เป็นเวลานับปี กว่าที่สถาบันซินโครตรอนจะได้ผู้อำนวยการคนใหม่ และหวยได้ออกที่ "ดร.ชัยวิทย์ ศิลาวัชนาไนย" อดีตบอร์ดของศูนย์ที่หันไปเอาดีด้านงานสวนหลังชีวิตข้าราชการ แต่เมื่อได้รับการร้องขอจึงวางจอบ-เสียมไว้ชั่วคราว แล้วขึ้นมาบริหารงานองค์การมหาชนที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ
“ผมก็เหมือนข้าราชการวัยเกษียณทั่วไป ซึ่งหันไปเอาดีด้านทำสวนทำไร่ แต่เมื่อได้รับการร้องขอจากเพื่อนสนิทให้มารับหน้าทีนี้จึงยอม" คำพูดเปิดใจของ รศ.ดร.ชัยวิทย์ ศิลาวัชนาไนย ผู้อำนวยการคนใหม่ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ในวัย 63 ปี ต่อหน้าสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ โดยเขาเข้ารับตำแหน่งจากมติคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ม.ค.53
รศ.ดร.ชัยวิทย์กล่าวว่า ตัวเขาเองไม่เคยเห็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน แต่ส่วนตัวแล้วมีพื้นความรู้ที่เกี่ยวข้องอยู่พอสมควร โดยเฉพาะความรู้เรื่องพลาสมาซึ่งเขาเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาเรื่องนี้ รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับเลเซอร์ และระบบสุญญากาศ ดังนั้นจึงทำความเข้าใจกลไกการทำงานของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดีเขายอมรับว่ามีคนเก่งกว่าเขาสมัครเข้ารับตำแหน่ง แต่อาจจะมีบางคุณสมบัติที่ขัดกับเกณฑ์คัดเลือก
การรับตำแหน่งครั้งนี้เป็นหน้าที่บริหารที่รับไม้ต่อจาก รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานกว่า 10 ปี และปัจจุบันรับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง รศ.ดร.ชัยวิทย์เปรียบเทียบว่า รองปลัดฯ ได้รับภาระหนักในการปลูกไม้ใหญ่ที่ไม่มีรากแก้ว และมีคนพยายามเขย่าและถอนทิ้งตลอดเวลา แต่เมื่อผ่านไปไม้ใหญ่นั้นก็ยืนต้นได้ ซึ่งหน้าที่เขาจากนี้คือการตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ย และคาดว่าจะออกดอกออกผลในไม่ช้า
รศ.ดร.ชัยวิทย์กล่าวด้วยว่า มีคนจำนวนน้อยที่อยากจะมารับตำแหน่งเป็นผู้บริหารขององค์การมหาชน โดยเฉพาะผู้ที่เติบโตในสายวิชาการของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีโอกาสก้าวไปจนถึงอายุ 60 ปี แต่หากรับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การมหาชนมีวาระอยู่ได้แค่ 4 ปีเท่านั้น ดังนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อายุไม่ถึง 60 ปี จึงไม่ค่อยสนใจตำแหน่งนี้ ตัวเขาเองจึงเหมือน "ผู้อำนวยการแก้ขัด" ที่รอให้ผู้มีความสามารถหลายคนมีความพร้อมกว่านี้
เมื่อให้ประเมินว่าตนเองมีความโดดเด่นอย่างไรต่อตำแหน่งใหม่ล่าสุดนั้น รศ.ดร.ชัยวิทย์กล่าวว่า ตัวเขานั้นมีพื้นฐานความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีซินโครตรอน ดังนั้นหากมีการจัดชื้อ-จัดจ้างคงจะไม่ถูกหลอกได้ง่ายๆ และจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ทำให้มองเห็นแนวโน้มของเทคโนโลยีในอนาคต ที่สำคัญคือยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะใช้เป็นหลักในการบริหารองค์กร
“ภาพของเศรษฐกิจพอเพียงถูกทำให้เป็นเรื่องของการทำสวน-ทำไร่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงได้กับทุกเรื่อง และผมจะทำให้เห็นว่า บริหารงานเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ หากแต่การสร้างให้สถาบันซินโครตรอนเป็นภูมิคุ้มกันของประเทศเป็นภาระหนักที่สุด" รศ.ดร.ชัยวิทย์กล่าว
ทั้งนี้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนพร้อมเปิดรับเอกชนให้ร่วมทำวิจัยโดยไม่คิดค่าลำแสง แต่กลับไม่ค่อยมีเอกชนเข้าไปทำวิจัยมากนัก ทั้งที่พยายามประชาสัมพันธ์และประะชุมเชิงปฏิบัติการอยู่ครั้ง ซึ่งโดยศักยภาพของสถาบันจะช่วยในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาให้ภาคเอกชนได้ แต่เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และเป็นอุตสาหกรรมแบบรับจ้างผลิตมากกว่า จึงไม่ค่อยทำงานด้านวิจัยและพัฒนา
