เมื่อการสำรวจประชากรหญิงทั่วโลก พบว่า กว่า 300,000 ราย ต้องเสียชีวิต เพราะโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ประสบกับโรคร้ายนี้มักอาศัยอยู่ในภูมิภาคแถบเอเชียแปซิฟิก และด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการประชุม The 1st Symposium on HPV Vaccination in the Asia Pacific Region โดยสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute หรือ IVI) ที่จัดขึ้น ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
ดร. John Clemens ประธานสถาบันวัคซีนนานาชาติและผู้เชี่ยวชาญการประเมินผลของวัคซีนในประเทศที่กำลังพัฒนา ให้ข้อมูลว่า จากการรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบประชากรที่เสียชีวิต เพราะโรคติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมีคนเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้เพียง 10% ขณะที่อีก 90% พบมากในประเทศที่ยังไม่พัฒนาและกำลังพัฒนา ดังนั้นทางสถาบันIVI จึงต้องผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดร.นพ. Xavier Bosch ผู้บริหาร Cancer Epidemiology and Registration Unit Catalan Institute of Oncology จากบาร์เซโลนา ประเทศสเปนเสริมว่า เชื้อไวรัส HPV (Human Papillomevirus) คือ ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้จะติดต่อทางผิวหนังเท่านั้น ไม่สามารถติดเชื้อผ่านกระแสเลือดได้
“โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มโรคมะเร็งทั้งหมด แต่เป็นอันดับที่ 2 สำหรับโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในผู้หญิง รองจากโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งมีผู้หญิงกว่า 80%เป็นเหยื่อของโรคนี้อันมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมทางเพศ เพราะการร่วมเพศกันในแต่ละครั้ง ผู้หญิงจะได้รับเชื้อเอชพีวีมาอย่างน้อยหนึ่งชนิด ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วในทุกๆ 2 นาทีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกเสียชีวิต 1 คน”
อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจพบว่า ช่วงอายุที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี นั่นคือ กลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อแล้ว ประมาณ 9.2 ล้าน หรือ 74% ขณะที่อายุโดยเฉลี่ยของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปาดมดลูกนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 57 ปี ส่วนโรคมะเร็งอื่นๆนั้น ผู้ป่วยจะมีอายุโดยเฉลี่ยที่ 72 ปีเท่านั้น
ทั้งนี้ จากประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้บวกกับขั้นตอนการผลิตและต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชีย นั่นคือ ความสามารถทางด้านการงานกับความต้องการวัคซีนที่ไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ จากการเปิดตัววัคซีนเอชพีวีในประเทศแทบเอเชียแปซิฟิก พบว่าหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือไทย เอง ประสบกับปัญหาราคาแพง ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับวัคซีนตัวนี้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในเรื่องนี้แม้ว่าทางประเทศอินเดียเองจะมีการจัดการลดต้นทุนโดยการผลิตตัวยาบางส่วนในประเทศของเขาเอง แต่วิธีนี้ก็ไม่สามารถครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศ จึงส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกยังเพิ่งสูงขึ้นเป็นระยะๆ
ดร.Linda Eckert นักวิจัยวัคซีน จาก สถาบันวัคซีนนานาชาติของ WHO HQ จากกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยว่า ในเรื่องของราคานั้น ยอมรับว่า เป็นปัญหาสำหรับหลายๆ ประเทศ แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า จุดประสงค์ของนักวิจัยทุกคนและองค์กรทุกองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ต่างมีความเห็นที่ตรงกันคือผลิตวัคซีนขึ้นมาเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก แต่การผลิตย่อมมีต้นทุนเกิดขึ้นซึ่งต้นทุนของวัคซีนค่อนข้างสูงดังนั้นราคาที่ตั้งขึ้นมาจึงเป็นราคาที่สมเหตุสมผล
