นักอนุรักษ์ออกมาเตือน สถานการณ์น่าห่วงของปะการังทั่วโลก ซึ่งกำลังถูกคุกคาม ถึง 3 ใน 4 ของโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปะการังถูกคุกคามถึง 95% แจงหากไม่ดูแลตั้งแต่ตอนนี้ อีก 50 ปีปะการังสูญพันธุ์หมด เหลือแต่ซากหินปูนประดับท้องทะเลแน่ๆ
นักวิทยาศาสตร์หลายร้อยชีวิตใช้เวลา 3 ปีรวบรวมข้อมูลเป็นรายงานสถานการณ์ความเสี่ยงของปะการังทั่วโลก ซึ่ง ริชาร์ด แบล็ค (Richard Black) ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมของบีบีซีนิวส์ระบุว่า ตามข้อมูลของนักวิจัย สิ่งที่คุกคามปะการังรุนแรงสุดคือ การทำประมงอย่างเกินพอดี ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อปะการังภายใน 20 ปี
รายงานฉบับนี้ เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มวิจัยและองค์กรอนุรักษ์กว่า 20 แห่ง ซึ่งนำโดย สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute: WRI) ในวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ ซึ่ง เจน ลุบเชนโค (Jane Lubchenco) จากองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐฯ หรือโนอา (National Oceanographic and Atmospheric Agency: NOAA) บอกว่า รายงานนี้เป็นเหมือน “เสียงปลุก” สำหรับนักนโยบายทั้งหลาย ผู้นำธุรกิจ ผู้มีหน้าที่ดูแลและจัดการทางมหาสมุทรและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปกป้องแนวปะการัง
“การคุกคามทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้สร้างผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวปะการัง และทำให้อนาคตของระบบนิเวศน์ที่สวยงามและมีคุณค่านี้ต้องตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง” ลุบเชนโก ให้ความเห็น
รายงานประเมินสิ่งแวดล้อมนี้ ยังได้ทบทวนการทำประมงแบบเกินพอดี ที่พบในรายงานความเสี่ยงของปะการังเมื่อปี 1998 โดยได้เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งตลอด 13 ปีที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ปะการังเสี่ยงต่อการถูกทำลายเพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด และสาเหตุหลักๆ ของความเสียหายที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากการทำประมงแบบเกินพอดี โดยเฉพาะในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก
โดยภาพรวม แนวปะการังของโลกมากกว่าครึ่ง ถูกคุกคามจากวิธีที่ชาวประมงใช้ ซึ่งมีตั้งแต่การจับสัตว์แบบธรรมดาๆ แต่มากเกินกว่าธรรมชาติจะฟื้นฟูได้ทัน ไปจนถึงการใช้วิธีจับปลาที่รุนแรง อย่างการใช้ระเบิดเพื่อทำให้ปลาตกใจหรือทำให้ตาย ซึ่งวิธีดังกล่าวได้ทำลายปะการังให้กลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยคุกคามสำคัญอีก ได้แก่ มลพิษที่ไหลมาตามแม่น้ำ การพัฒนาชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ หากสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นไปตามคาดการณ์ ภายในปี 2030 ปะการังทั่วโลกจะฟอกขาวไปกว่าครึ่ง และเมื่อถึงปี 2050 จะมีปะการังฟอกขาวถึง 95%
แนวปะการัง เกิดจากตัวปะการังที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับสาหร่าย ซึ่งให้สารอาหารที่ทำให้ปะการังมีสี แต่เมื่ออุณหภูมิน้ำร้อนเกินไป สาหร่ายจะถูกขับออกไป และตัวปะการังจะเปลี่ยนเป็นสีขาว แม้ว่าปะการังจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่หากเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้บ่อยๆ ก็ทำให้ปะการังตายได้ง่ายๆ เหมือนกัน
นอกจากนี้ค่าความเป็นกรดเป็นด่างในน้ำทะเลที่ค่อยๆ ลดลง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน้ำทะเลดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น หรือการที่มหาสมุทรเกิดภาวะเป็นกรดนั้นเป็นภัยต่อการก่อโครงสร้างของปะการัง
มาร์ค สปัลดิง (Mark Spalding) นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลอาวุโสจากองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ (The Nature Conservancy) บอกว่า ตอนนี้ปะการังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว ซึ่งเขาเกรงว่าในอนาคตทั้งภาวะโลกร้อนและภาวะเป็นกรดของมหาสมุทร จะเป็นภัยคุกคามหลักต่อปะการัง และไม่มีภัยคุกคามใดที่ส่งผลกระทบต่อปะการังอย่างเดี่ยวๆ แต่มักจะมีหลากลหายปัจจัยรวมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดยิ่ง
รายงานจากบีบีซีนิวส์ยังบอกด้วยว่า บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดย 95% ของปะการังในบริเวณนี้ ได้รับการขึ้นบัญชีที่ถูกคุกคาม หากแต่ในแง่ผลกระทบต่อสังคมมนุษย์แล้ว การคุกคามดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสมดุลเท่านั้น
นักวิจัยให้เหตุผลว่า สังคมที่จะได้รับผลกระทบหนักๆ จากปะการังที่ลดจำนวนลง จะเป็นสังคมที่อยู่ในบริเวณที่มีการคุกคามสูง บริเวณที่มีสัดส่วนของประชากรที่พึ่งพิงปะการังในวิถีชีวิตมาก รวมถึงพื้นที่ที่ประชากรปรับตัวได้ต่ำ โดยประเทศที่มีปะการังตกอยู่ในความเสี่ยงสูง ได้แก่ คอโมโรส ฟิจิ เฮติ อินโดนีเซีย คิริบาส ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย และวานูอาตู
“ยังมีเหตุผลที่จะมีความหวัง เพราะปะการังนั้นฟื้นตัวเร็ว และด้วยการลดการคุกคามระดับท้องถิ่น เราสามารถช่วยซื้อเวลาในการหาทางแก้ไขเพื่อรับมือกับการคุกคามระดับโลก ซึ่งจะช่วยรักษาปะการังไว้สำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต” ลอเรตตา เบิร์ก (Lauretta Burke) เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสถาบันทรัพยากรโลกและเป็นหัวหน้าทีมในการเขียนรายงานให้ความเห็น
งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง จะช่วยให้ปะการังแข็งแรงและทนทานต่ออุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งในรายงานของบีบีซีนิวส์ได้เน้นว่า การปกป้องพื้นที่สำคัญของทะเลนั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องทำให้ชัดเจน
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า มีพื้นที่ปะการังที่ต้องได้รับการปกป้องกว่า 2,500 พื้นที่ และแม้ว่าทั่วโลกจะมีการปกป้องพื้นที่เหล่านั้นไปมากกว่าครึ่ง แต่กลับเป็นเพียงการปกป้องแบบพอเป็นพิธีเท่านั้น มีเพียง 1 ใน 6 ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับการปกป้องอย่างจริงจัง
“รายงานฉบับนี้ เต็มไปด้วยแนวทางแก้ไข มีตัวอย่างจริงในพื้นที่ซึ่งประชากรประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเราไม่เรียนรู้จากความสำเร็จเหล่านั้น ผมคิดว่าในอีก 50 ปี ปะการังเกือบทั้งหมดก็จะหายไป เหลือเพียงซากหินปูนสึกกร่อนที่ปกคลุมไปด้วยสาหร่ายและรอยแทะเล็มจากปลาตัวเล็กๆ จำนวนหนึ่ง” สปัลดิงกล่าว