xs
xsm
sm
md
lg

บรรพบุรุษม้าไม่ได้กินหญ้า แต่กินผลไม้ฉ่ำน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรพบุรุษของม้าที่มีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 55 ล้านปีก่อนน่าจะกินผลไม้ที่เคี้ยวง่ายกว่าหญ้า (เอเอฟพี)
นักวิทยาศาสตร์ศึกษาฟอสซิลฟันของบรรพบุรุษม้าเมื่อ 55 ล้านปีก่อน พบอาชาโบราณ น่าจะกินผลไม้ที่ไม่ต้องอาศัยฟันกรามคมๆ เคี้ยวให้ละเอียด มากกว่ากินหญ้าอย่างม้าในปัจจุบัน

จากสภาพแผ่นดินที่ค่อยๆ พัฒนาอยู่ตลอดเวลา การกินอาหารของม้า ก็มีการผสมผสานมากขึ้น และฟันของม้าก็แข็งแกร่งขึ้น จนสามารถที่จะเคี้ยวและย่อยหญ้าที่อาจจะมีเศษกรวดหรือดินปนมาด้วยได้ ซึ่งงานวิจัยนี้เอเอฟพีรายงานว่าได้ตีพิมพ์ลงวารสารไซน์ (Science)

งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า ฟันกรามที่ใหญ่ขึ้นและคมขึ้นนั้น เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต แต่ช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและลักษณะของฟันนั้นชี้ว่า ม้าจำนวนมากต้องตายไประหว่างการเปลี่ยนแปลงนั้น

“เราพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการในกายวิภาคของฟันม้านั้น ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงในการกินอาหารเป็นเวลาหลายล้านปีหรืออาจจะมากกว่านั้น หนึ่งในข้อดีของการศึกษาสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่างม้าก่อนประวัติศาสตร์นี้ คือเราศึกษาได้ว่าสัตว์เหล่านั้นตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมในช่วงหลายล้านปีอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่นักชีววิทยาที่ศึกษาสปีชีส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถทำได้” แมทธิว มิห์ลแบชเลอร์ (Matthew Mihlbachler) ผู้ร่วมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวยอร์ก (New York Institute of Technology) กล่าว

มิห์ลแบชเลอร์และเพื่อนร่วมงานคือนิคอส โซลัวเนียส (Nikos Solounias) ได้พิจารณาฟอสซิลฟันของม้า ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมากกว่า 70 สปีชีส์ เปรียบเทียบกับข้อมูลที่บันทึกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอเมริกาเหนือ และใช้กระบวนการวิเคราะห์ฟันโบราณ (dental mesowear analysis) จนสามารถที่จะเห็นการสึกกร่อนบนฟัน และประเมินได้ว่าม้ากินอะไร

“ม้าเก่าแก่ที่สุดประมาณ 55.5 ล้านปีก่อนนั้น มีฟันตัดที่มีพัฒนาการต่ำมากเกินกว่าจะตัดยอดหญ้าได้ และชี้ว่าน่าจะเป็นสัตว์ที่กินผลไม้เป็นหลักมากกว่า จนเมื่อเวลาล่วงไปทุ่งหญ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และฟันของม้าก็ใหญ่ขึ้น ยาวขึ้น พร้อมขอบฟันที่คมมากขึ้นด้วย และรูปแบบของฟันที่สึกกร่อนสูงเหมือนม้าและม้าลายในปัจจุบันก็คงอยู่มาได้ 4-5 ล้านปีแล้ว” ผลการศึกษาระบุ

งานวิจัยยังชี้อีกว่า ฟันม้าที่ใหญ่ขึ้นและมีพัฒนาการมากขึ้นนั้น ชี้ถึงความสามารถในการปรับตัวที่มากขึ้น และโอกาสในการอยู่รอดที่มากขึ้นด้วย.

โครงสร้างของฟันม้าโบราณที่ แมทธิว มิห์ลแบชเลอร์ ใช้ศึกษา (ไลฟ์ไซน์)
กำลังโหลดความคิดเห็น