สถาบันวิจัยซินโครตรอน จับมือสหวิริยาสตีล ร่วมกันวิจัยและพัฒนาโครงสร้างเหล็กโดยใช้แสงซินโครตรอนย่านรังสีเอกซ์ ระบุจะช่วยปรับปรุงคุณสมบัติได้ถึงระดับโครงสร้างโมเลกุล และช่วยหาสาเหตุความบกพร่องที่วิเคราะห์ไม่ได้ด้วยการดูลงไปถึงโครงสร้างลึกๆ
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านโลหะและวัสดุกับ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.54 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี นายสุรเชษฐ์ แวอาเซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยทั้ง 2 องค์กรจะร่วมกันวิจัยและพัฒนางานทางด้านโลหะและวัสดุโดยใช้แสงซินโครตรอน
นายถาวร คณานับ ผู้จัดการทั่วไปสายการผลิตด้านวางแผนการผลิตและปฏิบัติการขนส่ง บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ที่ผ่านมาในการผลิตเหล็กกล้าของบริษัทนั้นพบรอยร้าวและของเสียที่ไม่ทราบสาเหตุว่าคืออะไร ซึ่งการใช้แสงซินโครตรอนจะช่วยหาสาเหตุและแก้ไขปรับปรุงการผลิตได้ง่ายขึ้น
“โดยปกติเรามีทีมวิจัยและมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เรามีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ทั้งนี้แสงซินโครตรอนน่าจะทำให้เราได้รู้จักโครงสร้างเหล็กได้ดีขึ้น โดยเราจะเน้นการปรับปรุงโครงสร้างเหล็กและผิวเหล็กให้มากขึ้น และแสงซินโครตรอนจะช่วยให้เราได้เห็นโครงสร้างลึกๆ มากขึ้น” นายถาวรกล่าว
ด้าน รศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวเพิ่มเติมกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ก่อนลงนามบันทึกข้อตกลงได้มีความร่วมมือกับทางสหวิริยาสตีลในการเรื่องการวิจัยด้านโลหะและวัสดุอยู่แล้ว ซึ่งแสงซินโครตรอนจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ โดยงานวิจัยของสถาบันได้พัฒนาเทคนิควิเคราะห์วัสดุ ทั้งโลหะ ไม้ สารกึ่งตัวนำ ไปจนถึงวัสดุชีวภาพอย่างเซลล์และเนื้อเยื่อ ส่วนเหล็กนั้นถือเป็นอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
“แสงซินโครตรอนจะช่วยดูและวิเคราะห์วัสดุได้ในระดับอะตอมและโมเลกุล ซึ่งจะช่วยบ่งบอกถึงคุณสมบัติของวัสดุให้เราหากระบวนการปรับปรุงวัสดุได้ ทั้งนี้ เรามีงานวิจัยด้านโลหะหลักๆ เกี่ยวกับการทำให้ผิวมีความแข็งแรงและทนต่อการกัดกร่อน สำหรับการวิจัยเกี่ยวกับเหล็กนั้นภาคอุตสาหกรรมต้องรีดเหล็กให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า บางรายต้องการเหนียว บางรายต้องการแข็ง เพื่อการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่น ใช้ผลิตรถยนต์ ใช้ผลิตขดสปริง ผลิตเหล็กโครงสร้าง เป็นต้น ซึ่งเราจะนำแสงซินโครตรอนในย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูงและพลังงานต่ำไปช่วยตรวจวิเคราะห์ว่า ทำไมเหล็กไม่มีสมบัติตามที่ต้องการ โดยดูไปถึงโครงสร้างข้างใน” รศ.ดร.ประยูรกล่าว