ธพ.แนะรับมือราคาก๊าซหุงต้มโลกดีดตัว หลังได้รับผลกระทบเหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น และการสู้รบในตะวันออกกลาง แต่ยืนยันก๊าซหุงต้มไม่ขาดแคลนแน่ เพราะ ปตท.เตรียมส่งเรือขนส่งเข้าประเทศ
วันนี้ (25 มี.ค.) นายวีระพล จิระประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า การสู้รบในประเทศลิเบียและความวุ่นวายในตะวันออกกลาง รวมทั้งสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งผลกระทบให้ราคาก๊าซหุงต้มตลาดโลกดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุด ณ เดือน มี.ค.มีราคาอยู่ที่ 870 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และคาดว่า หากความวุ่นวายในกรณีข้างต้นยังไม่ผ่อนคลายลง จะทำให้ราคาก๊าซหุงต้มตลาดโลก ในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ ขยับไปเคลื่อนไหวในระดับ 850-900 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากความรุนแรงไม่ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ แต่หากสถานการณ์ยังตึงเครียดและมีแนวโน้มต่อเนื่อง ว่า ญี่ปุ่นจะต้องออกมากว้านซื้อก๊าซหุงต้มเข้าไปใช้เป็นพลังงานความร้อนของประเทศ แทนการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็มีความกังวลว่าราคาก๊าซหุงต้มนับจากนี้ไปจะดีดตัวยาวนานและต่อเนื่อง
นายวีระพล กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าว ธพ.ได้ประสานกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำเข้าก๊าซหุงต้ม ให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ราคาก๊าซหุงต้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะไม่มีการขาดแคลนก๊าซหุงต้มเพราะผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ซาอุดีอาระเบีย ยังสามารถผลิตป้อนตลาดโลกได้เพียงพอ แต่ก็ยังมีความกังวลอีกว่าเรือที่ใช้ขนก๊าซหุงต้มไปส่งลูกค้า อาจเปลี่ยนใจรับขนส่งก๊าซหุงต้มไปป้อนให้กับญี่ปุ่นเป็นหลัก ด้วยหลักมนุษยธรรม และญี่ปุ่นมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องใช้ก๊าซหุงต้มจำนวนมากและเร่งด่วน เบื้องต้นได้ทราบว่า ปตท.ได้เตรียมพร้อมเช่าเรือขนส่งสำรอง เพื่อให้นำก๊าซหุงต้มเข้ามาป้อนให้กับประเทศไทยอย่างเพียงพอตลอดปีนี้ จึงจะไม่เกิดการขาดแคลน
“ขณะนี้ประเทศไทยนำเข้าก๊าซหุงต้มเดือนละ 110,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านบาทต่อเดือน และสามารถผลิตได้ในประเทศอีกเดือนละ 40,000 ตัน และกลุ่มโรงงานปิโตรเคมีเป็นกลุ่มที่ใช้ก๊าซหุงต้มสูงสุดของทุกกลุ่มผู้ใช้ 5,700 ตันต่อวัน รองลงมาคือ ภาคครัวเรือน 7,100 ตันต่อวัน ภาคขนส่ง 2,100 ตันต่อวัน ล่าสุดประเทศไทยมีปั๊มก๊าซหุงต้มทั่วประเทศ 1,007 แห่ง”
นายวีระพล กล่าวอีกว่า ภาพรวมการใช้เชื้อเพลิงของประเทศไทย เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.โดยเดือน ก.พ.มีการใช้น้ำมันเบนซิน 21.3 ล้านลิตรต่อวัน จากเดือน ม.ค.ที่ใช้เพียง 20.4 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันดีเซลใช้เพิ่มเป็น 53.3 ล้านลิตรต่อวันจากเดิม 52.4 ล้านลิตรต่อวัน การใช้เอ็นจีวีอยู่ที่ 6,930 ตันต่อวัน จากเดิม 5,770 ตันต่อวัน ก๊าซหุงต้มมีความต้องการใช้ 17,200 ตันต่อวัน
ทั้งนี้ การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินที่เพิ่มขึ้นมาจากเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีเทศกาลตรุษจีนและวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ทำให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวโดยรถยนต์เพิ่มขึ้น และสาเหตุที่น้ำมันดีเซลมีการใช้เพิ่มขึ้น เกิดจากการที่รัฐบาลตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินกว่า 30 บาทต่อลิตรทำให้ประชาชนมีการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น เพราะถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาไม่แพง โดยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ย 844,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่า 71,900 ล้านบาท ขณะที่เดือน ม.ค.นำเข้าเฉลี่ยวันละ 816,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่า 72,101 ล้านบาทต่อเดือน