แม้จะเทียบกับ “เซิร์น” ที่มีห้องปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคที่กินพื้นที่ครอบคลุมพรมแดน 2 ประเทศไม่ได้ แต่สถาบันซินโครตรอนของไทยก็มีเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่สุดในอาเซียน และทุกครั้งที่เดินเครื่องจะมีรังสีมากมายออกมาให้เลือกใช้ จึงน่าสนใจว่า ห้องปฏิบัติการแห่งชาตินี้มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างไร
เมื่อมีโอกาสได้ไปเยือนสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงถือโอกาสล้วงลึกถึงระบบรักษาความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการแห่งชาตินี้ว่ามีความเข้มงวดมาก-น้อยเพียงใด
ดร.รัฐการ อภิวัฒน์วาจา รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานความปลอดภัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นผู้ให้ข้อมูลระบบความปลอดภัยของสถาบันว่า สิ่งที่คนกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนคือ ความปลอดภัยด้านรังสี ความปลอดภัยเรื่องอัคคีภัย ความปลอดภัยด้านสารเคมีและการเข้าโจมตีห้องปฏิบัติการ
ในส่วนของความกังวลด้านรังสีซึ่งแม้ว่าห้องปฏิบัติการจะผลิตรังสีออกมาหลายช่วงคลื่น แต่เป็นรังสีที่เกิดขึ้นจากเครื่องเร่งอนุภาคเหมือนเซิร์น (CERN) หรือในโรงพยาบาลที่รังสีเกิดจากอิเล็กตรอนวิ่งชนโลหะ ดังนั้นเมื่อปิดเครื่องก็จะไม่เกิดรังสี หรือกรณีห้องปฎิบัติการระเบิดก็ไม่มีรังสีกระจายออกไปเหมือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะรังสีจากห้องปฏิบัติการไม่ได้เกิดจากสารกัมมันตรังสี อีกทั้งในส่วนของวงแหวนกักเก็บอิเล็กตรอนเป็นกำแพงตะกั่วหน้า 50 เซนติเมตร
ผู้ที่เข้าไปภายในโถงทดลองซึ่งเป็นชั้นบนจากโถงใต้ดินที่ติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน ต้องติดอุปกรณ์ตรวจวัดการได้รับปริมาณรังสีส่วนบุคคล ซึ่งจะเครื่องมือวัดดังกล่าวมาวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกปี เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลว่าเจ้าหน้าที่ได้รับปริมาณรังสีเกินหรือไม่ และรังสีภายในโถงทดลองต้องไม่เกิน 20 มิลลิซีเวิร์ต (mSv) แต่จากการวัดพบปริมาณรังสีภายในโถงทดลองเพียง 0.04 มิลลิซีเวิร์ต*
ด้านการรับมือความปลอดภัยจากอัคคีภัย ทางสถาบันจัดให้มีการซ้อมหนีไฟปีละครั้ง เมื่อมีสัญญาณเตือนเหตุไฟไหม้ทุกคนจะต้องออกไปรวมตัวกัน ณ จุดรวมพลตามที่ซ้อมไว้ และนอกจากเสียงสัญญาณที่ดังขึ้นแล้ว ช่วงประตูทางเข้าห้องปฏิบัติการยังมีป้ายวงจรที่แสดงตำแหน่งการเกิดอัคคีภัย ซึ่งหน่วยรักษาความปลอดภัยจะเข้ามาดูป้ายดังกล่าวเพื่อหาทางส่งคนเข้าไปสกัดเพลิงตรงจุดเกิดเหตุอย่างทันท่วงที
อีกทั้งตามจุดต่างๆ จะติดตั้งถังดับเพลิงที่มีสารเคมีหลากหลายสำหรับสกัดเพลิงจากต้นเพลิงแต่ละชนิด เช่น ต้นเพลิงจากไฟฟ้าลัดวงจร ต้นเพลิงจากน้ำมัน เป็นต้น
ส่วนความปลอดภัยทางด้านสารเคมีนั้น ดร.รัฐการกล่าวว่า ปกติห้องปฏิบัติการของสถาบันไม่ได้ใช้สารทดลองเท่าไหร่นัก หากใช้จะใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย และกำหนดให้นำเข้าไม่เกิน 10 มิลลิลิตร แต่ไม่อนุญาตให้เก็บสารเคมีไว้ภายในห้องปฏิบัติ หากนำเข้าไปต้องนำออกมากำจัดเองด้วย
สุดท้ายการเข้าไปภายในห้องปฏิบัติการวิจัยจะต้องมีบัตรประจำตัวจึงจะเข้าไปได้ และต้องแตะบัตรทุกครั้งที่เข้าและออก ซึ่งห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอนแบ่งออกเป็นโถงภายนอก โถงทดลองและโถงใต้ดิน ซึ่งจะผ่านเข้าไปโถงแต่ละชั้นต้องมีการแตะบัตรผ่านทั้ง 3 โถงการทดลอง และเจ้าหน้าที่ของสถาบันที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโถงภายในห้องปฏิบัติการก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเช่นกัน ส่วนกรณีที่มีผู้มาเยี่ยมชมต้องมีผู้รับผิดชอบในการนำเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ และต้องทราบจำนวนผู้เข้าชมที่แน่นอน
ในส่วนของโถงใต้ดินที่ติดตั้งเครื่องเร่งอิเล็กตรอนเพื่อเร่งความเร็วและบังคับให้เกิดการปลดปล่อยรังสีออกมาใช้ประโยชน์ด้านงานวิจัยนั้น มีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ และทุกครั้งที่มีการยิงอิเล็กตรอนเข้าวงกักเก็บ (Beam Injection) จะมีประกาศเตือนให้ออกจากอาคารปฏิบัติการแสงสยามทันที และจะมีคำสั่งหยุดยิงอิเล็กตรอน หากพบว่ายังมีเจ้าหน้าที่ติดค้างอยู่ภายในโถงใต้ดิน หลังหลังจากกักเก็บอิเล็กตรอน (Stored Beam) เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปภายในห้องปฏิบัติการได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ยังจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าทางเข้าออกอาคารปฏิบัติการแสงสยามทั้งหมด 13 จุด โดยมีจุดเข้าห้องปฏิบัติการเพียง 1 จุด ซึ่งเป็นจุดที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง และมีภาพจากกล้องวงจรปิดให้ตรวจตราอยู่ตลอดเวลา
“ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีเหตุฉุกเฉินอะไร เพราะเรายังมีบีมไลน์ (สถานีลำแสง) อยู่น้อย มีการใช้สารเคมีอยู่น้อย และภายในห้องปฏิบัติการก็ไม่มีการทดลองเกี่ยวกับเชื้อโรค แต่อนาคตอีก 4-5 ปีจะมีปฏิบัติการทางด้านชีววิทยา ซึ่งต้องมีระบบการนำสิ่งมีชีวิตเข้าออกเข้มงวดกว่านี้” ดร.รัฐการระบุ
*มิลลิซีเวิร์ต |
ผลกระทบของรังสีความถี่สูง รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา (ข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) |