xs
xsm
sm
md
lg

สาหร่ายไทยกว่า 40 สายพันธุ์พร้อมทำไบโอดีเซล คาดปี 58 ผลิตสู่ตลาดได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเปิดตัวโครงการ “มหัศจรรย์แห่งสาหร่าย...แหล่งพลังงานและอาหารเพื่ออนาคต” เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 53 ณ อาคารวิจัยและพัฒนา 1 วว. เทคโนธานี โดยมี นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว., ดร.กันย์ กังวานสายชล นักวิจัยผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง ปตท.  และ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท. (เรียงจากซ้ายมาขวา) ได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้
วว.พัฒนาเทคนิคคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายน้ำมันแบบรวดเร็ว พบ 40 สายพันธุ์พร้อมสกัดพัฒนาเป็นไบโอดีเซล ด้าน ปตท. ทุ่มทุน 140 ล้าน บ. ให้ วว.ผลิตเชื้อเพลิงสาหร่ายเชิงพาณิชย์ รมว.วท.คาดปี 58 ไบโอดีเซลสาหร่ายไหลเข้าสู่ตลาดได้ พร้อมรณรงค์ให้เปลี่ยนทัศนคติจากการใช้น้ำมันปิโตรเลียมมาใช้พลังงานทดแทน อย่างสาหร่ายที่เพาะใช้งานได้ทุก 14 วัน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้เปิดตัวโครงการ “มหัศจรรย์แห่งสาหร่าย...แหล่งพลังงานและอาหารเพื่ออนาคต” เมื่อวันที่ 11 ก.พ.53 ณ อาคารวิจัยและพัฒนา 1 เทคโนธานี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดย ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ทาง วว. กำลังศึกษาวิจัยหาทางนำสาหร่ายมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลในเชิงพาณิชย์

"เนื่องจากสถานการณ์แหล่งปริมาณน้ำมันสำรองของโลกกำลังลดน้อยลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งวิจัยและพัฒนาเพื่อหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ ให้เพียงพอและรองรับสำหรับในอนาคต โดยนักวิจัยต่างก็ทราบกันดีว่า สาหร่ายบางชนิดนั้นสามารถให้น้ำมันได้ และน้ำมันจากสาหร่ายเหล่านี้ยังสามารถมาทำน้ำมันไบโอดีเซลได้อีกด้วย” รมว.วท. เผย

ดร.วีระชัย อธิบายว่า วว.ได้คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันได้รวดเร็วเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้เทคนิคย้อมสีไนล์ เรด (Nile Red staining) เป็นเทคนิคของการใช้สีที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่สามารถย้อมน้ำมันได้ และเป็นสีที่เรืองแสง รวมทั้งเป็นวิธีการย้อมแบบเปิดผนังเซลล์สาหร่าย ทำให้สีที่ย้อมไปจับตัวกับน้ำมันในสาหร่ายได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อมองผ่านกล้องฟลูออเรสเซนต์ก็จะเห็นได้ชัดว่า สายพันธุ์ไหนมีน้ำมันมากน้อยแค่ไหน รูปแบบของเม็ดน้ำมันเป็นอย่างไร เพื่อง่ายต่อการศึกษาวิเคราะห์และวิจัย

ทั้งนี้ เทคนิคดังกล่าวเป็นการคิดค้นที่สามารถดำเนินการคัดสาหร่ายได้เร็วขึ้น ถึงเดือนละประมาณ 50 สายพันธุ์ เมื่อเทียบจากวิธีดั้งเดิมที่สามารถคัดแยกสาหร่ายได้เพียงปีละประมาณ 100 สายพันธุ์ โดยค้นหาสายพันธุ์ที่มีน้ำมันในปริมาณที่มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพื่อนำไปสกัด ซึ่งขณะนี้พบสายพันธุ์สาหร่ายที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันดังกล่าวแล้วกว่า 40 สายพันธุ์ จากกว่า 1,000 สายพันธุ์

การคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายนั้น จะคัดเลือกจากคลังสาหร่ายของ วว. โดย นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. อธิบายว่า ทาง วว. นั้น มีคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่นและจีน โดยเก็บรักษาสายพันธุ์ที่แยกจากระบบนิเวศต่างๆ ของประเทศไทยกว่า 1,000 สายพันธุ์ และมีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100 – 10,000 ลิตร โดยการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในบ่อขยายกลางแจ้งใช้เวลาเพียง 14 วันเท่านั้น

