xs
xsm
sm
md
lg

ภัยพิบัติ 2012 จากมุมมอง “ดร.ก้องภพ อยู่เย็น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ก้องภพ อยู่เย็น
ตลอดปีที่ผ่านมาชื่อของ “ดร.ก้องภพ อยู่เย็น” วิศวกรออกแบบอาวุโสวัย 33 ปี จากแผนกเครื่องมือไมโครเวฟ ศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Gaddard Space Flight Center) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เป็นหนึ่งในรายชื่อที่สร้างความฮือฮาให้แก่ผู้คนในสังคมไทยไม่น้อย

นอกจากจะมีเครดิตจากการเป็นวิศวกรไทยอายุน้อยที่สุดในนาซาแล้ว การออกมาทำนายภัยพิบัติแผ่นดินไหว ที่เขาอ้างว่าสัมพันธ์กับปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์และการเรียงตัวของดาวนั้น ได้สร้างความสนใจแก่คนทั่วไปมากทีเดียว

เมื่อต้นปีก่อน ดร.ก้องภพ ได้คาดการณ์ภัยพิบัติที่เฮติไว้ และได้เกิดขึ้นจริง จึงทำให้ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติเกิดสนใจและนำข้อมูลของเขาไปเล่าผ่านสื่อ จึงสร้างความฮือฮากันไปไม่น้อย

ระหว่างนั้น ดร.ก้องภพก็ได้เดินสายบรรยายเกี่ยวกับภัยพิบัติในเมืองไทยอยู่หลายครั้ง กระทั่งเวทีสุดท้ายปลายปีคือคือการบรรยายเรื่อง “เราถูกทำให้ไม่รู้” เมื่อ 28 ธ.ค.53 ที่ผ่านมา ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ จัตุรัสจามจุรี กรุงเทพฯ ซึ่งผู้ให้ความสนใจเข้าฟังกว่าร้อยคน

เมื่อสบโอกาสทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการ จึงนัดคุยกับวิศวกรนาซาผู้นี้ เพื่อไขข้อข้อใจในเรื่อง “ภัยพิบัติ” ที่เขาคาดการณ์ไว้ พร้อมๆ กับทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น โดยผ่านการนำเสนอแบบถามตอบ เพื่อให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับ “ดร.ก้องภพ” ไปพร้อมๆ กับเรา

- คุณมีหน้าที่อะไรในนาซา มีทีมงานขนาดไหน?
ดร.ก้องภพ : ออกแบบอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นไมโครเวฟจากกาแลกซีหรือจากที่ไกลๆ จากกาแลกซีของเรามากๆ หรือเรียกได้จากขอบจักรวาลของเราก็ว่าได้

เรามีทีมงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ประมาณ 3-4 คน และเป็นวิศวกรประมาณ 3-4 คน ส่วนที่เหลือเป็นช่างเทคนิคที่เราร้องขอให้มาช่วยเมื่อไหร่ก็ได้

- ทำงานที่นั่นเป็นอย่างไร มีผลงานอะไรที่ประทับใจบ้าง ?
ดร.ก้องภพ : สนุกดี ส่วนใหญ่มีหน้าที่คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านไมโครเวฟ สำหรับสำรวจอวกาศ ผลงานที่ประทับใจขอเป็นผลงานตีพิมพ์อย่างเป็นทางการแล้วกัน เพราะหลายอย่างคงเปิดเผยไม่ได้ มีที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการและจดสิทธิบัตร พวกวงจรไมโครเวฟ 2 ชิ้น วงจรคลื่นความถี่ไมโครเวฟ 2 ชิ้นงาน และตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการของนาซา ผมตีพิมพ์ไปทั้งหมด 4 ครั้ง

