือพีเอ็นเอ (PNA: เพปไทด์นิวคลีอิกเอซิด) เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เขาสามารถพัฒนาระบบพีเอ็นเอที่เป็นของคนไทยได้เอง
สำหรับพีเอ็นเอนั้น ใช้ในการตรวจหารหัสดีเอ็นเอ แต่มีความจำเพาะเจาะจงสูงมากกว่า มีความสามารถเลือกจับกับดีเอ็นเอได้ดีกว่าอาร์เอ็น จับกับดีเอ็นเอได้ในทิศทางที่จำเพาะเจาะจง และไม่เกิดสารประกอบเชิงซ้อนระหว่างพีเอ็นเอสองสายที่มีเบสคู่สมกัน
"พีเอ็นเอเป็นเรื่องใหม่ที่มีการศึกษาวิจัยไม่มากนัก และมีการนำมาใช้งานกันน้อยมาก เพราะยังมีราคาแพงอยู่ และที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้ จึงตั้งใจว่าจะสร้างกลุ่มวิจัยเรื่องพีเอ็นเอขึ้น พัฒนาระบบพีเอ็นเอของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและมีการนำไปใช้ประโยชน์กว้างขวาง เชื่อว่าจะทำให้พีเอ็นเอมีราคาถูกลงได้" รศ.ดร.ธีรยุทธ เผย
ทั้งนี้ หลังจากได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เขาและทีมวิจัยจะสังเคราะห์พีเอ็นเอชนิดใหม่ๆ เพื่อศึกษาคุณสมบัติ และการนำไปประยุกต์ใช้ โดยคาดว่าในเร็วๆ นี้จะสามารถพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคด้วยพีเอ็นเอสำเร็จ และหวังพัฒนาพีเอ็นเอเป็นยารักษาโรคในระดับพันธุกรรมด้วย แต่การพัฒนาเป็นยาจะต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะประสบผลสำเร็จ
พบปวดหัวเรื้อรัง เพราะกินยามากเกิน
ด้าน ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร นักวิจัยภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2551 เปิดเผยว่า ได้ศึกษาเกี่ยวกับอาการปวดศีรษะเรื้อรังของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคปวดศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพราะผู้ป่วยกว่าร้อยละ 50 ที่มารักษา มีพฤติกรรมการใช้ยาแก้ปวดที่ไม่เหมาะสม โดยมักกินยาแก้ปวดเป็นประจำและติดต่อกันนานเกินไป
จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการกินยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอลติดต่อกันเป็นเวลานาน ไปมีผลทำให้ระดับสารซีโรโตนินในสมองลดลง ซึ่งซีโรโตนินเป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมความปวด เมื่อสารนี้มีระดับต่ำลงจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัดว่า ยาแก้ปวดทำให้ซีโรโตนินลดระดับลงได้อย่างไร โดยจะศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อให้เข้าใจกลไกการเกิดโรคปวดศีรษะเรื้อรังเนื่องจากยาแก้ปวดให้ชัดเจยิ่งขึ้น เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งขยายไปศึกษาในยาแก้ปวดกลุ่มอื่นด้วย เช่น ยาแก้ปวดที่มีสารตระกูลฝิ่นหรือโคดีน (Codiene) เป็นส่วนประกอบ
ศ.นพ.อนันต์ ยังบอกอีกว่าโรคปวดศีรษะเรื้อรังสามารถพบได้ทั่วไปในบุคคลทุกเพศทุกวัย และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 เท่า โดยผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำจะยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังมากกว่าคนกลุ่มอื่น จึงแนะนำว่าไม่ควรกินยาแก้ปวดเองติดต่อกันเป็นเวลานานไปเรื่อยๆ
เมธีวิจัยอาวุโสกล่าวอีกว่า หากกินยาไประยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงปัจจัยหรือกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งโรคนี้ยังรักษาให้หายขาดไม่ได้ และแม้ไม่ส่งผลถึงชีวิต แต่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล
ทั้งนี้ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2551 และ 2552 จะได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยจำนวน 2.5 ล้านบาท สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์ และ 2 ล้านบาท สำหรับสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยในระยะเวลา 3 ปี โดยเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ทั้ง 25 คน จะเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรับพระราชทานโล่เกียรติยศ ในวันที่ 29 ก.ย. 52 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ซึ่งมีรายนามดังนี้
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2551 จำนวน 13 คน ได้แก่
1. ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร สาขาอณูพันธุศาสตร์มนุษย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. ศ.นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา สาขาอายุรศาสตร์ (โรคหัวใจและหลอดเลือด) มหาวิทยาลัยมหิดล
3. ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
5. ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ สาขาเคมีพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
6. ศ.ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล สาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
7. ศ.ดร.วิเชียร เลาหโกศล สาขาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8. ศ.ดร.โมไนย์ ไกรฤกษ์ สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
9. ศ.ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ สาขาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10. ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
11. รศ.ดร.มารค ตามไท สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยพายัพ
12. ศ.ดร.จตุรนต์ ถิระวัฒน์ สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13. ศ.ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ สาขาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2552 จำนวน 12 คน ได้แก่
1. ศ.ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. ศ.ดร.โกวิท พัฒนาปัญญาสัตย์ สาขาภูมิคุ้มกัน มหาวิทยาลัยมหิดล
3. ศ.นพ.บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล สาขาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4. ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร สาขาพยาธิสรีรวิทยาทางไฟฟ้าของหัวใจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. ศ.ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ สาขากีฏวิทยาทางการแพทย์และสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6. รศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ สาขาเคมีอินทรีย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7. ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ สาขาเทคโนโลยีพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
8. ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
9. รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ สาขานิเทศศาสตร์/การสื่อสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10. ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
11. ศ.ดร.ภัสสร ลิมานนท์ สาขาประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
12. ศ.วิโชค มุกดามณี สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร