xs
xsm
sm
md
lg

แนะออกกฏหมาย เปิดเผยโครงสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ. ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำให้ออกกฏหมายเปิดเผยโครงสร้างอาคารต้านทานต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบแบบก่อสร้างได้ว่ามีมาตรฐานหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
นักวิชาการด้านโยธา จุฬาฯ แนะออกกฏหมายเปิดเผยโครงสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหว เพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน ชี้การรับมือแผ่นดินไหว ต้องวางทุกระบบให้พร้อม ไฟฟ้า  ประปา โทรคมนาคม เมื่อเกิดเหตุ ต้องกู้ใช้งานอย่างทันท่วงที ด้านนักวิชาการด้านสังคมรั้วแม่โดม เผ ภาษาการเตือนภัยต้องเข้าใจง่าย และเข้าถึงประชาชน

ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แนะแนวทางการออกประกาศ หรือกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการอาคารชุด อาคารสาธารณะต้องเปิดเผยแบบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการต้านแผ่นดินไหว ระหว่างการบรรยาย เรื่อง “การเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว” ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ วันที่ 21 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา ทางทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมฟังในครั้งนี้ด้วย

ศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า การออกแบบก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน เพราะอาคารเหล่านี้อาจพังถล่มเมื่อเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง ดังนั้น รัฐบาลควรหามาตรการในการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน นั่นคือการออกประกาศหรือกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการอาคารชุด รวมทั้งอาคารสาธารณะต้องเปิดเผยแบบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการต้านทางแผ่นดินไหว จะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบแบบก่อสร้างได้ว่ามีมาตรฐานหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจอีกด้วย

ศ.ดร.ปณิธาน ยังบอกด้วยว่าตามกฎกระทรวงฉบับที่ 49 ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคารว่าด้วยการก่อสร้างอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2550 ได้กำหนดให้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องทำการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว เพื่อให้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวมีความแข็งแรงทางโครงสร้าง สามารถต้านทานต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้

อย่างไรก็ดี ศ. ดร.ปณิธาน กล่าวว่า การเกิดภัยแผ่นดินไหวในประเทศไทยมีช่วงเวลาเกิดภัยยาวนาน จึงทำให้มีเวลาเตรียมตัวและวางแผนในการรับมือ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันวางทุกระบบให้มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า สถานีส่งไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าสำรอง เมื่อเกิดเหตุจะต้องกู้ให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนน้ำประปา ระบบขนส่ง โทรคมนาคม ระบบป้องกันภัย สถานีดับเพลิง โรงพยาบาล โรงเรียน ตึกบัญชาการ สถานีตำรวจ และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ที่เป็นศูนย์รวมทางศาสนาของคนไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกระหว่างการบรรยายหัวข้อ “การเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว” ด้วยว่า การสื่อสารหรือระบบเตือนภัยในปัจจุบันนั้นยังเป็นภาษาทางการอยู่มาก ทำให้ประชาชนยังไม่เข้าใจ จึงส่งผลให้ประชาชนไม่ใส่ใจในการเตรียมตัวกับการเกิดภัยพิบัติ ดังนั้นการสื่อสารควรที่จะเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงประชาชน ให้มากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  บอกว่า การสื่อสารหรือระบบเตือนภัยในปัจจุบันนั้นยังเป็นภาษาทางการอยู่มาก ประชาชนเข้าถึงยาก จึงส่งผลให้ประชาชนไม่ใส่ใจในการเตรียมตัวกับการเกิดภัยพิบัติ
บรรยากาศในการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “เราพร้อมรับภัยแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างไร” ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กรุงเทพฯ วันที่ 21 มี.ค. 54
กำลังโหลดความคิดเห็น