- ทำงานที่นาซามากี่ปีแล้ว
ดร.ก้องภพ : 6 ปี

- ได้มีโอกาสพบนักบินอวกาศบ้างหรือเปล่า
ดร.ก้องภพ : เจอครั้งหนึ่ง

- ใคร? พบเขาในงานอะไร ?
ดร.ก้องภพ : จำไม่ได้ เขาเชิญมาพูดอะไรนิดหน่อย

- นาซาให้ความสำคัญกับบุคลากรด้านไหนมากที่สุด นักบินอวกาศ นักวิทยาศาสตร์ หรืออื่นๆ
ดร.ก้องภพ : ทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน อาจจะให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์มากที่สุด เพราะเป็นเจ้าของโปรเจกต์ มีจำนวนไม่ถึง 10% แต่มีความสำคัญ เพราะเป็นเจ้าของโครงงาน และเราก็ทำงานให้กับเขา สร้างเครื่องมือให้เขา

- บรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไร? เครียดหรือเปล่า?
ดร.ก้องภพ : ก็...สำหรับผมไม่เครียด ทำไปเรื่อยๆ มีงานมาก็ทำงาน เห็นปัญหา ทำได้ระดับหนึ่งก็มาคุยกัน ปัญหาบางส่วนที่แก้ไม่ถูกทางก็ช่วยกันแก้ มีการประชุมด้วยกันทุกสัปดาห์ แล้วแยกย้ายไปทำงาน

- คุณเห็นจุดบอดอะไรในองค์ระดับโลกบ้าง?
ดร.ก้องภพ : ผมไม่ทราบว่าเรียกว่าเป็นจุดบอดหรือเปล่า แต่ระบบงานที่ทำมีการแข่งขันกันสูง อย่างนาซาจะมีศูนย์หลายๆ แห่ง สาขา มีมหาวิทยาลัย ที่ต้องทำอุปกรณ์มาแข่งกันเพื่อแย่งโปรเจกต์ พูดยาด งบก็มีจำกัด บางหน่วยงานก็มีเส้น เช่น องค์การหนึ่งจะรู้ล่วงหน้า แล้วทำไปก่อนคนอื่น เรียกว่ามีเส้น แต่ผมพูดอะไรมากไม่ได้เพราะผมยังทำงานให้เขาอยู่

- คุณอยากเป็นวิศวกรมาตั้งแต่เด็กหรือเปล่า?
ดร.ก้องภพ : ใช่ ผมเป็นคนชอบประดิษฐ์ ชอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

- คุณได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?
ดร.ก้องภพ : ตอนนั้นชอบทำของเล่น หุ่นยนต์ คือชอบประกอบหุ่นยนต์ ชอบวงจรไฟฟ้า เพราะเราลองประกอบและทดลองใช้ได้

- จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณชอบประดิษฐ์สิ่งของมาจากอะไร?
ดร.ก้องภพ : เหมือนเด็กทั่วไป ที่ดูหนังการ์ตูนแล้วอยากทำได้บ้าง และตอนเด็กๆ ชอบอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์

- อยากให้เล่าเรื่องการบรรยายของคุณที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์
ดร.ก้องภพ : ผมไม่รู้ว่าเป็นสิ่งเหมาะสมหรือไม่ ที่จะนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ข้างนอก เพราะเรื่องที่เล่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ลี้ลับทั้งหลาย ประวัติศาสตร์อีกแง่มุมหนึ่งของโลก และเรื่องเทคโนโลยีที่มีการคิดค้นขึ้นแต่ไม่ได้เผยแพร่ให้คนทั่วไปทราบ

- เทคโนโลยีที่ว่านั้นเป็นของนาซาหรือเปล่า ?
ดร.ก้องภพ : ไม่ใช่ครับ เป็นเทคโนโลยีทั่วไป ไม่เกี่ยวกับงานที่ผมทำ

- คุณได้รับข้อมูลตรงนี้จากที่ไหน?
ดร.ก้องภพ : ทางอินเทอร์เน็ต แต่เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าเป็นจริงแค่ไหน มีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงบ้าง

- กรุณาขยายความหน่อย?
ดร.ก้องภพ : เช่นมีเทคโนโลยีที่ใช้แทนน้ำมันและราคาถูกกว่าน้ำมัน

