xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ลูกพี่ลูกน้องแต่งงานกันได้ เสี่ยงต่อลูกเท่าแม่ท้องหลังอายุ 40

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยชี้ความเสี่ยงที่จะให้กำเนิดทารกที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมอันเป็นผลจากการแต่งงานระหว่างลูกพี่ลูกน้อง ไม่ได้มากไปกว่าความเสี่ยงแบบเดียวกันจากการตั้งครรภ์ของสตรีที่มีอายุเลขสี่นำหน้าแต่อย่างใด
ศาสตราจารย์ไดแอน พอล จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตส์ในบอสตัน และศาสตราจารย์เฮมิช สเปนเซอร์ จากมหาวิทยาลัยโอทาโกในนิวซีแลนด์ แสดงความเห็นว่าหากผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไปไม่ได้รับคำแนะนำให้ล้มเลิกเจตนารมณ์ในการมีบุตร หญิงชายที่เป็นเครือญาติและต้องการแต่งงานกันก็ไม่ควรตีตนไปก่อนไข้เช่นเดียวกัน
พอลและสเปนเซอร์แจงไว้ในวารสารออนไลน์ พับลิก ไลบรารี ออฟ ไซนส์ว่า การแต่งงานระหว่างลูกพี่ลูกน้องมีความเสี่ยงที่จะเกิดความบกพร่องแต่กำเนิดกับทารกมากกว่าปกติเพียง 2% และอัตราภาวะการตายของทารกสูงกว่าเฉลี่ย 4.4% ซึ่งถือเป็นระดับความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกับความเสี่ยงต่อทารกที่เกิดจากมารดาอายุ 40 ปีขึ้นไป
ในอดีต การแต่งงานระหว่างลูกพี่ลูกน้องเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง ตัวอย่างเช่น ชาร์ลส์ ดาร์วิน แต่งงานกับเอ็มมา เว็ดวูด ลูกพี่ลูกน้องของตนเอง แต่ปรากฏการณ์นี้เปลี่ยนไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อผู้คน โดยเฉพาะผู้หญิง มีการเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้น และความเสี่ยงปรากฏชัดเจนขึ้น
รอยด่างพร้อยที่ขัดขวางการแต่งงานระหว่างเครือญาติได้รับการสนับสนุนโดยการศึกษาพันธุกรรมมนุษย์ในระยะเริ่มแรก ที่บ่งชี้ว่ายีนด้อยมักปรากฏในเด็กที่พ่อแม่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมระหว่างกัน
รัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ห้ามหรือจำกัดการแต่งงานในหมู่เครือญาติ เช่นเดียวกับในจีน ไต้หวัน เกาหลีเหนือและใต้ ทว่า สเปนเซอร์ นักสัตววิทยาวิวัฒนาการ เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวโดยเฉพาะในอเมริกา เนื่องจากกฎหมายเหล่านั้นนอกจากจะไม่มีสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์หรือสังคมรองรับแล้ว ยังร่างขึ้นมาในแนวทางที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนจนในชนบทและผู้อพยพ
ในอังกฤษ ประเด็นนี้เป็นที่โจษขานกันเมื่อฟิล วูลลัส รัฐมนตรีกระทรวงการเข้าเมือง วิพากษ์เมื่อต้นปีว่าการแต่งงานระหว่างเครือญาติในชุมชนของคนเอเชียในเมืองผู้ดี ส่งผลให้จำนวนเด็กที่มีปัญหาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
ปีเตอร์ คอร์รี จากโรงพยาบาลเซนต์ลุกในแบรดฟอร์ด อังกฤษ ประเมินว่าในหมู่ชาวปากีสถานในแบรดฟอร์ด มีถึง 55% ที่แต่งงานกับลูกพี่ลูกน้อง และความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติจากยีนด้อยกับทารกที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความเกี่ยวพันกันทางพันธุกรรม อยู่ที่ระหว่าง 10-15 เท่าของประชากรปกติ
ผลศึกษาในปี 2004 พบว่าเด็กเอเชีย 13 คนจาก 1,000 คนที่เกิดในแบรดฟอร์ดได้รับการถ่ายทอดยีนด้อยซึ่งอาจนำไปสู่การทุพพลภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น