xs
xsm
sm
md
lg

"แว่นตาปรับโฟกัสได้เอง" เข้าชิงรางวัลสุดยอดสิ่งประดิษฐ์ยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายชาวซูลูในแอฟริกาใต้สวมแว่นตามที่ปรับโฟกัสได้เอง (การ์เดียน)
สารพัดสิ่งประดิษฐ์ยกระดับคุณภาพชีวิตเข้าชิงรางวัล “ยูโรเปียนอินเวนเตอร์อะวอร์ด” รวมถึงแว่นตาปรับโฟกัสได้เอง ให้เข้ากับสายตาผู้สวมใส่ หรือไททาเนียมสำหรับฝังในฟัน และเส้นใยเหล็กที่ช่วยสถาปนิกออกแบบตึกที่มีรูปร่างบิดโค้งได้ตามใจ

สำนักสิทธิบัตรยุโรป (European Patent Office) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมิวนิค เยอรมนี เผยรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล “ยูโรเปียน อินเวนเตอร์ อะวอร์ด” (European Inventor Award) ประจำปี 2011 ซึ่งจะมีพิธีประกาศรางวัลในวันที่ 19 พ.ค.2011 ณ สภาวิทยาศาสตร์ (Academy of Sciences ) ในกรุงบูดาเปสต์ ฮังการี

สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่เข้าชิงรางวัลนี้ เน้นไปที่นวัตกรรมที่สามารถรักษาชีวิตและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้คน มากกว่าที่จะเป็นนวัตกรรมที่แปลกประหลาดพิสดาร โดยนวัตกรรมที่เข้าชิงรางวัล มีทั้งนวัตกรรมที่มีเป้าหมายในการปรับปรุงวิธีการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง การวินิจฉัยโรคหัวใจ หรือนวัตกรรมเตือนการเป็นโรคอัลไซเมอร์แต่เนิ่นๆ นวัตกรรมถนนปลอดภัย เครื่องกำเนิดพลังงาน เครื่องกรองน้ำ และอุปกรณ์เส้นใยแก้วนำแสง

แว่นตาที่ผู้สวมใส่สามารถปรับโฟกัสให้เข้ากับสายตาตัวเองได้ เป็นอีกผลงานที่เข้าชิงรางวัลนี้ เจ้าของผลงานคือ โจชัว ซิลเวอร์ (Joshua Silver) นักฟิสิกส์อะตอมจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ซึ่งตั้งคำถามกับตัวเองว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะผลิตแว่นจากกระจก 1 คู่ที่ผู้ส่วมสามารถปรับให้เข้ากับสายตาตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งนักประกอบแว่น และเป็นไปได้แค่ไหน ที่จะนำแว่นที่ว่านี้ไปให้ผู้คนอีกนับล้านซึ่งต้องการ แต่ขาดแคลน

ข้อมูลจากสหภาพยุโรปที่แถลงออกมาระบุว่าตอนนี้มีผู้คนกว่า 30,000 คนในประเทศยากจนที่ได้สวมแว่นอันเป็นผลงานพัฒนามานานหลายทศวรรษของนักฟิสิกส์จากออกฟอร์ดผู้นี้ ด้านข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ระบุว่า ปัญหาด้านสายตาของผู้คนนี้ทำให้เกิดการสูญเสียทางการผลิตที่คิดเป็นมูลค่าได้ 5.2 ล้านล้านบาท

สำหรับแว่นตาของซิลเวอร์นี้มีค่าใช้จ่ายดอลลาร์เดียวหรือประมาณ 30 บาท เท่านั้นในการแก้ปัญหาสายตาให้แก่ผู้มีปัญหานี้

นอกจากแว่นตาเพื่อผู้ยากไร้แล้ว งานวิจัยของ มาร์ท มิน (Mart Min) นักวิทยาศาสตร์ชาวเอสโตเนียก็ได้เข้าชิงรางวัลนี้เช่นกัน จากการพัฒนาวิธีใหม่ในการวัดความต้านทานไฟฟ้าที่ช่วยให้การวินิจฉัยโรคหัวใจง่ายขึ้น หรืองานวิจัยของ คริสไตน์ แวน โบรเอคโคเวน (Christine Van Broeckhoven) นักวิจัยเบลเยียม ผู้ค้นคว้าตัวยาและวิธีบำบัดรักษาอัลไซเมอร์

อีกงานวิจัยที่โดดเด่นเป็นของ เปอร์-อิงวาร์ บราเนมนาร์ค (Per-Ingvar Branemnark) จากสวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคนิคการผสานไททาเนียมเข้ากับกระดูกที่เรียกว่า “ออสซีโออินทีเกรชัน” (osseointegration) ที่ช่วยให้เกิดการยึด ระหว่างสิ่งที่ฝั่งเข้ากับกระดูก และกลายเป็นเทคนิคมาตรฐานที่ทันตแพทย์ใช้กับทั่วไป

บลังกา ริโฮวา (Blanka Rihova) จากสาธารณรัฐเชค คิดวิธีใหม่ในการบำบัดทางเคมี ที่ไม่ทำลายเซลล์ดีๆ ส่วน เอมมานูเอล เดอซัวร์ไวร์ (Emmanuel Desurvire) จากฝรั่งเศส บุกเบิกงานด้านการส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง

นอกจากนี้ ยังมีผลงานของนักวิทยาศาสตร์นอกกลุ่มประเทศยุโรป ได้แก่ สหรัฐฯ อิสราเอลและอินเดียผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีต่อไปนี้ คือ กังหันสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในบริเวณน้ำตื้นหรือบริเวณไหลเอื่อย เทคโนโลยีกล้องจิ๋วสำหรับส่องดูร่างกาย และเทคนิคการใช้รังสีอัลตราไวโอเลตฆ่าเชื้อโรคในน้ำ

สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้มีความสำคัญต่อสาธารณชนในวงกว้าง สามารถติดตามรายละเอียดผลงานทั้งหมดที่เข้ารอบได้ที่ http://www.epo.org/news-issues/european-inventor/finalists.html

โล่รางวัลสำหรับ ยูโรเปียนอินเวนเตอร์อะวอร์ด ซึ่งใช้รูปเรือใบอันเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่มีพลวัตเก่าแก่ที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น