- อะไรบ้าง?
ดร.ก้องภพ : น้ำ … ผมก็ไม่อยากให้ลงเท่าไหร่ เพราะมันจะมีปัญหาพวกมาเฟียคุมอยู่ ผมรู้ดีครับ แต่มีไม่กี่คนที่ทราบ แต่ผมไม่อยากพูดอย่างนั้น ผมอยากบอกว่าทุกอย่างมีผลประโยชน์ขัดแย้ง มีเทคโนโลยีที่ความสำคัญมากๆ ที่ไม่ได้รับการเผยแพร่แก่สาธารณะ แต่ก็มีการเผยแพร่นะครับ เป็นเอกสารออกมา สมมติอย่างที่สหรัฐฯ มีเทคโนโลยีออกเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมา เมื่อหมดอายุถึงจะเผยแพร่ คือเผยแพร่เมื่อหมดอายุก่อนหรือต้องร้องขอ ซึ่งตรงนี้เขาเผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่เราต้องไปค้นเองถึงจะเจอ

- เวลาว่างคุณชอบทำอะไร?
ดร.ก้องภพ : ตอนนี้หรือเมื่อก่อน

- เมื่อก่อนคุณชอบทำอะไร?
ดร.ก้องภพ : เมื่อก่อนผมไม่ชอบทำอะไร เล่นเกม อ่านหนังสือ

- แล้วตอนนี้ชอบทำอะไร?
ดร.ก้องภพ : ตอนนี้ทำวิจัย ทำวิจัยส่วนตัวตลอดเวลา

- คุณทำวิจัยส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องอะไร ?
ดร.ก้องภพ : ปฏิกิริยาพระอาทิตย์ เกี่ยวกับการคาดการณ์ พวกแผ่นดินไหว ปฏิกิริยาพระอาทิตย์

- ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องพวกนี้ ?
ดร.ก้องภพ : เพราะว่า ผมคิดว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจจะมีความรุนแรง หรืออาจจะไม่มีก็ได้ แต่ว่าผมต้องการจะรู้ว่าวัฎจักรของพระอาทิตย์และสาเหตุของปฏิกิริยาพระอาทิตย์ แผ่นดินไหวและภัยพิบัติธรรมชาติด้วย

- แต่นาซาก็มีคนศึกษาเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว?
ดร.ก้องภพ : ก็มี แต่ว่าเนื่องจากวิธีการทั่วไปจะเจาะจงเฉพาะด้าน เป็นเรื่องๆ ไม่เชื่อมโยงแต่ละศาสตร์เข้าด้วยกัน ดังนั้นภาพที่ออกมา บทสรุปที่ออกมาจึงจำกัดมาก จากที่สังเกตธรรมชาติ ภัยธรรมชาติที่ผ่านมา ผมได้สังเกตเห็นความสัมพันธ์อย่างแน่ชัดระหว่างภัยพิบัติและปัจจัยนอกโลก

- คุณค้นคว้าความรู้ตรงนี้อย่างไร?
ดร.ก้องภพ : ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของคำแนะนำตามอินเทอร์เน็ตจากคนที่เขาสังเกตธรรมชาติ ผมจะเน้นเรื่องการสังเกตเป็นหลัก เพราะจะเป็นสิ่งแรกที่ทำให้เราจับแพทเทิร์นได้ ถ้าเราสังเกตมากๆ เราก็จะเห็นแพทเทิร์นมาก ซึ่งก็มีแรงบันดาลใจ แต่ว่าแรงบันดาลใจที่ผมว่า ผมไม่แน่ใจว่าเป็นแรงบันดาลใจของผมหรือเปล่า ตรงนี้ทำให้ผมไม่อยากพูดเรื่องพวกนี้ เพราะเวลาที่ผมพูดเรื่องพวกนี้แล้ว... บางคนเขามีความเชื่อของเขาถูกต้อง แต่ไม่ได้ว่าความเชื่อของเขาไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างถูกต้อง แน่นอน เช่น เรื่อง Crop Circle ก็มีสารคดีออกมาพยายามพิสูจน์ว่าเป็นมนุษย์ทำ แต่จริงๆ แล้วมีหลายอันเลยที่มนุษย์ทำไม่ได้ ในเชิงของเวลาในการทำ ความเที่ยงตรง และปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ลักษณะการงอของพืชไม่ใช่ลักษณะการหักลงไป แต่ว่าเป็นการงอที่น้ำในพืชแห้งออกไป

- คุณเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวหรือไม่?
ดร.ก้องภพ : ไม่เชื่อ ผมพยายามจะพิสูจน์มากกว่าก่อนที่จะเชื่ออะไรสักอย่าง ...นี่คือภาพของพืชที่เกิดจาก Crop circle ที่ไม่สามารถจะเกิดได้จากมนุษย์ทั่วไป ปกติเรางอ แกนจะหัก แต่นี่ช่วงข้อต่อจะไม่เหมือนที่เห็นข้อต่อทั่วไป (แสดงภาพตัวอย่างต้นพืชที่มีลำต้นหักงอเรียงกันหลายต้น)

- ภาพของต้นอะไร?
ดร.ก้องภพ : ไม่ทราบ เป็นต้นพืชที่เขาปลูกในไร่แล้วไปเก็บมา ส่วนใหญ่สารคดีที่ทำออกมาทางทีวีหรือภาพยนตร์ที่บางทีดูเกินจริงนั้น ทำให้คนเชื่อว่าไม่มีอะไร ตัวอย่างวิดีโอที่เขาไปถ่ายมาเมื่อเกิดปรากฏการณ์ Crop Circle จะเห็นได้ว่า มนุษย์ไม่ได้ทำ แต่ไม่มีใครยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจริงแค่ไหน แต่ก็เป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นบ่อยมาก พูดง่ายๆ คือ พอเรามีทัศนคติที่บิดเบือนจากข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เราก็จะได้ข้อสรุปที่บิดเบือน เมื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้วิธีการคิดของเราเป็นอย่างที่เป็นอยู่ พูดง่ายๆ คือมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นบนโลก แล้วผมเห็นว่าข้อความที่เขาส่งลงมาเขาบอกอะไรบางอย่าง

ตอนนั้นเมื่อปี 2009 มีรูปวาดบนผืนนาอย่างนี้ เขาวาดรูปเกี่ยวกับดาวเคราะห์แล้วประมาณว่า บอกถึงวันที่จะเกิดปฏิกิริยาพระอาทิตย์ ซึ่งเขาคาดการณ์ว่าในวันที่ 7 ก.ค.10 จะมีปฏิกิริยาพระอาทิตย์เกิดขึ้น แล้วผมก็ติดตาม นี่เขาก็คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าถึง 4-5 อาทิตย์ และผมก็ติดตามตั้งแต่ตอนนั้น ปรากฏว่ามีปฏิกิริยาพระอาทิตย์จริงๆ ซึ่งเขาบอกถึงเวลาด้วยว่าช่วงเวลาเท่าไหร่จะเกิด แล้วเป็นสิ่งที่พอเกิดขึ้นแล้วเขาทำนายได้ในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันทำไม่ได้ มันก็จุดประกายให้ผมเชื่อว่าถ้ามีคนทำได้ ผมก็ต้องทำได้เหมือนกัน ผมทดลองทำและคาดการณ์ปฏิกิริยาพระอาทิตย์ได้ระดับหนึ่ง แต่ว่ายังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยเพราะผมต้องการให้ข้อมูลแน่นกว่านี้ก่อน

ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เราสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ เพียงแต่ว่าเราอย่าติดอยู่กับความเชื่อบางอย่างซึ่งถูกส่งผ่านทางสื่อ ซึ่งหลายคนถูกกับดักตรงนี้เยอะเหมือนกัน แต่ผมก็ไม่อยากพูดเรื่องพวกนี้เยอะเท่าไร เพราะถ้าเกิดเอาไปลงแล้วจะมีคนไม่พอใจ ความเชื่อของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน การที่ผมโดนโจมตีก็เหมือนกัน เพราะความเชื่อของผมกับของเขาไม่เหมือนกัน โดยที่ไม่ดูว่าผลประโยชน์จากความสำเร็จตรงนั้นเป็นอะไรบ้าง ต้องดูที่ ... สมมติผมคาดการณ์ได้ถูกต้อง ผมว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ถือว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะต่อไปข้างหน้าเราจะมีวิธีคาดการณ์ใช้สำหรับป้องกันและเตือนภัย ผมมองในแง่นั้น แต่คนอื่นผมไม่ทราบ สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือผมทำด้วยวัตถุประสงค์ที่ดี

