ผอ.นาซายินดีถ้า “ส.ส.กิฟฟอร์ดส” ฟื้นตัวจากอาการโคมา มาชมการทะยานฟ้าของ “มาร์ค เคลลี” ผู้เป็นสามี ที่จะเดินทางไปกับเที่ยวบินสุดท้ายของกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ในเดือน เม.ย.
ชาร์ล บอลเดน (Charles Bolden) ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดี สำหรับลูกเรือกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) และคนในชาติของสหรัฐฯ หาก ส.ส.กาเบรียล กิฟฟอร์ดส (Gabrielle Giffords) จากพรรคเดโมแครต จะเข้าร่วมชมการปล่อยกระสวยอวกาศในเที่ยวสุดท้าย ซึ่งมี มาร์ค เคลลี (Mark Kelly) สามีของเธอเป็นผู้บังคับการบิน ณ ฐานปล่อยที่แหลมคานาเวอรัล มลรัฐฟลอริดา ในเดือน เม.ย.2011 นี้ได้
ผู้บริหารสูงสุดของนาซาบอกว่า ส.ส.กิฟฟอร์ดส ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการถูกยิงเข้าที่ศรีษะเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการพักฟื้นนั้น จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคู่รักของนักบินอวกาศคนอื่นๆ หากเธอสามารถเข้าชมการปล่อยกระสวยอวกาศได้ อีกทั้งเธอยังเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตคนสำคัญ ในคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตรวจสอบองค์การอวกาศด้วย
ทางด้านเคลลีเองนั้น สำนักข่าวเอพีระบุว่า เขาได้กลับเข้าฝึกซ้อมสำหรับการบินครั้งสุดท้ายของเอนเดฟเวอร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และทางบอลเดนยังบอกอีกว่า นาซาให้ความช่วยเหลือครอบครัวของนักบินอวกาศอยู่เสมอ และยังให้การดูแลรักษาทางการแพทย์ตามความจำเป็นด้วย และเขายังพูดคุยกับเคลลีอยู่หลายครั้งนับแต่เกิดการกราดยิงในอาริโซนาเมื่อเดือนที่ผ่านมา และได้สนับสนุนให้เคลลีตัดสินใจบินต่อ
สำหรับอาการของ ส.ส.กิฟฟอร์ดสนั้น ทางเอพีรายงานว่า เธอสามารถพูดได้เป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์หลังจากถูกยิงเมื่อ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โดยปกติคนไข้ที่บาดเจ็บทางสมองจะกลับมาพูดได้หลังจากบาดเจ็บ 4-6 สัปดาห์ แต่การฟื้นตัวของเธออาจใช้เวลานานกว่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับใครก็ตามที่มีอาการบาดเจ็บสาหัสทางสมอง ผู้ป่วยอาจฟื้นความจำได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญไม่รับรองว่า จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังแก้ปมไม่ออกว่า สมองทำงานอย่างไร เพื่อฟื้นตัวจากแผลบาดเจ็บและจะช่วยให้สมองซ่อมแซมตัวเองได้มากที่สุดได้อย่างไร ทั้งนี้ พวกเขาต้องรับมือกับเซลล์ประสาทนับแสนล้านเซลล์ ซึ่งแต่ละเซลล์เชื่อมต่อกับเซลล์อื่นที่เรียกว่า “นิวรอน” (neuron) อีกนับ 1,000 เซลล์ และการเชื่อมต่อนี้เองทำให้เกิดวงจรที่เป็นพื้นฐานการทำงานของสมอง.