xs
xsm
sm
md
lg

ตรังเตรียมปิดเกาะเพิ่มแก้ปะการังฟอกขาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - หลังจากมีการปิดเกาะเชือก ในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เพื่อแก้ปัญหาปะการังฟอกขาว และเตรียมเสนอให้ปิดเกาะกระดานซึ่งเป็นเกาะที่ใช้จัดงานวิวาห์ใต้สมุทรในช่วงโลว์ซีซันเพิ่มเติมด้วย

วันนี้ (28 ก.พ.) นายประพจน์ สัตถาภรณ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง กล่าวว่า จากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สั่งปิดอุทยานแห่งชาติ ในฝั่งทะเลอันดามันบางส่วน อันเนื่องมาจากปัญหาปะการังฟอกขาว รวมทั้งที่บริเวณเกาะเชือก ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งเกิดปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงถึง 80% ของพื้นที่ด้วยนั้น แม้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวบ้างในช่วงระยะแรก แต่ขณะนี้ทั้งผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวสามารถปรับตัวได้แล้ว ตลอดจนเข้าใจในความจำเป็นที่จะต้องปิดเกาะเชือก เพื่อให้ธรรมชาติได้กลับมางดงามเหมือนเช่นดังเดิม โดยเฉพาะปะการังเขากวาง และปะการังสมอง ซึ่งอาจจะต้องทำการปิดเกาะเชือกอย่างนี้ไปถึง 5 ปี เนื่องจากต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความเสียหาย

นอกจากนั้น เกาะกระดานซึ่งมีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลก เนื่องจากเป็นสถานที่แห่งแรกที่ใช้ในการจัดวิวาห์ใต้สมุทร เมื่อ 14 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2539 และอีกหลายครั้งในปีต่อๆ มา จนได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกในหนังสือกินเนสส์เวิลด์ เรกคอร์ด (Guinness World Records) ว่า เป็นวิวาห์ใต้สมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีคู่สมรสเข้าร่วมแต่งงานใต้น้ำมากที่สุด กำลังเป็นอีกจุดหนึ่งที่เกิดปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง ซึ่งมีแนวโน้มอาจจะต้องเสนอให้สั่งปิดเกาะกระดานเป็นการชั่วคราวในช่วงมรสุม หรือช่วงโลว์ซีซัน ที่จะมาถึงประมาณเดือนพฤษภาคม 2554 นี้ เพื่อให้สภาพธรรมชาติ โดยเฉพาะปะการังที่ได้รับความเสียหายได้ฟื้นตัวกลับมางดงามเหมือนเช่นกับเกาะเชือก ซึ่งหวังว่าทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวคงจะเข้าใจ

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงในพื้นที่หลายจุดของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มิได้เกิดมาจากการที่น้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดมาจากการที่มีนักท่องเที่ยวปริมาณมากจนเกินไป และการที่มีขยะมูลฝอย น้ำเสีย หรือมลพิษต่างๆ ในท้องทะเลจำนวนมาก

ฉะนั้น หนทางที่จะแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง จำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมทั้งผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว และมลพิษต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่สมดุลย์กับสภาพธรรมชาติ เพื่อมิให้ท้องทะเลอันดามันต้องกลับมาเกิดภาวะวิกฤติขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเสนอให้มีการปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลบางจุดในบางช่วง ควบคู่กับการจัดระบบการนำเที่ยวให้เหมาะสมกับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล

กำลังโหลดความคิดเห็น