- คุณเริ่มสนใจภัยพิบัติตั้งแต่เมื่อไร?
ดร.ก้องภพ : ช่วงเวลาเดียวกัน ตอนนั้นเริ่มคาดการณ์ปฏิกิริยาพระอาทิตย์ แล้วมีคนทำให้ดู ไม่รู้ใครไปวาดรูปให้ผมดูเป็นตัวอย่าง ผมสังเกตปฏิกิริยาพระอาทิตย์ตั้งแต่นั้น เขาบอกว่าให้จับตาดูพระอาทิตย์นะ

- คุณจับตาดูดวงอาทิตย์ยังไง?
ดร.ก้องภพ : เราดูภาพถ่ายพระอาทิตย์จากทางนาซา แล้วก็ทางอีซา (องค์การอวกาศยุโรป) เขามีภาพถ่ายที่เผยแพร่ทางสาธารณะทุกวัน เราก็ไปดูว่าเมื่อไหร่ที่พระอาทิตย์มีปฏิกิริยาการระเบิด เกิดระเบิดสุริยะขึ้นมาบ้าง แล้วจดบันทึกเอาไว้ แล้วดูว่าช่วงนั้นเกิดอะไรขึ้นบนโลกบ้าง เปรียบเทียบอย่างนี้ทั้งปี ออกมาก็ตรงหมดเลย ผมตั้งข้อสังเกตว่าภัยพิบัติตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นไป สัมพันธ์โดยตรงกับปฏิกิริยาพระอาทิตย์ ใช้เวลาเก็บข้อมูล 1 ปีเต็มๆ พูดง่ายๆ คือ มีคนชี้แนะให้ผม ผมก็ทำข้อมูล ลองดู พิสูจน์

- คุณเคยติดต่อคนที่ให้คำแนะนำหรือเปล่า?
ดร.ก้องภพ : ไม่เคย เขาวาดรูปไว้ ที่เหลือผมทำเอง ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร

- เหตุการณ์ปี 2012 จะเป็นจริงไหม?
ดร.ก้องภพ : ตามข้อมูลของผม ถ้าเป็นจริง ตอนนี้ก็เป็นจริง ตอนต้นปี 2010 ได้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า ภัยพิบัติจะเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เพิ่มขึ้นจริงๆ พูดง่ายๆ คือสิ่งที่ผมคาดการณ์ไว้ก็ยังเป็นจริง ซึ่งยังแปรตามปฏิกิริยาพระอาทิตย์ เพราะในปี 2009 และ 2010 มีปฏิกิริยาพระอาทิตย์เพิ่มขึ้นพอสมควร จากเดิมที่ไม่มีเท่าไร ตอนนี้ก็มีเยอะพอสมควร และเราก็ได้ข่าวภัยพิบัติมากขึ้น ถ้าความสัมพันธ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ภัยพิบัติจะมีมากขึ้นจนถึงปี 2013 นี่เป็นเรื่องของวัฎจักรแคบๆ แต่ผมยังศึกษาในเรื่องวัฏจักรยาวๆ อีกด้วย คือวัฏจักรของพระอาทิตย์ซึ่งมีวัฎจักรทุกๆ 11 ปี ดูว่ามีความแตกต่างจากที่แล้วๆ มาอย่างไรบ้าง ไม่อย่างนั้นสมมติฐานนี้จะผิด เพราะทุกๆ ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยมีภัยพิบัติ แต่อยู่ดีๆ ก็เริ่มมี แสดงว่ามีปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากพระอาทิตย์ ผมเลยดูออกไปด้านนอก ขอบสุริยะจักรวาล ซึ่งได้เจอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านนอกขอบสุริยจักรวาล (คำที่ถูกต้องคือระบบสุริยะ) มีพลังงานขนาดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในขอบด้านนอกสุริยจักรวาล ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากกับสนามแม่เหล็ก และอนุภาคที่มีประจุความเร็วสูง

- คุณได้ข้อมูลนี้มาจากไหน?
ดร.ก้องภพ : ได้มาจากบทความในนิตยสารของรัสเซียและนาซา และอีซา

- เขามีทีมที่ศึกษาตรงนี้อยู่แล้วหรือเปล่า?
ดร.ก้องภพ : ใช่ เขามีทีมอยู่แล้ว แต่คนเหล่านี้เขาจะไม่พูดถึงภัยพิบัติ ไม่ดูภัยพิบัติ เขาดูแค่ขอบด้านนอกเฉยๆ พูดง่ายๆ คือเขาต่างทำข้อมูลแต่ไม่เอามารวมกัน

- เขาเอาข้อมูลไว้ทำอะไร?
ดร.ก้องภพ : เอาข้อมูลไว้เผยแพร่ธรรมดา เหมือนกับต่างคนต่างทำวิจัยของตัวเอง รู้อะไรก็เอามาเผยแพร่ ส่วนผมนี่เอาข้อมูลทั้งหมด มาปะติดปะต่อกัน

- แต่ละทีมมีเป้าหมายอะไรในการหาข้อมูล?
ดร.ก้องภพ : ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการสร้างดาวเทียมสำรวจแล้วเอาผลการวัดมาเผยแพร่

- คุณเริ่มเป็นข่าวได้อย่างไร?
ดร.ก้องภพ : เริ่มจากไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้ว ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ไปฟังด้วย ตอนนั้นพูดเรื่องภัยพิบัติจากปฏิกิริยาพระอาทิตย์ แล้วผมได้คาดการณ์ภัยพิบัติที่เฮติ เมื่อ 12-13 ม.ค.10 ซึ่งเกิดขึ้นจริงตามที่คาดการณ์ไว้ พอ ดร.สมิธ เห็นข้อมูลที่แตกต่างจากคนอื่น เห็นว่าทำนายแผ่นดินไหวได้ ท่านจึงติดตามผลงานที่ผมทำนายมาตลอด และถูกต้องด้วย จึงเป็นที่มาว่าทำไมท่านจึงพูดถึงผม และเราเพิ่งรู้จักกันอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2010 ผมส่งข้อมูลให้ท่านแต่ไม่คิดว่าจะเป็นข่าว ข้อมูลบางอย่างผมไม่คิดจะเผยแพร่แก่สาธารณชน แต่ว่ามันหลุดออกไปแล้ว พอหลุดออกไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น จะบอกว่าถูกก็ไม่ได้ ไม่ถูกก็ไม่ได้ ก็ต้องรอให้มันเกิด

ประเด็นที่เขาเอาไปตีก็เอานักวิชาการมาโต้แย้ง ผมก็ไม่ทราบว่านักวิชาการทั้งหลายที่ออกมาโต้แย้งผม เขาศึกษาอะไรบ้าง หรือศึกษาอย่างผมหรือเปล่า หรือศึกษาเข้าใจ เกี่ยวกับความสัมพันธ์พวกนี้เป็นยังไง พูดได้คร่าวๆ เฉยๆ ยังไม่ชัวร์ แต่ผมพยายามเก็บข้อมูล เพื่อดูว่าถูกต้อง 100% หรือเปล่า ไม่ได้หมายความว่าผมเชื่อในสิ่งที่ผมทำทั้งหมด ผมกำลังพิสูจน์อยู่ แต่ที่ผมทำมาเริ่มสรุปได้แล้วว่ามาถูกทาง ยิ่งทำ ยิ่งถูก สิ่งที่ต้องทำต่อคือประมวลผลที่ได้มาจากพระอาทิตย์ให้อยู่ในรูปแบบที่ประชาชนเห็นได้ง่ายๆ แต่ยังไม่เสร็จ ตอนนี้ผมคืบหน้าไปเยอะแล้ว แต่ยังไม่พร้อมนำข้อมูลทั้งหมดมาเปิดเผย คาดว่าปลายปีน่าจะเสร็จ

- ตอนที่กลายเป็นข่าว ตกใจไหม?
ดร.ก้องภพ : ก็ตกใจ แต่ผมไม่อยากไปโต้แย้งอะไรมาก เพราะผมกำลังศึกษาอยู่ ว่างานผมมีความถูกต้องกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้ามันผิดผมก็ซวยอยู่ดี หรือถ้ามันจริงแล้วผมปฏิเสธ ผมก็ซวยอยู่ดี เลยเลือกที่จะอยู่เงียบๆ ดีกว่า แต่ว่าก็ดูปฏิกิริยา