“โดยทั่วไปแล้ว ราคาของวัคซีนนั้นขึ้นอยู่กับบริษัทยาแต่ละประเทศ โดยจะฉีดวัคซีนนี้เพียง 3 ครั้ง ซึ่งบางประเทศตั้งราคาอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์/โดส แต่ราคาของแต่ละประเทศก็จะต่างกันออกไป เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งนี้ วิธีหนึ่งที่จะช่วยคนลดค่าใช้จ่ายวิธีหนึ่ง นั่นคือ หากคนไหนไม่สะดวกในการรับวัคซีนเอชพีวี อาจเข้ารับการตรวจภายใน (Pep Smear) เพื่อหาเชื้อก่อนก็ได้ ซึ่งผู้หญิงควรตรวจเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว”
ส่วนทางด้านของประเทศไทยนั้น รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า จากการที่มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดสำหรับผู้หญิงไทย ซึ่งตัวเลขคร่าวๆ ของผู้ป่วยรายใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 6,000 กว่าราย และในแต่ละปีผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเสียชีวิตประมาณ 3,000 กว่ารายต่อปี หรือหากเฉลี่ยต่อวัน ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 7 ราย/คน
“เมื่อก่อนเรายังไม่ทราบสาเหตุว่าโรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร แต่ปัจจุบันนี้เราทราบแล้วว่า โรคมะเร็งปากมดลูกนั้นเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส Human Papillomevirus (HPV) เลยทำให้เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ แต่แม้จะรู้สาเหตุของการเกิดโรค แต่ที่เป็นอันดับ1อยู่เพราะโรคมะเร็งนั้น ในช่วงเริ่มแรกจะยังไม่มีอาการนานกว่า 10-15 ปี ซึ่งกว่าเชื้อไวรัสจะกลายเป็นมะเร็งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอายุประมาณ 30-40 ปี ทำให้กลุ่มเสี่ยงสูงที่สุดคือกลุ่มอายุอายุ 35-45 ปี โดยกลุ่มเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการรับเชื้อตั้งแต่วัยรุ่นคือการมีเพศสัมพันธ์เร็ว”
อย่างไรก็ดี เมื่อเชื้อเอชพีวีสามารถติดต่อกันส่วนใหญ่ทางเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิงจึงเป็นแรงเสริมหรือกลายเป็นอัตราเร่งให้วัยรุ่นมีโอกาสรับเชื้อสูงมากขึ้นไปด้วย ซึ่งอาการก่อนจะเข้าสู่โรคมะเร็งปากมดลูกนั้น จะเรียก ภาวะก่อนเป็นมะเร็ง โดยจะทราบจากการตรวจภายในที่ปากมดลูกที่ควรตรวจปีละครั้ง เพื่อดูเซลล์ของปากมดลูก
“นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไทยเป็นโรคนี้กันเยอะเพราะหากเทียบกับผู้หญิงอเมริกันแล้ว พวกเขาตรวจภายในกันประมาณ 80% แต่ไทยเรา 10-15% เท่านั้น ซึ่งการที่ผู้หญิงอาย เขิน หรือกลัวเจ็บนี่เอง จึงทำให้ไม่ทราบว่าเป็น พอรู้อีกทีก็สายไปแล้ว ดังนั้น หากกล้าที่จะตรวจในระยะแรกเขาก็สามารถหายได้”
ส่วนอาการของโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น รศ.นพ.วิชัย อธิบายว่า ในระยะลุกลามจะมีตกขาวมาก มีกลิ่น และมีเลือดออก อีกทั้งยังมีอาการผิดปกติในระบบอื่นๆ ได้ เนื่องจากมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ขับถ่ายผิดปกติ หรือ ปวดตามตัว
“เมื่อทราบสาเหตุของการเกิดโรค และมีวัคซีนป้องกันโรคโดยเฉพาะแล้ว เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส มี2ชนิด แบ่งออกเป็นวัคซีนที่ฉีดป้องกันโรค 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 16 และ 18) ซึ่งเป็นเชื้อเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูงที่เป็นสาเหตุหลักก่อให้เกิดโรคมะเร็งถึง 70% ขณะที่วัคซีนที่ฉีดป้องกันโรค 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18) จะครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงต่ำที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ด้วย”
จากการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่า แท้ที่จริงแล้ววัคซีนนี้เหมาะกับวัยใดกันแน่ ซึ่ง รศ.นพ.วิชัยแนะว่า สำหรับคนไทยแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรองไว้กลุ่มที่น่าฉีดวัคซีนเอชพีวีมากที่สุดคือกลุ่มในช่วงอายุ 9-26 ปี ซึ่งวัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดต่อเมื่อผู้หญิงคนนั้นยังไม่เคยรับเชื้อมาก่อน หมายถึงยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แม้แต่ครั้งเดียว ส่วนคนที่แต่งงานแล้วก็สามารถฉีดได้ แต่หากมีอายุเกิน 55 ปีขึ้นไปโอกาส อาจไม่ต้องฉีด เพราะโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นจะน้อยลง เนื่องจากการรับเชื้อเอชพีวีนั้น เป็นเชื้อที่มีการติดต่อล่วงหน้าหลายปี”
“ผลวิจัยล่าสุดจากทั่วโลกรวมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย พบว่า วัคซีนชนิดป้องกัน 4 สายพันธุ์นั้น ผู้หญิงที่มีอายุ 45 ปี ก็ยังได้ประโยชน์จากวัคซีนนี้เช่นกัน ซึ่ง ณ ตอนนี้ทางประเทศออสเตรเลีย ได้ขยายช่วงอายุไปถึง 45 ปีแล้ว โดยวัคซีนประเภท 2 สายพันธุ์นั้นหลังจากฉีดครั้งแรกแล้ว จากนั้น 1 เดือนจะฉีดเข็มที่ 2 และเดือนที่ 6 ฉีดเข็มที่ 3 ขณะที่วัคซีนประเภทสี่สายพันธุ์นั้นหลังจากฉีดครั้งแรกแล้ว จะฉีดเข็มที่ 2และ3ในอีก 2 เดือนและ 6 เดือนตามลำดับ”
ส่วนเรื่องราคาวัคซีนในเมืองไทยนั้น แม้จะยังไม่มีนโยบายหางบประมาณ ฉีดฟรีสำหรับเด็กในช่วงอายุ 11-12 เฉกเช่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียแต่ไทยเองก็ไม่ใช่ประเทศที่ยากจน จึงยังพอมีกลุ่มคนที่สามารถฉีดวัคซีนตัวนี้ได้ ซึ่งกลุ่มคนที่มีอายุ 26ปีขึ้นไปจะฉีดกันเยอะเพราะอาจมีคนใกล้ตัวเป็น เกิดความกลัวและมีความรู้มากขึ้น
อีกทั้งกลุ่มนี้ คือ กลุ่มคนทำงานจึงมีเงินพอที่จะตอบสนองความต้องการได้ โดยราคาวัคซีนนั้นอยู่ประมาณเข็มละ 4,000 บาท แต่ตอนนี้อาจลดเหลือ 3 เข็ม ประมาณ 6,000-7,000 บาท ซึ่งหากเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนไทยก็ยังถือว่าราคาสูงอยู่ตามเคย
“แม้ว่าเชื้อเอชพีวีจะติดต่อได้จากทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะขณะร่วมเพศและมีหลายคู่นอนซึ่งเสี่ยงถึง 80% ในการติดเชื้อในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่คนที่ไม่สำส่อนก็สามารถติดเชื้อนี้ได้ถึง 47% เช่นกัน เมื่อไวรัสนั้นอยู่ตามผิวหนังที่เปียกชื้น ดังนั้นการทำออรัลเซ็กซ์ หรือการร่วมเพศวิธีต่างๆ ก็จะได้รับเชื้อนี้ แต่การทำออรัลเซ็กซ์นั้นจะได้มีเชื้อเอชพีวีในร่างกายน้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบปกติ” รศ.นพ.วิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.วิชัย เผยว่า เชื้อเอชพีวีไม่ได้ส่งผลร้ายแค่เพียงผู้หญิงเท่านั้น เพราะผู้ชายกลุ่มพิเศษ ที่ได้รับเชื้อเอชพีวีก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเช่นกัน ซึ่งเชื้อนี้จะทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทวารหนัก อันเกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธ์ 16-18 มากถึง 70-80% ทีเดียว
“ผู้ป่วยมะเร็งที่ทวารหนักมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ซึ่งก้นนั้นไม่ต่างจากปากมดลูกเลย เพราะจากการวิจัยเรื่องวัคซีนเอชพีวีกับผู้ชาย ได้มีการสำรวจผู้ชาย 4,000 คน แบ่งเป็นเกย์ 800 กว่าคน ผู้ชายแท้อีก 3,200 กว่าคน พบว่า วัคซีน 4 สายพันธ์สามารถป้องกันการติดเชื้อเชื้อเอชพีวีได้”
“ในอเมริกาเอง แม้ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะลดลงไปมาก โดยอยู่ที่ประมาณ 5:100,000 คน ขณะที่ไทยอยู่ในอัตรา 24:100,000 คน แต่ตอนนี้ในอเมริกามีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งก้น โดยที่ยังไมติดเชื้อเอชไอวี อยู่ที่ประมาณ 35:100,000 คน แต่หากติดเชื้อเอชไอวีด้วยจะเป็นมะเร็งก้นสูงถึง75:100,000 คน”
อย่างไรก็ดี รศ.นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หากใครประสบปัญหาทางด้านการเงิน และไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ก็มีทางเลือกอื่นๆ อีก เช่น การลดพฤติกรรมเสี่ยง อย่ามีเพศสัมพันธ์เร็วจนเกินไป หรือมีคู่นอนหลายคน และการตรวจคัดกรองมะเร็ง หาเซลล์ระยะเริ่มต้น โดยการตรวจภายในเป็นประจำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ลดอัตราเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้