xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปวัตถุที่ถูกปล้น (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพ “The Art of Painting” โดย Jan Vermeer ที่กำลังเป็นปัญหาของรัฐบาล Austria
ณ วันนี้ภาพของ Vermeer ได้กระจัดกระจายอยู่ที่ Louvre ในฝรั่งเศส ที่ National Gallery ในลอนดอน, ที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitian ใน New York, ในGamaeldegalerie ที่ Dresden ในเยอรมนี, ที่ Rijk Museum ใน Amsterdam และที่ Kunsthistoriches Museum ใน Vienna เป็นต้น

สำหรับภาพ “The Art of Painting” ที่ Vermeer วาดเมื่ออายุ 33 - 36 ปี นั้นก็ได้รับการยอมรับว่า เป็นภาพที่ดีที่สุดของจิตรกรผู้นี้ ในภาพเราจะเห็น Vermeer นั่งหันหลัง ส่วนนางแบบสวมเสื้อคลุมสีฟ้า วางท่าสงบเสงี่ยม และสายตาหลบลงต่ำ บนศีรษะนางมีช่อดอกไม้สีฟ้า ในมือข้างหนึ่ง มีหนังสือเล่มใหญ่ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งถือทรัมเป็ต นางคือ Clio ผู้เป็นเทพธิดาแห่งประวัติศาสตร์ในตำนานกรีกโบราณ และ Vermeer ได้นำภาพนี้ติดตัวเขาไปจนตายในปี 2218 และเมื่อภรรยาม่ายของเขาขาดเงิน เธอได้นำภาพนี้ออกขายและภาพถูกเปลี่ยนมือไปจนในที่สุด Jaromir Czernin ก็ได้อ้างว่า ในปี 2356 บรรพบุรุษของตระกูลเขาได้ซื้อภาพนี้ไว้ จากนั้นตนได้รับเป็นมรดกจนถึงปี 2472 จึงได้นำภาพออกขายอีก แต่ขายไม่ออกจน เมื่อถึงปี 2480 ครอบครัว Czernin จึงตกลงขายภาพให้แก่ H. Goering ชาวสหรัฐฯ ในราคา 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาล Austria ก็อนุมัติให้ H. Goering นำภาพนี้ออกนอกประเทศได้

แต่พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อออสเตรียถูกเยอรมันยึดครองในปี 2481 การขนย้ายงานศิลปกรรมต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้ครอบครัว Czernin ต้องต่อรองกับ H.Goering ขอชะลอการส่งภาพ

แต่เมื่อ Hitler รู้ข่าวการซื้อขายนี้ Hitler รู้สึกอยากได้ผลงานชิ้นนี้มาไว้ในครอบครอง จึงข่มขู่ครอบครัว Czernin ว่าถ้าไม่ขายภาพนี้ให้ Hitler ครอบครัวตระกูล Czernin จะถูกส่งไปฆ่าที่ค่ายกักกัน และHitler ก็จะยึดภาพไปโดยพลการ แต่ถ้าขายโดยดี ครอบครัวก็จะได้เงิน 60,000 เหรียญ เป็นค่าทดแทน ตระกูล Czernin จึงยินยอมขายให้ Hitler นอกจากภาพวาดนี้แล้ว Hitler ก็ยังได้ยึดภาพของ Vermeer ไปอีก 1 ภาพ ในการสำรวจภาพทั้งหมดที่ Hitler มีแสดงให้เห็นว่า เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 Hitler มีภาพศิลปะ 4,700 ชิ้น

และงานศิลปะเหล่านี้ถูก Hitler ส่งไปเก็บที่เหมืองเกลือ แห่ง Altaussee ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2487 จนกระทั่งสงครามโลกยุติ ทหารสหรัฐฯ จึงนำภาพ “The Art of Painting” ไปติดตั้งที่พิพิธภัณฑ์ในกรุง Vienna ตั้งแต่ปี 2488 และตั้งแต่นั้น Jaromir Czernin ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรีย คืนภาพ “The Art of Painting” นี้แก่ตน แต่รัฐบาลออสเตรียไม่ยินยอม เพราะทุกเรื่องที่ Czernin อ้าง ขาดหลักฐานยืนยัน จนในที่สุด Czernin ก็ได้เสียชีวิตไปในปี 2509

ประเด็นที่น่าติดตาม คือ ถ้ารัฐบาล Austria ตัดสินใจคืนภาพนี้แก่ตระกูล Czernin นี่จะเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะ Austria มีภาพของ Vermeer ภาพนี้เพียงภาพเดียว ในอดีตก่อนนี้ไม่นาน ออสเตรียก็เคยต้องคืนภาพของ Gustav Klimt ไปถึง 5 ภาพ ให้แก่ Maria Altmann ชาวอเมริกันในสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่ถ้าไม่คืนภาพของ Vermeer รัฐบาลก็ต้องให้เหตุผลแก่ประชาชน ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้สำรวจความเห็นของประชาชนด้วย ก่อนที่จะตัดสินใจภายในปลายปีนี้

ปัญหาการคืน-ไม่คืน ศิลปวัตถุ เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนมากสำหรับคนทุกชาติ ในสมัยที่เรืองอำนาจอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส ได้เคยยึดครองวัตถุมีค่ามากมายจากบรรดาประเทศอาณานิคม เช่น อังกฤษ ได้ขนมัมมี่จากอียิปต์ ยึดศิลา Rosetta ของอียิปต์มาครอง สำหรับที่ Louvre ก็มีรูปปั้น kouros ของกรีกมากมาย ส่วนแผ่น Mosaic ของเมือง Pompei และ Herculaneum ก็มีปรากฏที่ Metropolitian Museum ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ก็มีอีกกรณีหนึ่งที่กำลังเป็นปัญหาระหว่างอังกฤษกับกรีก คือ ศิลาหินอ่อน Elgin Marbles ที่ Earl of Elgin ที่ 7 แห่งอังกฤษได้ลอบนำออกจากวิหาร Parthenon เมื่อ 200 ปีก่อน ขณะดำรงตำแหน่งเป็นทูตประจำอาณาจักร Ottoman และตำนานได้อ้างว่ากวี Lord Byron แห่งอังกฤษ ผู้ฝักใฝ่ฝ่ายกรีก ได้แกะสลักคำจารึกบนหินอ่อนที่ Acropolis ในกรุง Athens ว่า Quod Non Fecerunt Gothi, Fecerunt Scoti ซึ่งแปลว่า อะไรที่พระเจ้าทรงสร้างพวกสกอต (Lord Elgin) จะทำลายหมด

การขอคืนนี้ไม่เป็นผล เพราะรัฐบาลอังกฤษไม่คืน โดยอ้างว่า นี่คือ อารยธรรมของโลกที่อังกฤษได้พิทักษ์ไว้ เพราะถ้า Elgin ไม่นำหินอ่อนเหล่านั้นออกจากกรีซมาประดิษฐานที่ British Museum หินอ่อนที่ประมาณค่าไม่ได้นี้ก็จะถูกทหารตุรกีทำลายไปหมดสิ้น และถ้าอังกฤษคืน Elgin Marbles โบราณวัตถุต่างๆ ที่อังกฤษมีในครอบครองก็จะถูกคืนหมด แล้วพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษจะมีอะไรโชว์

ตุรกีก็มีเรื่องขอศิลปวัตถุเมือง Troy คืนจาก Puskin Museum ใน Moscow เช่นกัน เพราะตุรกีอ้างว่า Heinrich Schliemann ผู้พบ Troy ได้ลอบนำเครื่องประดับที่มีค่าต่างๆ ออกไปจากตุรกีอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และรัฐบาลรัสเซียได้ยึดไปจากนาซีเยอรมัน ส่วนข้ออ้างของรัฐบาลรัสเซีย ในการไม่คืนศิลปวัตถุคือ ตนได้ทำคุณประโยชน์แก่อารยธรรมโลก โดยการปกป้องสมบัติที่มีค่ามากนี้ไม่ให้นาซีทำลาย ดังนั้น จึงมีสิทธิที่จะได้ครอบครองต่อไป

สำหรับพิพิธภัณฑ์ Louvre เอง เมื่อ Napoleon แพ้สงครามที่ Waterler ในปี 2358 ก็ได้เคยถูกบังคับให้คืนม้าโลหะ 4 ตัว ที่ Napoleon ยึดมา ให้นำกลับคืนสู่จัตุรัส St.Mark’s ใน Venice เช่นกัน

ดังนั้นในปี 2538 UNESCO จึงได้ออกกฎ Unidroit Convention เพื่อให้เป็นหลักการปฏิบัติสำหรับประเทศคู่กรณีที่มีการขโมยหรือปล้นสมบัติของชาตินั้นๆ ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ภาพวาด “Portrait of a Young Man” โดย Delacroix ที่ทหารนาซีมีในครอบครอง
“Landscayre the Pink Wall” โดย Matisse
กำลังโหลดความคิดเห็น