“โดยเทคนิคการเพาะเนื้อเยื่อและเพาะเลี้ยงสาหร่าย จะต้องมีการพัฒนาวิธีการในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเลี้ยงสาหร่ายนอกธรรมชาติ ซึ่งจะต้องทำให้ได้ในต้นทุนระดับต่ำ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ที่จะพัฒนาไปสู่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายผลิตน้ำมันในเชิงพาณิชย์อีกด้วย” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ทางด้าน ดร.กันย์ กังวานสายชล นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเชื้อเพลงทางเลือก สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. และผู้จัดการเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) อธิบายว่า ภายหลังที่ วว. คัดเลือกสายพันธุสาหร่ายที่ผลิตน้ำมัน และพัฒนาการเพาะเลี้ยงในระดับเชิงพาณิชย์กลางแจ้งแล้ว ในส่วนของน้ำมันที่ได้นั้น ปตท.จะนำน้ำมันที่สกัดได้ ไปวิเคราะห์คุณสมบัติเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิง และพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามความเหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ ปตท. ยังได้สนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 140 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) ระยะเวลา 7 ปี (พ.ศ.2551-2558) โดยมีเป้าหมายเชิงพาณิชย์เพื่อให้ต้นทุนของน้ำมันจากสาหร่ายน้อยกว่า 150 เหรียญต่อบาร์เรล

อีกทั้ง ยังมีเป้าหมายเชิงเทคนิค ให้สาหร่ายมีผลผลิตสูงกว่า 30 กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน และมีปริมาณน้ำมันประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ หรือสามารถคิดเป็นผลผลิตน้ำมันสาหร่ายประมาณ 6 ตันน้ำมันต่อไร่ต่อปี ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินต้นทุนการผลิตมวลสาหร่าย อยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง โดยมีปริมาณน้ำมันที่ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ของสาหร่ายแห้ง ซึ่งยังคงเป็นต้นทุนที่สูงอยู่

อย่างไรก็ดี ดร.วีระชัย ได้ตั้งเป้าการทำการวิจัยและทดลองไว้ 7 ปี เพื่อให้การทำน้ำมันไบโอดีเซลจากสาหร่ายเป็นไปในเชิงรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปกว่า 2 ปี แล้ว และอนาคตจะนำสู่ตลาด ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเปลี่ยนทัศนคติมาใช้พลังงานทดแทน แทนน้ำมันปิโตรเลียมต่อไป

“ถึงแม้ว่าน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้มาจากการสกัดออกมาจากสาหร่ายจะมีราคาสูง เมื่อเทียบกับน้ำมันปิโตรเลียมที่ใช้แล้วก็หมดไป แต่น้ำมันไบโอดีเซลจากสาหร่ายเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสาหร่าย และนำมาผลิตเป็นน้ำมันได้ตลอดเวลา ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานชั้นยอด ที่มาจากฝีมือของคนไทยเป็นผู้คิดค้นเอง” ดร.วีระชัยกล่าว

สาหร่ายนอกจากจะสามารถสกัดน้ำมันเป็นไบโอดีเซล แหล่งพลังงานชั้นยอดแล้ว ยังสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าและได้ประโยชน์อีกด้วย โดย รมว.วท. อธิบายว่า น้ำมันสาหร่ายสามารถนำไปเป็นอาหารเสริมในอนาคตได้อีกด้วย โดยสาหร่ายที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน เป็นคนละสายพันธุ์กับที่ให้น้ำมันทำอาหารเสริมสุขภาพ จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อราคาสาหร่ายที่นำมาเป็นอาหารอย่างแน่นอน.
ปตท.ให้ทุน 140 ล้านบาท ร่วมวิจัยกับ วว. เพื่อสกัดน้ำมันสาหร่ายผลิตไบโอดีเซลในเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าปี 58 จะสามารถผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดได้
รมว.วท. สาธิตการใช้ใช้เทคนิคย้อมสีไนล์ เรด ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถค้นหาน้ำมันในสาหร่ายได้อย่างรวดเร็ว จากปีละ 100 สายพันธุ์เป็นเดือนละ 50 สายพันธุ์
รมว.วท. ชมระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาด 100 – 10,000 ลิตร โดยคลังสาหร่ายของ วว.นับว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น