xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหารเซิร์นมาเองแถลงโครงการรับ นักศึกษา-ครูฟิสิกส์ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ดูงานที่เซิร์น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร., ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผอ.ศฟ., ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์, Prof. Dr.Emmanuel Tsesmelis, Prof. Dr.Albert De Roeck และ ผศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการหัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สซ. ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว โครงการนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ ภาคฤดูร้อนเซิร์น เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสยามซิตี (ภาพโดย สซ.)
4 องค์กรหลักทางด้านฟิสิกส์ของไทยจับมือกับเซิร์น ประกาศรับนักศึกษาและครูฟิสิกส์จากไทยร่วมกิจกรรมเรียนรู้ดูงานภาคฤดูร้อนที่เซิร์นช่วงกลางปีหน้าเป็นครั้งแรก หวังกระตุ้นเยาวชนไทยสนใจวิทยาศาสตร์ ต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้สร้างความเข้มแข็งด้านฟิสิกส์ให้ประเทศชาติ และปูทางสู่ความร่วมมือวิจัยฟิสิกส์พลังงานสูง ไขปริศนากำเนิดจักรวาลกับเซิร์น โดยสมเด็จพระเทพฯ จะทรงคัดเลือกตัวแทนด้วยพระองค์เอง

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านฟิสิกส์ (ศฟ.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา แถลงข่าวเปิดตัว "โครงการนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ ภาคฤดูร้อนเซิร์น" เมื่อวันที่ 15 ต.ค.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสยามซิตี เพื่อรับสมัครและคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ให้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมภาคฤดูร้อน ณ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ หรือเซิร์น (The European Organization for Nuclear Research: CERN) ที่สมาพันธรัฐสวิส ในเดือน ก.ค. 53

โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยแสงฯ และเซิร์น ซึ่งลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงที่จะมีความร่วมมือกัน (EOI) เมื่อวันที่ 16 มี.ค.52 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนเซิร์น

ในการแถลงข่าวครั้งนี้มี ศ.ดร.เอมมานูเอล เซสเมลิส (Prof. Dr.Emmanuel Tsesmelis) ผู้อำนวยการ สำนักงานผู้อำนวยการเซิร์น และ ศ.ดร.อัลเบิร์ต เดอ โรก (Prof. Dr.Albert De Roeck) ร่วมด้วย

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการโครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ เพื่อเข้าร่วมโครงการภาคฤดูร้อนของเซิร์น ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างเซิร์นกับประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา 2 คน และครูสอนฟิสิกส์ 2 คน จากประเทศไทย ได้เข้าร่วมกิจกรรมและศึกษาดูงานที่เซิร์น เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางด้านฟิสิกส์ของบุคลากรในประเทศไทย อีกทั้งยังก่อให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างกันที่นำไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคตต่อไป

ก่อนหน้านี้ไทยมีความร่วมมือกับเซิร์น ในการส่งนักศึกษาระดับปริญญาเอกไปร่วมทำวิจัยด้วยแล้วเป็นจำนวน 3 คน

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวอีกว่า เซิร์นได้เปิดกว้างทางความรู้วิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจมานานแล้ว ซึ่งประเทศไทยสนใจที่จะส่งนักศึกษาและครูไปเข้าร่วมโครงการภาคฤดูร้อนกับเซิร์นมานานแล้ว แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงยังไม่สามารถทำได้

ทว่าหลังจากที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยือนเซิร์นเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเซิร์นยินดีรับนักศึกษาและครูไทยเข้าร่วมโครงการภาคฤดูร้อนของเซิร์น โดยที่ไทยเสียเพียงค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าประกันชีวิต และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก 4 หน่วยงานหลักข้างต้น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.2 ล้านบาท

ด้านผู้อำนวยการ สำนักงานผู้อำนวยการเซิร์น กล่าวว่า เซิร์นเริ่มดำเนินกิจกรรมภาคฤดูร้อนมาตั้งแต่ปี 2541 โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาและครูฟิสิกส์จากทั่วโลก สมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมและปฏิบัติงานวิจัยกับเซิร์นเป็นประจำทุกปี ซึ่งภารกิจหลักของเซิร์น คืองานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคหรือฟิสิกส์พลังงานสูง และพื้นฐานการกำเนิดจักรวาล เป็นสิ่งที่แทบทุกคนอยากรู้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามคิดค้นเทคโนโลยี ที่จะช่วยหาคำตอบเหล่านี้ได้ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศ ต้องการนักวิทยาศาสตร์หนุ่มสาวรุ่นใหม่เข้ามาร่วมวิจัย จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา

