ในขณะที่นักบินอวกาศถูกห้ามอย่างเข้มงวดไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ผู้ผลิตเบียร์ของออสเตรเลีย กำลังจะเปิดให้มีการลิ้มรสเบียร์ที่ผลิตขึ้นมา เพื่อดื่มด่ำบนอวกาศโดยเฉพาะ ก่อนเสิร์ฟจริงในอวกาศปีหน้า
บริษัท โฟว์ไพน์บริวิง (4 Pines Brewing Company) ผู้ผลิตเบียร์ “โฟว์ไพน์” (4 Pines) จากออสเตรเลีย วางแผนทดสอบรสชาติ “เบียร์อวกาศ” ในวันเสาร์ที่ 26 ก.พ.2011 นี้ ที่มลรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรก ที่มนุษย์จะได้ลิ้มรสเบียร์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อดื่มในอวกาศโดยเฉพาะ โดยสำนักข่าวเอบีซีเมลเบิร์นได้รายงานว่า ทางเจ้าของเบียร์โฟว์ไพน์ วางแผนที่จะเสิร์ฟเครื่องดื่มพิเศษนี้บนเที่ยวบินสำหรับลูกทัวร์อวกาศในปีหน้า
จารอน มิทเชลล์ (Jaron Mitchell) จากบริษัทเบียร์โฟว์ไพน์ บอกถึงอุปสรรคในการลิ้มรสชาติเบียร์บนอวกาศว่า เมื่ออยู่ในอวกาศประสาทรับสัมผัสทั้งหมดในบริเวณหน้า ตั้งแต่ลิ้นไปจนถึงการดมกลิ่น ล้วนทำงานผิดเพี้ยนไปหมด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะลิ้มรสอะไรก็ตามในอวกาศ
มิทเชลล์บอกว่า เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า นักบินอวกาศไม่ใช้เกลือและซอสรสจัด ในมื้ออาหารของพวกเขา และหากเขาเองเสิร์ฟเบียร์ธรรมดาให้แก่ลูกทัวร์อวกาศแล้ว ลูกเรือของเขาจะไม่อาจลิ้มรสชาติของเบียร์ได้ ดังนั้น โฟว์ไพน์จึงเริ่มพัฒนาเบียร์แรงๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดสัมผัสรับรู้ที่รวดเร็ว
อีกปัญหาที่เบียร์ธรรมดาจะทำให้เกิดขึ้นได้เมื่ออยู่บนอวกาศ คือก่อให้เกิดอาการเรอ ซึ่งเมื่ออยู่บนอวกาศ ค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องยุ่งเหยิงเลยทีเดียว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่า “เรอเปียก” (wet burp) ซึ่งจารอนอธิบายว่า หากอยู่บนพื้นโลกนั้น แรงโน้มถ่วงจะแยกก๊าซและของเหลวในกระเพาะออกจากกัน การเรอจึงไม่ใช่ปัญหาเหมือนบนอวกาศที่ทั้งก๊าซและของเหลวออกมาพร้อมกัน
ดังนั้น เบียร์อวกาศจึง จำเป็นต้องเติมคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเบียร์ทั่วไป และนอกจากความท้าทายที่จะผลิตเบียร์ให้คนเราดื่มบนอวกาศได้ และมีความสุขด้วยนั้น ยังมีประเด็นว่าจะเสิร์ฟเบียร์ในปริมาณเท่าไรด้วย
“เรากำลังดูเรื่องกฎหมายด้วยว่า มีบทใดบ้างที่จะนำมาใช้กับการเสิร์ฟแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบบนอวกาศ” จารอนกล่าว
ข้อมูลจากเนชันนัลจีโอกราฟิกบอกว่า ทางองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ต้องเข้ามาประเมินการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ไปกับเที่ยวบินอวกาศพาณิชย์ของ “เวอร์จินกาแลกติก” (Virgin Galactic) อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ นาซายังเคยทดลองนำเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเบียร์เล็กน้อยขึ้นไปกับกระสวยอวกาศเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อทดสอบอุปกรณ์สำหรับจ่ายเครื่องดื่มคาร์บอนเนตในเที่ยวบิน “ซีโรจี” (zero-G) หรือเที่ยวบินไร้แรงโน้มถ่วง
ในขณะที่ออสเตรเลีย กำลังจะทดสอบดื่มเบียร์บนอวกาศ ทาง “ซัพโปโร” (Sapporo) ผู้ผลิตเบียร์ของญี่ปุ่นก็ผลิต “เบียร์อวกาศ” รุ่น “ลิมิเต็ดเอดิชัน” ซึ่งได้จากต้นข้าวบาเรย์ที่ปลูกบนอวกาศเป็นเวลา 5 เดือน ภายในโมดูลซเวซดาเซอร์วิส (Zvezda Service Module) ของรัสเซียบนสถานีอวกาศนานาชาติ และได้ขายเบียร์ทั้งหมด 250 ชุดๆ ละ 6 ขวด แต่จำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่น.