xs
xsm
sm
md
lg

“แพค-แมน” โผล่บน "มิมาส" ดวงจันทร์ของดาวเสาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดวงจันทรืมิมัสเปรียบเทียบระหว่างภาพที่เห็นในย่านแสงที่ตามองเห็น (ซ้าย) กับภาพที่บันทึกในย่านรังสีอินฟราเรด (นาซา)
ปรากฎภาพ “แพค-แมน” บน “มิมัส” ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ หลังยาน “แคสสินี” บันทึกอุณหภูมิพื้นผิวดวงจันทร์ดังกล่าว ซึ่งพบบางพื้นผิวร้อนกว่าที่คาดจนเกิดเป็นสัญลักษณ์เกมดังแห่งยุค 80

ทั้งนี้ยานแคสสินี (Cassini) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ผ่านเข้าใกล้ “มิมัส” (Mimas) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ และบันทึกภาพอุณหภูมิพื้นผิวของดวงจันทร์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 ก.พ.53 ที่ผ่านมา โดยบันทึกภาพในย่านรังสีอินฟราเรด และทำแผนที่อุณหภูมิพื้นผิว

นาซาระบุว่า การทำแผนที่อุณหภูมิของมิมัสนั้น คาดว่าจะพบอุณภูมิสูงสุดในตอนบ่ายบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร หากแต่พื้นที่ร้อนสุดกลับพบในช่วงเช้า บริเวณขอบด้านของดวงจันทร์ เกิดเป็นภาพ “แพค-แมน” ซึ่งเป็นพื้นที่มีอุณหภูมิประมาณ 92 เคลวินหรือ -181 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณที่เป็นจุดในปากคือหลุมอุกกาบาตเฮอร์เชล (Herschel) ซึ่งบริเวณขอบมีอุณหภูมิประมาณ 84 เคลวินหรือ -189 องศาเซลเซียส และบริเวณที่เหลือของดวงจันทร์มีอุณหภูมิเย็นกว่าอยู่ที่ 77 เคลวินหรือ -196 องศาเซลเซียส

แม้ว่าเราไม่สามารถอธิบายถึงรูปแบบอุณหภูมิพื้นผิวบนดวงจันทร์มิมัสที่สังเกตได้นี้ แต่เราน่าจะคาดเดาถึงรูปแบบของหลุมอุกกาบาตเฮอร์เชลได้ ซึ่งการพุ่งชนของอุกกาบาตเมื่อหลายพันล้านปีก่อน ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตนี้ขึ้น และน่าจะมีพลังงานมากถึง 1 ใน 7 ของพลังงานจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์มิมัสเอง หากอุกกาบาตใหญ่กว่านั้นคงระเบิดดวงจันทร์กระจุย ตอนนี้เราอยากรู้จริงๆ ว่ายังมีลักษณะอุณหภูมิที่ไม่ปกติในบริเวณอื่นของหลุมเฮอร์เชลที่ยังไม่ได้สำรวจใกล้ๆ อีกหรือไม่ ” ดร.ไมค์ ฟลาซาร์ (Dr.Mike Flasar) ผู้ตรวจสอบการทำงานกล้องอินฟราเรดของศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ของนาซากล่าว

การที่ขอบหลุมอุกกาบาตเฮอร์เชล มีพื้นที่ร้อนนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะขอบของหลุมอุกกาบาตที่สูงประมาณ 5 กิโลเมตร สามารถกักเก็บความร้อนภายในหลุมอุกกาบาตได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงงุนงงกับรูปร่างแพค-แมน ที่เกิดขึ้นนี้

“เราสงสัยว่าอุณหภูมิต่างๆ นั้นจะเผยให้เห็นความแตกต่างในโครงสร้างพื้นฐานของพื้นผิวดวงจันทร์ อาจเป็นไปได้ว่ามีบางสิ่งที่แตกต่างระหว่างอายุ ความหนาแน่น และผงดินใหม่ๆ ที่ตกสู่พื้นผิว” จอห์น สเปนเซอร์ (John Spencer) สมาชิกทีมกล้องอินฟราเรดจากสถาบันเซาท์เวสต์รีเสิร์ช (Southwest Research Institute) สหรัฐฯ กล่าว

ทั้งนี้ น้ำแข็งที่ควบแน่นสามารถนำความร้อนจากดวงอาทิตย์ออกจากพื้นผิวได้เร็วกว่า และรักษาพื้นผิวให้เย็นอยู่ตลอดทั้งวัน ส่วนน้ำแข็งที่เป็นผงมีความเป็นฉนวนมากกว่าและกักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ที่พื้นผิว ดังนั้นพื้นผิวบริเวณดังกล่าวจึงร้อนขึ้น
แม้ว่าความแตกต่างของพื้นผิวจะถูกสงสัยว่าทำให้เกิดอุณหภูมิที่แตกต่าง แต่สเปนเซอร์กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามแก้ปัญหาให้ได้ว่าทำไมจึงเกิดรูปร่างเป็นขอบระหว่างพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าการพุ่งชนของอุกกาบาตได้ละลายพื้นผิวบนดวงจันทร์และกระจายน้ำไปทั่ว และของเหลวเหล่านั้นแข็งภายในพริบตากลายเป็นพื้นผิวแข็งๆ แต่ยังยากที่จะเข้าใจได้ว่าทำไมพื้นผิวชั้นบนที่ควบแน่นนั้นไม่เสียหาย เมื่ออุกกาบาตและเศษซากต่างๆ ในอวกาศเข้าบดขยี้พื้นผิวเหล่านั้นจนถึงวันนี้
ภาพแสดงอุณหภูมิบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งบริเวณที่สีค่อนไปทางสีน้ำเงินมีอุณหภูมิต่ำ ส่วนบริเวณที่สีค่อนไปทางสีแดงและสีเหลืองมีอุณหภูมิสูงกว่า (บนซ้าย) ภาพที่คาดว่าดวงจันทร์มิมัสจะมีอุณหภูมิตามลักษณะนี้ (บนขวา) ภาพอุณหภูมิบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ตรวจวัดได้จริง (ล่างซ้าย) ภาพดวงจันทร์มิมัสที่บันทึกในย่านแสงที่ตามองเห็น (ล่างขวา) ภาพดวงจันทร์มิมัสที่รวมแผนที่อุณหภูมิพื้นผิวซึ่งดูคล้าย แพค-แมน กำลังกินจุด (นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น