ต่างจากห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนในต่างประเทศ เช่นห้องปฏิบัติการของเยอรมันที่รับจ้างวิจัยให้กับบริษัทผลิตยางรถยนต์ให้กับเอกชนรายใหญ่ที่เป็นคู่แข่งกันถึง 2 ราย จึงสร้างรายได้ให้กับสถาบันวิจัยได้มาก ทั้งนี้เพราะต่างประเทศมีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีที่สุด
“แนวโน้มต่อไปในอนาคตจะต้องเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ไทยแพ้ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวันหรือแม้แต่จีนอย่างแน่นอน เพราะอุตสาหกรรมไทยอยู่ได้ด้วยเทคโนโลยีของคนอื่น เราพยายามทำให้อุตสาหกรรมไทยเห็นว่า เขาต้องอยู่ได้ด้วยเทคโนโลยีของไทยเอง ซึ่งแนวโน้มจะเป็นอย่างนี้และเป็นภูมิคุ้มกันให้คนไทย" ดร.ชัยวิทย์กล่าว
ปัจจุบันสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีสถานีลำแสง (Beam Line) อยู่ 2 สถานี และกำลังทดสอบอยู่ 1 สถานี ซึ่งปลายปี 2553 คาดว่าจะเปิดให้บริการสถานีลำแสงได้ 5-6 สถานี ทั้งนี้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีแผนสร้างสถานีลำแสงทั้งหมด 8 สถานี แต่มีศักยภาพสร้า้งสถานีลำแสงได้เต็มที่ 16 สถานี โดยคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยยาง สิ่งทอและอัญมณี เนื่องจากเครื่องมือเหมาะสมกับงานด้านนี้ และเหมาะกับงานด้านวิเคราะห์วัสดุ
รศ.ดร.ชัยวิทย์กล่าวด้วยว่า งานวิจัย 3 ด้านนั้นยังสอดคล้องกับ คลัสเตอร์วิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจะทำให้งานวิจัยของไทยเป็นไปในทางเดียวกัน และในส่วนของงานวิจัยด้านยางนั้นจะได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งงานวิจัยยางที่โดดเด่นและมีอุตสาหกรรมรองรับ
นอกจากสถานีลำแสงที่พร้อมให้บริการแล้วสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนยังมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพร้อมจะถ่ายทอดสู่ภายนอก คือเทคโนโลยีด้านสุญญากาศซึ่งทำได้ดีที่สุดในประเทศ และทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้ติดต่อให้พัฒนาเครื่องมือสำหรับเคลือบกระจกสะท้อนแสง 2.5 เมตรของกล้องดูดาวแห่งชาติ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีหล่อเย็นด้วยฮีเลียมที่สร้างความเย็นได้ถึง 4 เคลวิน หรือ -269.15 องศาเซลเซียส
พร้อมกันนี้ ผอ.สถาบันแสงซินโครตรอนยังเผยแนวคิดที่จะสร้างให้สถาบันเป็น Asean Synchrotron โดยจะดึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนมาร่วมลงขันในเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และชี้ให้เห็นศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียและเวียดนามทีมีความสามารถด้านทฤษฎีสูงกว่าไทย ส่วนบรูไนและอินโดนีเซียก็เป็นประเทศที่มีเงินมาก
“แล้วทำไมเราจะไม่ดึงเขามาช่วยอัพเกรดเครื่อง เพราะลำพังไทยทำอะไรเองไม่ได้มาก งบประมาณปีนึงๆ เพียง 200 ล้านบาท แต่ละสถานีลำแสงใช้เงิน 50-100 ล้านบาท ตอนนี้เรามีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการศึกษากับประเทศในภูมิภาคนี้ก่อน แต่ต่อไปจะเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ควรมีความร่วมมือกัน" รศ.ดร.ชัยวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ รศ.ดร.ชัยวิทย์จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์-คณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) ออสเตรเลียโดยทุนรัฐบาลออสเตรเลีย ปริญญาโทสาขาฟิสิกส์พลาสมา จากมหาวิทยาลัยซัสกัตเชวัน (University of Sasketchewan) แคนาดา โดยทุนรัฐบาลแคนาดา และปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์พลาสมา จากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส (Flinders University) ออสเตรเลีย โดยทุนมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์