ที่ผ่านมานักศึกษาและครูที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ใน 20 ประเทศของยุโรป โดยในปี 53 จะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มาจาก 40 ประเทศทั่วโลก และเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาและครูฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมโครงการด้วย รวมทั้งผู้เข้าร่วมจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และรัสเซีย

"นักศึกษาที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรม และเรียนรู้กับเซิร์นคือกลุ่มคนที่มีความสนใจและมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ได้ร่วมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และก่อให้เกิดความร่วมมือกันต่อไปได้ ส่วนครูที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเซิร์นเหล่านี้จะได้เรียนรู้และเปิดประสบการณ์ใหม่ทางด้านฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และอื่นๆ ที่จะสามารถนำกลับไปถ่ายทอดสู่นักเรียนได้อีกนับร้อยนับพันคน ทำให้การเรียนการสอนฟิสิกส์ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป" ผู้บริหารจากเซิร์นกล่าว

อีกทั้งผู้บริหารจากเซิร์นยังหวังว่า ความร่วมมือกับไทยในครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือทางการวิจัยที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ คือความร่วมมือในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดลองยิงอนุภาคโปรตรอนให้ชนกันด้วยเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่แอลเอชซี (LHC) เพื่อไขปริศนาจุดกำเนิดของจักรวาล

ทั้งนี้ เซิร์นเล็งเห็นด้วยว่าโครงการนี้เป็นวิธีการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดีมากวิธีหนึ่ง ที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีความเข้าใจในฟิสิกส์มากขึ้น และได้รู้ว่างานวิจัยเหล่านี้มีผลต่อชีวิตเขาอย่างไร นักศึกษาและครูฟิสิกส์ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมภาคฤดูร้อนกับเซิร์น ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม จะต้องเขียนรายงานส่งให้กับเซิร์นและสถาบันต้นสังกัด รวมทั้งร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับเพื่อนนักศึกษา เยาวชน ครูอาจารย์ และนักวิจัย ในประเทศของตัวเอง เพื่อจุดประกายและกระตุ้นความสนใจทางด้านฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ให้กับพวกเขา และก่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยทางด้านฟิสิกส์ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ส่วนเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวแทนของประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เบื้องต้นคณะกรรมการจะคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ที่มีศักยภาพและมีคุณสมบัติเหมาะสม จากนั้นจะนำรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงพิจารณาและคัดเลือกนักศึกษา 2 คน และครู 2 คน ที่จะเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปเข้าร่วมกิจกรรมภาคฤดูร้อนของเซิร์นในปี 53

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จะได้เข้าศึกษาดูงานและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเดินทางไปร่วมกิจกรรมที่เซิร์น ณ สมาพันธรัฐสวิส เป็นเวลา 8 สัปดาห์สำหรับนักศึกษา และ 3 สัปดาห์สำหรับครูสอนฟิสิกส์

ในส่วนนักศึกษา มีกิจกรรมทั้งภาคบรรยายและปฏิบัติงานกับนักวิจัยของเซิร์น และในส่วนของครูจะเน้นกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการเรียนการสอนฟิสิกส์ หลังจากนั้น จะต้องนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาถ่ายทอดสู่เยาวชน ครูอาจารย์ และนักวิจัย ในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นความสนใจและเกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและงานทางด้านฟิสิกส์ของประเทศไทยต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้

- โครงการสำหรับนักศึกษา ผู้สมัครจะต้องมีสัญชาติไทย เป็นนิสิต/นักศึกษาสาขาวิชาฟิสิกส์ที่กำลังศึกษาชั้นปริญญาตรีปีที่ 4 หรือบัณฑิตศึกษาปีที่ 1 ที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย มีอายุไม่เกิน 25 ปี ในวันที่เปิดรับสมัคร และมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับดีมาก

- โครงการสำหรับครู/อาจารย์สอนฟิสิกส์ ผู้สมัครจะต้องมีสัญชาติไทย เป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านฟิสิกส์พลังงานสูงมาก่อน สอนอยู่ในประเทศไทย มีสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับดีมาก และต้องมีผลการทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อประกอบการพิจารณา

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.slri.or.th หรือสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2354-3945 โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 30 พ.ย. 52
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ (ซ้าย) จับมือกับ Prof. Dr.Emmanuel Tsesmelis จากเซิร์น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าความร่วมมือระหว่างเซิร์นและประเทศไทยเริ่มขึ้นแล้ว (ภาพโดย สซ.)
กำลังโหลดความคิดเห็น