เรื่องบางเรื่อง เราก็ฟังตามกันมาจนไม่แน่ใจว่าเรื่องนั้นจริงหรือไม่จริง อย่างล่าสุดมีหนูน้อยคนฝากคำถามมายังทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า จริงหรือไม่หากฟังรายการวิทยุช่วงฝนฟ้าคะนองแล้วฟ้าจะผ่าลงมา เพื่อไขข้อข้องใจแก่เยาวชน ทีมงานจึงหาคำตอบมาให้
ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับตอบคำถามนี้ให้แก่เรา โดยถามกลับมาว่าฟังที่ไหน? หากฟังผ่านไอพอด (iPod) หรืออุปกรณ์เครื่องเล่นแบบพกพา คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากรับฟังคลื่นวิทยุที่บ้านแล้ว มีความเสี่ยงสูง
ความเสี่ยงที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงคลื่นวิทยุเป็นสื่อล่อสายฟ้า แต่อาจารย์อธิบายว่า หากเกิดฟ้าผ่าใกล้กับบ้าน หรือบริเวณที่เราอาศัยอยู่ กระแสไฟฟ้าแรงสูงจากสายฟ้า จะทำให้เกิดแรงเคลื่อนเหนี่ยวนำสูง หรือเกิดแรงดันสูงเคลื่อนไปตามสายไฟฟ้าแรงดัน 220 โวลต์ที่ใช้กันตามบ้านเรือน และก่อความเสียหายได้ และโทรศัพท์บ้าน ก็มีโอกาสเกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การเปิดโทรทัศน์ในช่วงฝนฟ้าคะนอง ยังมีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยอดีตเสารับสัญญาณโทรทัศน์มักเป็นเสาก้างปลาสูงๆ แต่ปัจจุบันดีขึ้น เพราะเราหันมาใช้จานรับสัญญาณกันเยอะขึ้น และมักติดตั้งต่ำกว่าหลังคา จึงมีโอกาสน้อยที่จะถูกฟ้าผ่า
ส่วนตึกสูงก็มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าเช่นกัน แต่ตามกฎหมายแล้ว ตึกสูงจะถูกบังคับให้ติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่าอยู่แล้ว ซึ่งระบบป้องกันฟ้าผ่านี้ จะล่อให้ฟ้าผ่าที่ระบบ ซึ่งจะนำกระแสไฟฟ้าไหลลงดิน และป้องกันไม่ให้ฟ้าผ่าบริเวณอื่น โดยกระแสไฟฟ้าที่ไหลลงดินนั้น ก็ไม่มีผลกระทบกับคนรอบข้าง เนื่องจากระบบได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยอยู่แล้ว
อดีตหัวหน้าห้องปฏิบัติการฟ้าผ่า จุฬาฯ บอกว่า ปกติฟ้ามักจะผ่าอะไรที่สูงเด่น เช่น ต้นไม้ใหญ่ หรือ ขอบตึก เป็นต้น ซึ่งคำแนะนำเพื่อป้องกันฟ้าผ่าคือ อย่าออกจากบ้านในช่วงฝนฟ้าคะนอง การอยู่ในบ้านจะปลอดภัยกว่าอยู่ในที่โล่งแจ้ง และอย่าหลบฝนใต้ต้นไม้ใหญ่
หากทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดฝนฟ้าคะนอง ให้หลบอยู่ในอาคารที่มั่นคง แต่ถ้าเลี่ยงสถานที่โล่งแจ้งไม่ได้ให้นั่งยองๆ และเอาเท้าชิด ไม่ควรวิ่งหลบฝนเพราะมีโอกาสเสี่ยง อีกทั้งร่มกันฝนที่มีปลายแหลมก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าเช่นกัน