วิจัยพบ "สาหร่าย" ซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ 8 เท่า "โรงไฟฟ้าราชบุรี" เตรียมพื้นที่นำร่อง 6.2 ไร่ ผันก๊าซจากปล่องควันลงน้ำ ให้ CO2 เลี้ยงสาหร่ายผลิตพลังงาน อีก 3 ปีพร้อมขยายเชิงพาณิชย์ ทางด้าน “บางจาก” จะผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่าย 30,000 ลิตรต่อวัน
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ศึกษาวิจัยเพาะเลี้ยงสาหร่าย โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ จาก ม.เกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ ม.แม่โจ้ ซึ่งจากผลการวิจัยนั้น เห็นว่าสาหร่ายมีความสามารถดูดซับก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อการเจริญเติบโตได้จริง โดยสาหร่าย 1 ไร่ สามารถรับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 8 เท่าของปริมาณที่ต้นไม้ 1 ไร่ดูดซับไว้ได้ นับว่าเป็นปริมาณที่สูงกว่ามาก
ทั้งนี้ นายนพพลกล่าวว่า ได้เตรียมพื้นที่บริเวณใกล้โรงไฟฟ้า ประมาณ 6.2 ไร่ เพื่อเตรียมความพร้อม เพื่อนำก๊าซปล่อยทิ้ง ที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ จากปล่องของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเจริญเติบโตของสาหร่าย เพื่อจัดนำร่องให้กับโครงการความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่าย โดยจะขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ในอีก 3 ปี ข้างหน้าต่อไป
ทางด้าน ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากสาหร่าย เป็นนวัตกรรมพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูงมาก เนื่องจากใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงเพียง 2 สัปดาห์ สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล หรือน้ำมันเครื่องบินได้ จากการที่สาหร่ายเป็นพืชที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้ผลผลิตน้ำมันต่อพื้นที่การเพาะเลี้ยงสูงถึง 30 เท่า เมื่อเทียบกับน้ำมันปาล์ม
อีกทั้งตามข้อมูลที่ ดร.อนุสรณ์ได้จากจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก ประเทศออสเตรเลีย ยังระบุว่า น้ำมันสาหร่ายราคาอยู่ที่ประมาณ 120 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งถูกกว่าน้ำมันดีเซล ที่ราคาประมาณ 130 เหรียญต่อบาร์เรล และหากเทียบกับนำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มราคาจะอยู่ที่ 160-170 เหรียญต่อบาร์เรล
"ถ้ามองในจุดนี้จะเห็นว่าน้ำมันจากสาหร่ายมีศักยภาพ ราคาถูกกว่าน้ำมันปาล์ม นอกจากทำน้ำมันได้แล้ว ในส่วนของกากสาหร่ายยังนำไปผลิตเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ได้อีกด้วย" ดร.อนุสรณ์กล่าว
ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างการลงนามบันทึกความร่วมมือ “การพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่าย” โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา โดยมีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ร่วม บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม
อีกทั้ง จากบันทึกความร่วมมือนี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงการให้เป็นระดับเชิงพาณิชย์ ภายใน 3 ปี โดยจะสร้างโรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสาหร่ายให้ได้ 30,000 ลิตรต่อวัน ขนาดพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท