เป็นที่น่าอิจฉาชาวสหรัฐฯ ยิ่งนัก ที่มีโอกาสได้ “ดาวตกลูกไฟ” ตอนกลางวัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก เสียดายแค่ไม่มีภาพให้ชม
“ดาวตกลูกไฟ” หรือ “ไฟร์บอล” (fireball) ได้ปรากฏขึ้นกลางวันของวันที่ 14 ก.พ.2011 ที่ผ่านมาในช่วงเที่ยงของวันตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ นับเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก โดยในวันนั้นดาวตกลูกไฟได้พาดผ่านท้องฟ้าทางฝั่งตะวันออก จากรัฐแมรีแลนด์ไปถึงรัฐแมสสาชูเสตต์ส
ทั้งนี้ สเปซด็อทคอมอ้างความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากรายงานข่าวที่ระบุว่า ความกว้างของลูกไฟและตวามสว่างเจิดจ้านั้นได้ทำให้ดาวตกดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์สุดพิเศษสำหรับผู้เฝ้าชมท้องฟ้าที่โชคดี
“ไม่ใช่ธรรมดามากๆ นี่เป็นเหตุการณ์ที่หาดูยากมากๆ” โจ ราโอ (Joe Rao) คอลัมนิสต์เกี่ยวกับการสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าของสเปซด็อทคอมให้ความเห็น
ราโอบอกว่า เขาจำเหตุการณ์คล้ายกันนี้ได้เพียงเหตุการณ์เดียว นั่นคือปรากฏการณ์ฝนดาวตกตอนกลางวันเมื่อปี 1972 ที่ทั่วตอนกลางของสหรัฐฯ และแคนาดาปกคลุมไปด้วยแสงจากฝนดาวตกในตอนกลางวัน
สำหรับปรากการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้นักวิจัยให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นลูกไฟจากปรากฏการณ์ดาวตก มากกว่าที่จะเป็นเศษชิ้นส่วนของดาวเทียม หรือเศษซากจากอวกาศ
“เมื่อไรที่คุณเห็นบางอย่างที่สว่างจ้า แล้วพุ่งผ่านท้องฟ้าตอนกลางวันไปอย่างรวดเร็ว เรานิยามว่าคือดาวตก” บิล คูก (Bill Cooke) ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมเชิงดาวตก (Meteoroid Environment Office) ในศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ให้ความเห็น
“หากเป็นดาวเทียมที่ตกจากวงโคจรเราต้องได้รับการเตือนจากนอราด (NORAD หรือ the North American Aerospace Defense Command: หน่วยป้องกันอากาศยานแห่งอเมริกาเหนือ) ทันที นอกจากนี้จากข้อมูลการสังเกตทั้งหมดที่เราได้รับชี้ว่า วัตถุนี้เห็นได้เพียงไม่กี่วินาที ถ้าป็นดาวเทียมที่ตกลงมาต้องใช้เวลานานกว่าและเคลื่อนที่พาดผ่านท้องฟ้าช้ากว่า” ราโอให้ความเห็น
ทางดานคุกประมาณว่า ดาวตกลูกนี้น่าจะมีขนาดประมาณ 1.5 เมตร และหนักหลายตัน และมีอำนาจทำลายล้างเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที 10 ตัน
“มันเป็นหินก้อนยักษ์ใหญ่พอสมควรที่พุ่งปะทะชั้นบรรยากาศ” คูกให้ความเห็นสเปซด็อทคอม
จากข้อมูลเรดาร์และการสังเกตอื่นๆ บ่งชี้ว่า หินอวกาศนี้แตกสลายเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก โดยคูกบอกว่าอาจเกิดขึ้นที่เหนือชายฝั่งของนิวยอร์กหรือนิวเจอร์ซี ขณะที่ชิ้นส่วนส่วนมากเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ แต่บางส่วนอาจเหลือตกลงไปในมหาสมุทร เพียงแต่เราไม่อาจรู้ได้
คูกกล่าวอีกว่า ลูกไฟตอนกลางวันนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างน้อย โดยมีรายงานทั่วโลกเฉลี่ยเดือนละครั้งเท่านั้น และจากประสบการณ์สังเกตปรากฏการณ์ ศึกษาดาวตกและสะเก็ดดาวมาเป็นเวลานาน เขาเองยังไม่เคยเห็นดาวตกลูกไฟตอนกลางวันเลยสักครั้ง
ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันมีหินอวกาศปะทะโลกจำนวนมหาศาล แต่ส่วนมากไม่อาจสร้างลูกไฟที่สว่างเพียงพอจะเบียดกับแสงตะวันที่เจิดจ้าได้ และปรากฏการณ์เหนือฟ้าสหรัฐฯ นี้นับเป็นดาวตกอีกดวงที่สว่างมาก
ราโอกล่าวว่าถ้าดาวตกไฟจะเห็นได้ในเวลากลางวัน ดาวตกนั้นต้องมีความสว่างพอๆ กับดวงจันทร์ แต่รายงานที่ได้รับบ่งชี้ว่าดาวตกลูกไฟดังกล่าวน่าจะมีความสว่างถึง -26 หรือสว่างเท่าๆ กับดวงอาทิตย์เลยทีเดียว ดังนั้น ลูกไฟดังกล่าวจึงค่อนข้างพิเศษมาก และใครที่ได้เห็นก็นับว่าโชคดีมาก