- ปัจจัยที่ใช้พิจารณามีอะไรบ้าง?
ดร.ก้องภพ : มาจากวงโคจรของดาวเคราะห์ทั้งหมดเลย และตอนหลังมีทางช้างเผือกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

- วัดกันยังไง?
ดร.ก้องภพ : ยังไม่เปิดเผย รอให้ชัวร์ก่อน ผมยังไม่อยากลงรายละเอียด อย่างทำให้เสร็จก่อน

- ทราบไหมว่ามีนักวิทยาศาสตร์ออกมาแย้งความเห็นของคุณ?
ดร.ก้องภพ : ทราบ คือจริงๆ แล้ว เราดูพฤติกรรมของ ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีรูปแบบของมัน ดังนั้นสิ่งที่ผมทำคือ ผมจะไปหารูปแบบนั้นในธรรมชาติ และหาบทสรุปเพื่อนำมาใช้ในการคาดการณ์ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับวิธีการคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่เขาใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งบางส่วนอาจจะเน้นทฤษฎีมาก่อน ซึ่งบางทีทฤษฎีอธิบายกฎหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติไม่ได้

- การศึกษาของคุณนั้นหลายคนอาจจะแย้งว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์?
ดร.ก้องภพ : นี่ก็เป็นวิทยาศาสตร์ เราตั้งสมมติฐาน เราเห็นแพทเทิร์น แล้วก็ทำการทดลอง แล้วออกมาตามผลการทดลอง ก็เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ว่าอธิบายออกมาเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ไม่ได้ เพราะว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้นของกระบวนวิทยาศาสตร์ สังเกต ตั้งสมมุติฐาน แล้วสร้างแบบจำลอง แล้วพิสูจน์แบบจำลอง ซึ่งก็มาถูกต้องระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นผมคงทำนายไม่ถูกนัก ก็หมายความว่าผมได้มาถูกในระดับหนึ่งแล้ว

- วางแผนว่าจะทำงานที่นาซาอีกนานไหม?
ดร.ก้องภพ : คงไม่นานมาก กำลังคิดไว้ว่าจะออกมาทำอย่างอื่น แต่คงสักพัก ผมอยากทำอะไรที่ผมไม่เคยทำ เช่น ผมทำเกี่ยวกับไมโครเวฟ ก็อยากจะทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับไมโครเวฟ แต่ยังเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี ผมอยากลองพัฒนาอะไรใหม่ๆ บางทีเราอยู่ในสายงานเดิมๆ มานาน มีการพัฒนาเทคโนโลยีจริง แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นพัฒนาขึ้นมาจากทฤษฎีเดิมๆ เก่าๆ เวลาผมไปประชุมวิชาการ คุยแต่เรื่องเดิมๆ กู้สึกเบื่อ เราพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ได้จริง แต่ความรู้พื้นฐานที่พัฒนาก็คล้ายคลึงกับของเก่า ทฤษฎีฟิสิกส์ยังเหมือนเดิม แต่ผมอยากทำอะไรที่เปลี่ยนทฤษฎีฟิสิกส์ใหม่ ผมจะเน้นเรื่องเทคโนโลยี เพราะผมเป็นวิศวกร ผมจะเน้นการนำความรู้มาใช้งาน ไม่สนใจว่าจะถูกกฎข้อไหน ผมไม่มองที่กฎ ผมมองที่ผลลัพธ์
ลักษณะของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Crop Circle
ภาพของดวงอาทิตย์เมื่อครั้งไม่ปรากฏจุดมืดเมื่อ 31 มี.ค.2009 (NASA)
ภาพในย่านรังสียูวีแสดงจุดมืด 2 จุดบนดวงอาทิตย์เมื่อปี 2003 ซึ่งดวงอาทิตย์มีวัฏจักรจำนวนจุดมืดเพิ่มขึ้นสูงสุดและต่ำสุดรอบละ 11 ปี (NASA)
กำลังโหลดความคิดเห็น